เมื่อระบบดอลลาร์เผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ ตอนจบ
ผลกระทบเมื่อระเบียบดอลลาร์สั่นคลอน
เงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นเงินสกุลหลักที่มีความสำคัญยิ่งยวดต่อระบบทุนนิยมโลกปัจจุบัน ธนาคารกลางต่างๆต้องสะสมเงินดอลลาร์ไว้ใช้เพื่อบริหารสภาพคล่องระหว่างประเทศในการซื้อขายสินค้า บริการต่างๆ พลังงาน แร่ธาตุสำคัญ เป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งและการลงทุน ตลาดทุนในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯเองก็กระจายตัวทั่วโลกทั้งในสหรัฐฯ ตลาดยูโรดอลลาร์ เงินฝากดอลลาร์ตามสถาบันการเงินต่างๆก็มีการกระจายตัวทั่วโลก เงินดอลลาร์จึงเป็นทั้งสกุลเงินที่ใช้ทำธุรกรรม กำหนดราคา ชำระหนี้ ลงทุน และสะสมความมั่งคั่งของระบบเศรษฐกิจโลกมาช้านานนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
ขณะเดียวกันประเทศสหรัฐฯในฐานะเจ้าของเงินดอลลาร์ยังสามารถใช้สถานะของเงินดอลลาร์ที่เป็นเสาหลักของระเบียบการเงินโลกในการระดมทรัพยากรจากทั่วโลกผ่านการออกตราสารหนี้ของรัฐบาลเพื่อใช้จ่ายในประเทศ และเพื่อเป้าหมายในนโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ทั้งในรูปของความเชื่อเหลือต่างๆและมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่รุนแรง ทั้งนี้ก็อาศัยการเป็นศูนย์กลางระบบการเงินโลกของดอลลาร์สหรัฐฯนั่นเอง
ไม่ใช่เฉพาะภาครัฐเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ภาคเอกชนสหรัฐฯเองก็ได้ประโยชน์ไม่น้อยจากระเบียบดอลลาร์นี้เช่นกัน ทุนอเมริกันสามารถใช้กำไรสะสมและเงินทุนในประเทศในรูปดอลลาร์สหรัฐฯขยายการลงทุนและซื้อสินทรัพย์ได้ทั่วโลก
การเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุนทั่วโลกทำได้ง่ายกว่าเนื่องจากเงินดอลลาร์เป็นมาตรฐานหลักในการซื้อขายสินค้าและชำระหนี้ ธนาคารและสถาบันการเงินในสหรัฐฯเองก็สามารถปล่อยสินเชื่อและร่วมลงทุนในรูปของเงินดอลลาร์ได้เช่นกัน ระเบียบดอลลาร์เองทำให้ภาคธุรกิจอเมริกันสามารถระดมทุนในต้นทุนที่ถูกกว่าและขยายตลาดไปได้ทั่วโลกภายใต้ระเบียบการค้าการลงทุนที่รัฐบาลวอชิงตันเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์และมาตรฐานต่างๆ และยังช่วยดูแลผลประโยชน์ต่างๆให้ภายใต้กฎเกณฑ์ดังกล่าว
การที่ระเบียบดอลลาร์ถูกสั่นคลอนย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ในระยะกลางถึงระยะยาวได้ หากสหรัฐฯยังคงมีการก่อหนี้ไปเรื่อยๆขณะที่ยังเดินหน้าเกมสงครามทางเศรษฐกิจกับคู่ค้าต่างๆอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกับจีนย่อมส่งผลให้บรรดานักลงทุนและธนาคารกลางต่างประเทศคิดหนักในการถือครองสินทรัพย์และเงินดอลลาร์สหรัฐฯมากขึ้น
