15-09-2018
Turkey Monitor: สรุปและวิเคราะห์สถานการณ์หลังการประชุมแบงก์ชาติตุรกีวันที่ 13 กันยายน 2018
สรุปสถานการณ์ล่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์
ผลกระทบที่เกิดขึ้นและทิศทางข้างหน้า
- นอกจากค่าเงินตุรกีที่แข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว ทันทีที่แบงก์ชาติตุรกีประกาศท่าทีทางนโยบายออกมาก็ทำให้ค่าเงินของประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ค่าเงินยูโร รวมถึงเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ต่างพากันแข็งค่าตามค่าเงิน Lira ด้วย ผลบวกดังกล่าวยังส่งไปถึงตลาดหุ้นด้วยเช่นกัน
- ธนาคารกลางตุรกีแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจตุรกี ที่กำลังถูกคุกคามจกาปัญหาเงินเฟ้อและความผันผวนของค่าเงิน ธนาคารกลางตุรกีขึ้นดอกเบี้ยในปริมาณที่ “สูงกว่า” ที่ตลาดคาดหมายเอาไว้ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า สถาบันทางเศรษฐกิจตุรกีเองยังคงมีอิสระในการดำเนินนโยบายตามหลักวิชาการ ไม่ได้ถูกการเมืองครอบงำแบบ 100% อย่างที่หลายฝ่ายกังวล
- ปัญหา Financial Contagion ถูกยับยั้งในระยะสั้นหลังจากในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้า นักลงทุนต่างกังวลกับปัญหาในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ทั้งตุรกี อาร์เจนติน่า แอฟริกาใต้ ลามมาถึงอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดียที่ล้วนมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เงินเฟ้อสูง และมีหนี้ต่างประเทศมาก
- ความเชื่อมั่นที่กลับมาและค่าเงินที่รีบาวด์แรงทำให้ระบบธนาคารตุรกีและลูกหนี้ภาคเอกชนสามารถเลี่ยงปัญหาในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การรีไฟแนนซ์หนี้ และความเสี่ยงที่อาจเกิดสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นในระบบธนาคารตุรกีได้ ทำให้ภาพในระยะสั้น ระบบธนาคารตุรกียังไม่ถูกสั่นคลอนจากปัญหาค่าเงิน
- ความท้าทายต่อไปที่ตุรกีต้องจัดการก็คือ ตุรกีต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและจัดการปัญหาเรื่องเงินทุนให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ภายใต้สภาวะที่สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯสามารถปะทุได้เสมอแม้จะมีการเจรจาก็ตาม อีกทั้งต้องรับมือกับความเสี่ยงที่เงินทุนจะไหลออกจากประเทศเกิดใหม่จากการที่ Fed ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งค่า ขณะเดียวกันตุรกีต้องรักษาความเชื่อมั่นในสถาบันเศรษฐกิจที่เป็นอิสระจากการเมืองในสายตานักลงทุน