หยุดโควิด-19หรือจะพยุงเศรษฐกิจ เราจะทำทั้งสองไปพร้อมกันได้หรือไม่
ข่าวที่น่าหวาดหวั่นที่สุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ การที่สภาพัฒน์ หรือ สศช.ประชุมร่วมกับภาคเอกชน ได้คาดการณ์ว่าจะมีคนไทยตกงานอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน จากเดิมที่ประมาณการไว้ว่าในช่วงนี้จะมีแรงงานตกงานอยู่ที่ 7 ล้านคนแต่ถ้ายืดเยื้อออกไปอีก 2-3 เดือน จะทำให้คนตกงานสูงถึง 10 ล้านคนเลยทีเดียว
อัตราการตกงานที่สูงมากเช่นนี้ น่าจะเป็นอัตราการว่างงานที่สูงที่สุดในประวัติเศรษฐกิจไทยเลยทีเดียว ในส่วนของการคาดการณ์ถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ตัวเลขไว้ที่ -5.6% หลังจากนั้นหลายสำนักก็ให้อัตราการเติบโตไปในทิศทางลบเช่นดียวกับแบงค์ชาติ ไม่ว่าจะเป็นเกียรตินาคินภัทรมองว่าจีพีไทยจะติดลบถึง -6.8% และคาดว่าจะกลับมาโตที่ 5.9% ในปี 2021 ขณะที่ไทยพาณิชย์ให้จีดีพีไทยติดลบ -5.6% ตามแบงค์ชาติ
ในส่วนตัวเลขทางเศรษฐกิจก็ว่ากันไป แต่ส่วนสำคัญในเวลานี้คือเรื่องของคนทำงาน ทั้งในระบบและนอกระบบ พ่อค้า ฟรีแลนซ์ รับจ้างอิสระ ที่กำลังเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จากตัวเลขคนที่ไปลงทะเบียนเว็บเราไม่ทิ้งกันอยู่ที่ 26 ล้านคน ที่เตรียมจ่ายเงินช่วยเหลือให้คนลงทะเบียนต้องขยายจาก 9 ล้านคนไปเป็น 14 ล้านคน ใช้งบประมาณกว่า 2.1 แสนล้านบาท รัฐบาลจะเยียวยาอย่างไรให้ทั่วถึงคลอบคลุมคนเดือดร้อนทั้งหมด เพราะคน 14 ล้านคน นี่เป็นแค่คนส่วนเดียวของคนที่เดือดร้อน และที่แน่ๆ เงิน 5,000 บาทแค่เงินเบื้องต้นแค่พอรอดเท่านั้นอาจจะไม่เพียงพอด้วยซ้ำถ้าบ้านไหนมีคนรับเงินได้คนเดียวแต่ต้องเลี้ยงคนทั้งบ้าน เงินจำนวนเพียงเท่านี้คงไม่พอแน่นอน
คนที่ไมได้ทำงานในระบบและอยู่ในประกันสังคมมีเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เจ้าของแผงในตลาดนัด คนขายของในออนไลน์ ล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ไม่ใช่เพียงลูกจ้างหรือคนทำงานอาชีพอิสระเพียงอย่างเดียว แต่รวมทั้งผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อย ที่ไม่ได้อยู่ในระบบเลย จะช่วยพวกเขาอย่างไรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนน์ของแบงค์ชาติก้ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะมีเงินออกมาหมุนเวียนในระบบ
ทางด้านคนทำงานประจำที่อยู่ในประกันสังคมในเวลานี้ก็เดือดร้อน เพราะหลายบริษัทต้องปรับตัวทั้งลดเงินเดือนพนักงาน ให้หยุดทำงานแต่ยังรักษาสิทธิการรักษาแต่งดจ่ายเงินเดือน รวมทั้งการให้ทำงานที่บ้านทำให้ขาดรายได้ส่วนอื่นอาทิ โอที ค่าล่วงเวลา ค่านายหน้า ค่าคอมมิชชั่น หรือ ค่าทิป เมื่อรายได้ลด แต่รายจ่ายไม่ได้ลด และคนกลุ่มนี้คือกลุ่มเสียภาษีเงินได้กลุ่มหลักเลย รัฐบาลกลับยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้แต่อย่างใด