ประเทศสหรัฐฯที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกภายใต้ระบบเศรษฐกิจเปิดเสรีในยุคโลกาภิวัตน์ สู่ยุคที่ขับเคี่ยวกับมหาอำนาจคู่แข่งอีกครั้งอย่างจีนภายใต้บริบทที่สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น อีกทั้งยังมุ่งใช้นโยบายการค้าและเศรษฐกิจที่ตัวเองได้เปรียบและเปิดกว้างน้อยลงแถมพร้อมที่จะใช้มาตรการด้านการค้าและเศรษฐกิจกดดันประเทศต่างๆเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเอง
ฉะนั้นแล้วการถือเงินดอลลาร์สหรัฐฯไว้ในมือซึ่งครั้งหนึ่งเป็นความสะดวกสบายและความมั่นคงทางธุรกรรมและการลงทุน ก็อาจกลายเป็นสินทรัพย์ที่นับวันจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น มีประโยชน์การใช้งานที่ค่อยๆลดน้อยถอยลง แถมยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกกดดันทางเศรษฐกิจได้ง่ายด้วย เห็นได้จากที่ยุคของ Trump มีการเดินหน้ามาตรการคว่ำบาตรในระดับต่างๆกันกับทั้งเกาหลีเหนือ อิหร่าน เวเนซูเอล่า รัสเซีย
ต้นทุนการเงินสูงขึ้น ดอลลาร์เสื่อมค่า
ปัญหาหนึ่งที่ต้องเผชิญโดยตรงก็คือ สหรัฐฯจะมีปัญหาในการหมุนเงินมาใช้จ่ายมากขึ้น จากยอดการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ต้นทุนการเงินของรัฐบาลสหรัฐฯในรูปของอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรรัฐบาลจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการที่อุปสงค์จากธนาคารกลางและนักลงทุนต่างประเทศลดลง
ขณะเดียวกันก็จะส่งผลให้โครงสร้างดอกเบี้ยในตลาดทุนโดยรวมของสหรัฐฯขยับสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลต่อศักยภาพในการชำระหนี้ของภาคเอกชนโดยรวมตามไปด้วย กระทบไปถึงการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่จะชะลอตัวลงและสุ่มเสี่ยงต่อวิกฤตการเงินได้ง่ายขึ้น
การแก้ปัญหาในทางเศรษฐศาสตร์นั้น สหรัฐฯจำเป็นที่จะต้องลดการใช้จ่ายทั้งการใช้จ่ายภาครัฐและผู้บริโภคเองก็ต้องลดการบริโภคเพื่อเพิ่มการออม นำไปสู่การลดหนี้โดยรวมซึ่งในทางปฏิบัตินั้นไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอนเพราะจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยอย่างเลี่ยงไม่ได้
ฉะนั้นแล้วกลยุทธ์ที่สหรัฐฯจะใช้ย่อมหนีไม่พ้นการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินเพื่อเอาตัวรอดและเดินหน้ากลไกทุนนิยมของตัวเองต่อไป ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงการเข้ามากอบกู้สถานะการเงินโดย Fed เองผ่านทั้งการลดดอกเบี้ยและการทำ QE และยิ่งมีแนวโน้มที่ Trump เองจะอยู่ในอำนาจยาวนานและการเมืองอเมริกันยังคงมีโทนของความเป็นขวาสูงอยู่เช่นนี้แล้ว Fed ย่อมถูกกดดันให้มีการพิมพ์เงินออกมาเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน เพิ่มสภาพคล่อง นำไปสู่การลดค่าเงินดอลลาร์อีกทางเพื่อเพิ่มการส่งออกของอเมริกาและเดินหน้ากำชัยชนะในสงครามการค้าด้วย
จากสงครามการค้าสู่สงครามการเงิน
สถานการณ์ที่ระเบียบดอลลาร์สั่นคลอนภายใต้บริบทที่เกิดการเผชิญหน้าในทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ตึงเครียดมากขึ้น บทบาทของ Fed นับจากนี้จะน่าจับตามมองมากยิ่งขึ้นในฐานะเครื่องมือทางการเงินที่นำไปสู่เป้าหมายทางการเมืองของวอชิงตันเอง
แง่หนึ่ง Fed เองจะต้องแบกรับบทบาทนายทุนให้กับรัฐบาลและระบบเศรษฐกิจอเมริกันในการเข้าแทนที่นักลงทุนต่างประเทศที่ค่อยๆถอยหนีจากดอลลาร์มากขึ้นเรื่อยๆอันเนื่องมาจากปัญหาหนี้เรื้อรังและความเสี่ยงทางการเมืองของสหรัฐฯเอง
อีกด้านหนึ่งสหรัฐฯเองก็มีแนวโน้มขยายสมรภูมิทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆไม่เฉพาะกับจีนเท่านั้น แต่รวมไปถึงคู่ค้าอื่นๆที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯมาอย่างยาวนาน มองในอีกแง่ก็คือ สหรัฐฯมีแนวโน้มเปิดฉากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจกับประเทศผู้ถือดอลลาร์รายใหญ่ๆเพื่อทำการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจและสนองตอบวาระทางการเมืองในประเทศเองที่มุ่งเน้นผลประโยชน์สูงสุดของอเมริกามากขึ้นแทนที่การรักษาระเบียบโลกเดิมที่เน้นการเปิดกว้างและเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ
เมื่อมองมุมนี้ Fed เองจะเข้ามาอยู่ในสมการอาวุธทางเศรษฐกิจที่วอชิงตันจะนำมาใช้ต่อสู้กับคู่ค้าต่างๆด้วย หากว่ามาตรการด้านภาษีและการกดดันทางการค้ายังไม่ได้ผลในการเพิ่มการส่งออกและลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯที่มีต่อคู่ค้าได้
การลดค่าเงินก็เป็นอีกหนทางที่สหรัฐฯจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายด้วย ทั้งนี้หากเราติดตามความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดี Trump นับตั้งแต่เขาเปิดฉากสงครามการค้าตั้งแต่ปี 2018 จะเห็นว่า ตัว Trump เองพูดถึงเรื่องค่าเงินของประเทศคู่ค้าและ Fed ในหลายๆวาระว่าเป็นตัวการที่ทำให้สหรัฐฯเสียเปรียบทางการแข่งขัน และ Fed เองจะต้องช่วยงานรัฐบาลมากขึ้นด้วย
โดยวันที่ 18 มิถุนายน 2019 Trump ได้ทวีตโจมตีท่าทีของนาย Mario Draghi ในวันเดียวกันที่ออกมาส่งสัญญาณการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ที่เปิดกว้างมากขึ้นหากเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มถดถอยและกระทบเงินเฟ้อในอนาคต
หาก Fed ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างเต็มพิกัดอย่างที่คาดเอาไว้ ความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์และระบบการเงินอเมริกันโดยรวมจะยิ่งถดถอยมากยิ่งขึ้นในระยะยาว วิกฤตความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้นและค่าเงินดอลลาร์ที่ตกลงอย่างชัดเจนตามความต้องการของวอชิงตันจะยิ่งเร่งให้ระเบียบดอลลาร์เองเกิดความเสื่อมทรุดลงเรื่อยๆ เกิดภาวะเงินทุนไหลออกที่รุนแรงขึ้นไม่ใช่เฉพาะกับนักลงทุนต่างประเทศเท่านั้น เมื่อสถานะดอลลาร์ถดถอยแบบกู่ไม่กลับแล้ว ทุนอเมริกันเองก็จะไหลออกจากประเทศด้วย