ในเวลานี้ต้องยอมรับว่ารัฐบาลยังกล้าๆกลัวๆ ที่จะเปิดเมืองอีกครั้ง เพราะเกรงว่าจะมีคนติดเชื้อกลับมาใหม่ หรือมองกันว่าจะเกิดการระบาดรอบสองเลย ทำให้สัญญาณต่างๆที่รัฐบาลออกมาโลเลอย่างมาก ไม่กล้าจะตัดสินใจว่าจะเดินหน้าปิดเมืองต่อไหม หรือ จะทะยอยเปิดเมือง ความอิหลักอิเหรื่อเช่นนี้ยิ่งทอดเวลานานไปจะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้ารัฐบาลมองว่ายังต้องล็อคดาวน์เพื่อให้ลดคนติดเชื้อจนไม่มีแล้ว จะมั่นใจได้อย่างไรว่าผ่านไป 14-28 วัน แล้วจะชัวร์แน่นอนว่าไม่มีเชื้อแล้ว ขณะที่คนที่ต้องทำมาหากินอาจจะรอ 14-28 วันไม่ได้ ขณะที่เวลานี้การตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ไปแล้วกว่า 1.4 แสนตัวอย่าง (ข้อมูล ณ วันที่ 17 เมษายน) ซึ่งความสามารถในการตรวจของไทยอยู่ที่วันละ 20,000 ตัวอย่างแต่ทุกวันนี้เรากลับมีจำนวนตรวจเพียงวันละ 3-4 พันตัวอย่างเท่านั้น ยังมีทรัพยากรในการตรวจเหลืออีกราว 16,000 ตัวอย่าง ถ้ารัฐบาลสามารถเพิ่มมาตรการเชิงรุกในการเพิ่มจำนวนการตรวจเชื้อให้ถึงวัน 20,000 ตัวอย่าง จะช่วยให้เพิ่มความมั่นใจของสังคมมากขึ้นว่า มีผู้ติดเชื้อลดลงแน่นอน ไม่มีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการและเป็นพาหะของโรคเดินไปมาในสังคม
สิ่งที่รัฐบาลควรทำเวลานี้ คือ สร้างความมั่นใจทั้งในเรื่องการคุมการติดเชื้อ และ การช่วยธุรกิจพร้อมกับทำอย่างไรให้คนได้กลับมาทำงานอีกครึ่งหนึ่งเพื่อไม่ให้คนอดตาย!!
การสร้างความมั่นใจเรื่องคุมการติดเชื้อ รัฐบาลควรมีมาตรการเชิงรุกออกตรวจคนที่มีความเสี่ยงและรวมทั้งคนไม่มีความเสี่ยงเข้ามาตรวจให้ได้มากที่สุด ในหลายประเทศออกมาตรการให้คนมารับการตรวจเชื้อให้ได้มากที่สุดมีเป้าหมายการขยายการตรวจให้มากขึ้นไปเรื่อยทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น เน้นตรงจุดนี้เป็นอย่างมาก เพราะเมื่อตรวจได้มากก็มีโอกาสเจอคนติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการได้มากขึ้น เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจ คัดกรองและคัดแยก
เมื่อตรวจคนได้จำนวนมาก ก็ควรกำหนดมาตรฐานการกำหนดระยะห่างทางสังคมเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถจัดการตนเองได้และนำไปสู่การทะยอยเปิดพื้นที่เอกชนที่ถูกระงับไปให้กลับมาดำเนินธุรกิจต่อได้ เพราะเราคงไม่สามารถปิดเมืองตลอดไปได้ ไม่เช่นนั้นเราคงไม่สามารถซ่อมมือถือได้ ไปตัดผมทำเล็บไม่ได้ หรือแม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเครื่องเขียนด้วย
การล็อคดาวน์แม้จะเป็นทางแก้ปัญหาผู้ติดเชื้อได้ แต่ก็นับเป็นยาแรงที่ต้องระวังในการใช้ ใช้นานไปก็อาจจะทำให้สร้างผลข้างเคียงตามมา ซึ่งผลข้างเคียงของการล็อคดาวน์นั่นคือ เศรษฐกิจจะถดถอยรุนแรงมากขึ้นตามระยะเวลาที่ล็อคดาวน์ไป
รัฐบาลควรชัดเจนในการทำให้ภาคเอกชนสามารถกลับมาจ้างงานคนกลับมาทำงานได้ ยิ่งดึงคนกลับมาทำงานได้เร็วเท่าไหร่ เราก็จะสามารถกอบกู้เศรษฐกิจที่ดิ่งเหวลงไปในช่วงเมษายนกลับมาได้เร็วเท่านั้น ไม่เช่นนั้นตามที่ สภาพัฒน์ประเมินว่าจะมีคนตกงาน 7-10 ล้านคน คงจะเกิดขึ้นและนั่นจะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติการเมืองในที่สุด
ล่าสุดการที่รัฐบาลมาต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีก 1 เดือน ขณะที่คนฆ่าตัวตายรายวันจากการไม่มีกิน พร้อมกับคนมาประท้วงหน้ากระทรวงการคลังเพราะไมไ่ด้รับเงิน 5 พันบาท หรือภาพที่เทศกิจไล่คนแจกอาหาร การไม่ให้คนแจกทานและแจ้งความคนแจกอาหาร ภาพเหล่านี้รัฐบาลคงต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วนของการผ่อนคลาย การเปิดช่องให้คนได้หายใจจากการล็อกดาวน์มาเดือนนึง น่าจะเป็นทางออกที่ทำให้ทุกฝ่ายลดความเครียดลงได้บ้าง