ทุนอเมริกันลำบากขึ้น
หากเงินดอลลาร์ไม่สามารถรักษาอภิสิทธิ์ของการเป็นสกุลเงินอันดับ 1 ของโลกแบบไร้เทียมทานได้ ทุนอเมริกันเองก็จะลำบากมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลกด้วย จากเดิมที่เงินดอลลาร์เป็นที่ยอมรับทั่วโลก เป็นเงินสกุลแข็งหรือ Hard Currency ที่ทุกคนต้องการ เงินดอลลาร์หลังจากนี้จะถูกมองว่าเป็นสกุลเงินที่เสื่อมค่าได้ง่าย ความผันผวนสูง และมีความเปราะบางทางการเมืองมากขึ้น
นโยบายใหม่ของอเมริกาในยุคของ Trump เองหากมีการดำเนินสืบเนื่องไปจนเป็นแกนหลักของวอชิงตันแล้ว ในสายตาของคู่ค้านั้นเงินดอลลาร์นอกจากจะมีปัญหาด้านมูลค่าแล้ว เงินดอลลาร์จะถูกตั้งคำถามในแง่ของขอบข่ายและประโยชน์การใช้งานที่ลดน้อยถอยลงด้วยเพราะการทำการค้าการลงทุนกับอเมริกาจะทำได้ยากลำบากขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ความเป็นเงินสกุลระดับโลกของดอลลาร์ในอนาคตจะลดลง จากเดิมที่ทุนอเมริกันได้รับความสะดวกในการขยายการค้าการลงทุนไปทั่วโลกอย่างคล่องตัวด้วยการที่มีดอลลาร์ในมือจะลำบากมากขึ้น ทุนอเมริกันและผู้ที่มีความมั่งคั่งสูงในสหรัฐฯย่อมคิดหนักมากขึ้นในการที่จะถือดอลลาร์เอาไว้
สถาบันการเงินอเมริกันเองที่สามารถใช้เงินดอลลาร์ในการปล่อยสินเชื่อและเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับลงทุนทั่วโลกก็จะไม่สามารถใช้เงินดอลลาร์เป็นแหล่งทุนที่สำคัญได้อีกต่อไป การเสื่อมถอยของเงินดอลลาร์ในเวทีโลกจะผลักดันให้ทุนอเมริกันเองมีการถือครองเงินสกุลอื่นมากขึ้นเพื่อรักษาธุรกิจทั่วโลกเอาไว้ ทั้งในแง่ของการเข้าถึงแหล่งทุน ตลาด และสะสมความมั่งคั่งไม่ให้ทรุดลงตามค่าเงินดอลลาร์ที่ผันผวน
ทางเลือกอื่นๆนอกจากดอลลาร์
ในระยะสั้นนี้เงินดอลลาร์จะยังคงเป็นหลักในระบบการเงินโลกต่อไป แต่การรักษาสถานะของการเป็นสกุลเงินผู้ยิ่งใหญ่เหนือสกุลอื่นๆในโลกแบบที่ผ่านมานั้นดูจะเป็นเรื่องที่ลำบากขึ้นในอนาคต จากแนวโน้มที่สัดส่วนการถือเงินดอลลาร์สหรัฐฯในทุนสำรองทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง
หากแนวโน้มนี่ยังคงเดินหน้าต่อไปและมีโมเมนตัมที่แรงขึ้น ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า สัดส่วนของเงินดอลลาร์ในทุนสำรองทั่วโลกก็อาจต่ำกว่า 50% ได้เท่ากับเป็นการทำลายการผูกขาดแบบสมบูรณ์ของดอลลาร์ในระเบียบการเงินโลกไปโดยปริยาย
ในช่วงที่โลกยังหาคำตอบอื่นนอกจากดอลลาร์ไม่ได้ในระยอันใกล้นี้ เงินดอลลาร์จะเป็นเงินสกุลหลักในการทำธุรกรรมต่อไป อย่างไรก็ตามความผันผวนของเงินดอลลาร์ที่มากขึ้นจะกระทบกลไกการกำหนดราคาสินค้าและบริการในตลาดระหว่างประเทศโดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ เมื่อดอลลาร์อ่อนค่าลงมากๆ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่คิดเป็นดอลลาร์ในตลาดโลกก็ย่อมมีราคาปรับตัวสูงขึ้นด้วย
สถานการณ์ที่ระเบียบดอลลาร์สั่นคลอนรุนแรงขณะที่ยังไม่มีทางเลือกอื่นมาทดแทนได้อาจคล้ายกับช่วงที่สหรัฐฯออกจากมาตรฐานแลกเปลี่ยนทองคำในปี 1971 และส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนลงรุนแรงและผันผวน อีกทั้งราคาทองคำและน้ำมันทะยานขึ้นต่อเนื่องในทศวรรษที่ 1970 ด้วย
แม้ปัญหาเรื่องหาตัวเลือกที่ทดแทนดอลลาร์ได้ในแง่ของกลไกทางธุรกรรมจะยังไม่ได้คำตอบโดยเร็ว แต่ธนาคารกลางต่างๆสามารถตัดสินใจปรับสัดส่วนการถือครองทุนสำรองได้ทันที แม้ว่าเงินยูโรจะเป็นที่ใช้งานในกลุ่มประเทศยูโรโซนที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับสหรัฐฯก็ตาม
แต่ปัญหาการเมืองภายในของประเทศสมาชิกที่กระทบไปถึงเอกภาพของยุโรปเองและนโยบายการเงินที่ใช้ทั้งดอกเบี้ยติดลบและแนวโน้มที่ ECB อาจอัดเงิน QE รอบใหม่ในอนาคตอันใกล้ ทำให้เงินยูโรเองไม่อยู่ในข่ายที่จะได้อานิสงส์จากการสั่นคลอนของระเบียบดอลลาร์ได้มากนัก โดยในระยะสั้นธนาคารกลางต่างๆก็อาจจะเลือกกระจายไปยังเงินยูโรบ้างด้วยเหตุผลที่ไม่มีทางเลือกอื่นมากนักในตอนนี้
อีกทั้งตลาดทุนยูโรเองก็มีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับทุนสำรองมหาศาลที่โยกมาจาดอลลาร์เพื่อหาที่พักชั่วคราวได้ ด้านเงินปอนด์อังกฤษเองนั้นจะอยู่ในฐานะตัวเลือกนอกเหนือจากเงินยูโรเพื่อลดความเสี่ยงจากเงินยูโรเอง ทั้งนี้หากอังกฤษมีความชัดเจนมากขึ้นหลัง Brexit และสามารถรักษาเสถียรภาพภายในให้รอดจากความปั่นป่วนใน EU ได้ เงินปอนด์อังกฤษก็จะมีสัดส่วนการจัดสรรในทุนสำรองสูงกว่า 5% ได้ในอนาคตเช่นกัน
ขณะที่ฝั่งเอเชียเองจะมีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดระเบียบการเงินใหม่ในอนาคต เศรษฐกิจที่ยังคงเติบโตสูง ความมั่งคั่งที่สะสมต่อเนื่องยาวนาน รวมถึงเอเชียเองเป็นภูมิภาคที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น สกุลเงินในเอเชียอย่างเงินหยวนจีนและเงินเยนญี่ปุ่นจึงเป็นอีกทางเลือกในการรองรับเงินลงทุนระยะยาวทั้งจากทุนสำรองของธนาคารกลางต่างๆเองและทุนภาคเอกชนที่ต่างต้องการที่พักเงินที่มั่นคงและต่อยอดประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆได้
อีกด้านหนึ่งเงินสกุลระดับรองลงมาในภูมิภาคที่เศรษฐกิจยังมีพื้นฐานดี เสถียรภาพทางการเงินมั่นคงและภาคการค้าที่ใหญ่โตเปิดกว้างอย่างดอลลาร์ฮ่องกง วอนเกาหลีใต้ ดอลลาร์สิงคโปร์ ดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์นิวซีแลนด์ ก็จะได้รับความสนใจเป็นทางเลือกรองลงมาด้วยเช่นกัน
โดยภายใน 10 ปี เอเชียมีโอกาสที่จะเป็นแหล่งรองรับทุนสำรองในระดับเดียวกับเงินยูโรแบบที่ผ่านมาในระดับ 20-25% ได้ไม่ยาก นำโดยเงินหยวนจีนและเยนญี่ปุ่น
พลวัตความร่วมมือและความขัดแย้งทางการเงินรอบใหม่
การสั่นคลอนของระเบียบดอลลาร์รอบนี้ถือเป็นความท้าทายของอเมริกาและทุนนิยมโลกในรอบกว่า 3 ทศวรรษนับตั้งแต่การประชุม Plaza Accord ในปี 1985 ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับเงินดอลลาร์และโครงสร้างทุนนิยมโดยรวมของอเมริกาและของโลกในปัจจุบันนั้น
ด้านหนึ่งก็เปิดโอกาสให้เกิดการสร้างความร่วมมือใหม่ๆและโอกาสในการสอดแทรกขึ้นของผู้เล่นรายใหม่ของระบบการเงินโลกให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นกับระเบียบการเงินโลกในอนาคต อีกด้านหนึ่งก็เปิดช่องให้เกิดการแข่งขันและขัดแย้งขึ้นทั้งในทางการเงินและภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มเติมอีกด้วย
ในส่วนของความร่วมมือนั้น ประเทศที่เป็นผู้ถือดอลลาร์รายใหญ่และพึ่งพาการค้าโลกมากๆย่อมต้องการกลไกที่เป็นทางออกจากปัญหาความไร้เสถียรภาพของดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้น ภูมิภาคยุโรปเองทั้ง EU และอังกฤษย่อมต้องการหาทางออกจากปัญหาความอ่อนแอทางเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วยการเปิดช่องทางการค้าใหม่ๆกับเอเชียเพิ่มเติมกลไกความร่วมมือทางการเงินระหว่างยุโรปกับเอเชียเพื่อให้การค้าการลงทุนเดินหน้าไปได้และลดการใช้ดอลลาร์ทำธุรกรรมระหว่างกันเป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้
ขณะที่ภูมิภาคตะวันออกกลางเองก็อาจเปิดกว้างถึงทางเลือกในการค้าน้ำมันเป็นเงินสกุลอื่นๆของลูกค้ามากขึ้นทั้งเงินยูโร เงินหยวน หรือเงินเยนเองเพื่อสะท้อนความเป็นจริงของตลาดค้าน้ำมันในอนาคตที่มีเอเชียเป็นลูกค้ารายใหญ่เพื่อกระจายทางเลือกอื่นๆนอกเหนือจากเงินดอลลาร์เช่นกัน
การสั่นคลอนของระเบียบดอลลาร์ย่อมทำให้อเมริกาเองก็ต้องหาทางดิ้นรนเพื่อรักษาความได้เปรียบของตนเช่นกัน โดยสถานการณ์ข้างหน้าจะพัฒนาจากสงครามการค้าสู่สงครามเศรษฐกิจเต็มรูปแบบมากขึ้น ประธานาธิบดี Trump เองได้แสดงให้เห็นถึงการยกระดับแนวรบทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและในจุดที่คาดไม่ถึง
ทั้งนี้อเมริกาจะใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มีเพื่อจัดทัพอาวุธเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศผู้ถือดอลลาร์รายใหญ่ๆทุกรายจะไม่พ้นการจับจ้องจากอเมริกา โดยทั้งจีนและยูโรโซนเองโดน Trump โจมตีอย่างรุนแรงในเรื่องนโยบายการเงินที่เอาเปรียบด้านการค้ากับอเมริกา
ขณะเดียวกันการผงาดของเงินหยวนเองนั้นย่อมถูกจับตาอย่างมากไม่ต่างจากนโยบาย Made in China 2025 ที่อเมริกามองว่าจีนจะเข้ามาท้าชิงความเป็นเจ้าด้านเทคโนโลยีโลกกับอเมริกา หากมองกรณีของ Huawei แล้ว มีโอกาสที่ในอนาคตวอชิงตันอาจตัดสินใจใช้มาตรการขั้นรุนแรงเพื่อสกัดดาวรุ่งเงินหยวนแบบที่จัดการกับ Huawei นั่นคือการคว่ำบาตรภาคการเงินและเงินหยวนจีนไม่ให้สามารถเข้าถึงและทำธุรกรรมกับระบบการเงินอเมริกาและเงินดอลลาร์ได้
โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงหรือการสนับสนุนประเทศที่ติดมาตรการคว่ำบาตรแรงๆอย่างอิหร่าน, เวนซูเอล่าเป็นต้น ซึ่งจีนเองหากทุกกระทำถึงขั้นนี้คงหนีไม่พ้นการตอบโต้ด้วยการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯและทำการคว่ำบาตรสถาบันการเงินอเมริกันคืนเช่นกัน สถานการณ์อันล่อแหลมเช่นนี้ย่อมสร้างช็อคที่รุนแรงไปทั่วระบบการเงินโลกในระดับวิกฤตการเงินปี 2008 ได้เลยทีเดียว
ขณะที่การคว่ำบาตรภาคการเงินจีนและเงินหยวนดูจะเป็นสถานการณ์ที่เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ การขับเคี่ยวกันชิงผลประโยชน์ระหว่างเงินหยวนจีนและเงินเยนญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่สูงกว่า ในอนาคตเราย่อมเห็นการแข่งขันกันนำเสนอโครงสร้างเชิงสถาบันออกมาบริหารจัดการระเบียบการเงินในยุคหน้าจากทั้งจีนและญี่ปุ่นเพื่อชิงบทบาทนำในสมรภูมิการเงินในอนาคต
อีกด้านหนึ่งการขับเคี่ยวกันระหว่างจีนและญี่ปุ่นเองในการเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคย่อมสะท้อนออกมาในการใช้นโยบายการเงินเพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบทางเศรษฐกิจเหนือคู่แข่งด้วย ฉะนั้นแล้วทิศทางของค่าเงินเยนและค่าเงินหยวนจะเป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายและนักลงทุนในอนาคตต้องจับตามากขึ้นเพื่อกำหนดทิศทางการลงทุนที่เหมาะสมอีกด้วย
สรุป
ระบบการเงินโลกกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ โดยเงินดอลลาร์เองกำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญจากปัญหาด้านการเงินการคลังในบ้านตัวเองและการผงาดขึ้นมาของจีน ความไร้เสถียรภาพทั้งด้านการเงินและการเมืองในอเมริกากำลังส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกลดสัดส่วนเงินดอลลาร์ในทุนสำรองในระยะยาว
โดยแนวโน้มนี้ชัดเจนมากนับตั้งแต่ประธานาธิบดี Trump ขึ้นครองอำนาจ ทั้งนี้นโยบายด้านการค้าและการแทรกแซง Fed กำลังเป็นตัวเร่งทำให้บทบาทดอลลาร์ในเวทีโลกถอยลงไปเรื่อยๆ
การสั่นคลอนของระเบียบเงินดอลลาร์จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในระยาวขณะเดียวกันเงินทุนจะไหลออกจากสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สหรัฐฯเองเผชิญข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและนโยบายการต่างประเทศมากขึ้น เงินดอลลาร์จะมีสัดส่วนในทุนสำรองและการทำธุรกรรมที่ลดลง
โดยระหว่างทางที่โลกยังหาทางเลือกแทนดอลลาร์ไม่ได้นั้น ความผันผวนของราคาโภคภัณฑ์ต่างๆจะมากขึ้น สงครามทางเศรษฐกิจจะขยายวงเข้าสู่สงครามการเงินผ่านค่าเงินและนโยบายการเงินของสกุลเงินหลักต่างๆ ทั้งนี้ในระยะยาวสกุลเงินในเอเชียนำโดนหยวนจีนและเยนญี่ปุ่นจะเป็นเสาหลักที่สำคัญมากขึ้นในระบบการเงินโลก
ก่อให้เกิดพลวัตใหม่ของระเบียบการเงินโลกในอนาคตที่เอเชียมีบทบาทนำทมากขึ้นพร้อมกับการขับเคี่ยวกันระหว่างจีนและญี่ปุ่นในฐานะดุลอำนาจการเงินโลกใหม่ในอนาคต ขณะที่ฝั่งยุโรปเองไม่สามารถขยับได้มากเนื่องจากติดปัญหาภายในและมีแนวโน้มที่จะขยายความร่วมมือมาทางฝั่งเอเชียเพื่อร่วมออกแบบระเบียบการเงินโลกใหม่ในอนาคต