15-08-2018

จับตาความเสี่ยงสงครามการค้า

บทความโดย
  • คู่ขัดแย้งในสงครามการค้าทั้งสองฝ่าย คือจีนและสหรัฐยังไม่สามารถตกลงกันได้ แต่กลับทวีความรุนแรงของมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งภาษีนำเข้าและเรื่องค่าเงิน
  • จุดเสี่ยงจากสงครามการค้าในรอบนี้ ได้ข้ามไปยังตลาดการเงิน โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์ ค่าเงินหยวน และราคาโภคภัณฑ์

สงครามการค้ากลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนพลวัตในภาคการเงินและเศรษฐกิจโลกนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2018 เป็นต้นมา จากที่หลายคนคิดว่าประธานาธิบดี Trump พูดเรื่องการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อลงโทษประเทศคู่ค้านั้น น่าจะเป็นเพียงแค่แทคติกช่วงหาเสียงและอเมริกาจะยังคงดำเนินตามครรลองแห่งการค้าเสรี มาวันนี้สิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นคำขู่กลายมาเป็นความจริง โดยสมรภูมิสงครามการค้าหลักๆอยู่ที่สหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป โดยมาตรการทางภาษีที่ประกาศตอบโต้กันไปมาและมีผลแล้วระหว่างทั้ง 3 ฝ่ายมีดังนี้

นอกจากจีนและสหภาพยุโรปแล้ว ประเทศคู่ค้ารายอื่นๆอย่างอินเดีย เม็กซิโก แคนาดา ตุรกี ก็ได้มีการประกาศมาตรการทางภาษีขึ้นมาตอบโต้สหรัฐฯด้วย อย่างไรก็ตามความขัดแย้งทางการค้าที่ส่งผลต่อจิตวิทยาเศรษฐกิจและการลงทุนช่วงนี้มากที่สุดก็หนีไม่พ้นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีนและสหภาพยุโรป เนื่องจากทั้ง 3 ฝ่ายต่างเป็นพื้นที่เศรษฐกิจและการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก กิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่า 60% ล้วนกระจุกตัวอยู่ในทั้ง 3 พื้นที่นี้

ล่าสุด แม้ว่าสถานการณ์ด้านสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและสหภาพยุโรปจะคลายตัวลงหลังการเยือนทำเนียบขาวของนาย Jean-Claude Juncker ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป โดยวันที่ 25 กรกฎาคม 2018 นาย Juncker และประธานาธิบดี Trump ประกาศว่า ทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรปกำลังทำงานร่วมกันเพื่อไปสู่เป้าหมายของการลดอัตรานำเข้า 0% ระหว่างกัน อีกทั้งฝั่งสหภาพยุโรปเองก็พร้อมที่จะเพิ่มการนำเข้าพลังงานจากสหรัฐฯและให้ความร่วมมือในการปฏิรูปองค์การการค้าโลกด้วย แต่ในส่วนของสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนนั้นกลับมีความตึงเครียดขึ้นกว่าเดิม โดย Trump ประกาศว่าจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์จำนวน 25% จากเดิมที่เสนอแค่ 10% เท่านั้น เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2018 โดยจีนเองก็ไม่รอช้าและตอบโต้ทันควันด้วยการเตรียมมาตรการเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 5-25% กับสินค้าสหรัฐฯจำนวนกว่า 5,207 รายการ มูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์รอเอาไว้แล้ว เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2018 หากสหรัฐฯเปิดฉากเก็บภาษีจีนเพิ่ม

สถานการณ์ที่แหลมคมระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกโดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯได้สร้างความไม่แน่นอนและความกังวลในประชาคมระหว่างประเทศและแวดวงการเงินการลงทุนอย่างมาก แม้ตัวเลขเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังไปได้ดี แต่การที่คู่ขัดแย้งในสงครามการค้ายังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่มีผลในทางปฏิบัติและนำมาสู่การปลดชนวนมาตรการทางภาษีแล้ว ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนทั่วโลก ธุรกิจต่างๆจะทบทวนแผนการลงทุนระยะยาวและส่งผลให้ต้นทุนสินค้าของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันในระยะสั้นก็จะสร้างความผันผวนอย่างรุนแรงต่อตลาดการเงินด้วย หากสถานการณ์สงครามการค้าในปัจจุบันที่อยู่ในโหมด “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ไปไกลเกินควบคุมจนกลายเป็นสงครามเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ เศรษฐกิจและตลาดการเงินทั่วโลกก็อาจเกิดวิกฤตอย่างรุนแรงฉับพลันไม่ต่างจากช่วง Lehman Brothers ล้มละลายเมื่อ 10 ปีที่แล้วได้เช่นกัน โดยจุดเสี่ยงต่างๆที่นักธุรกิจและนักลงทุนจะต้องจับตาในเกมสงครามการค้านั้นมีดังนี้

ค่าเงินดอลลาร์

ทุกครั้งที่มีข่าวความขัดแย้งทางการค้าปะทุขึ้นมาทุกรอบ ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นมาทุกครั้งเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างๆทั่วโลก เนื่องมาจากที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯหรือ Fed ได้ใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยและพิมพ์เงินผ่านมาตรการ QE ในการพยุงเศรษฐกิจและราคาสินทรัพย์การเงินในสหรัฐฯให้ฟื้นตัว ซึ่งผลก็คือ การทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทำให้เกิดสภาพคล่องดอลลาร์จำนวนมหาศาลหล่อเลี้ยงตลาดการเงินทั่วโลกด้วย แต่ปัจจุบัน Fed ได้ส่งสัญญาณชัดเจนทั้งการขึ้นดอกเบี้ยและถอนเงิน QE ออกจากตลาด ขณะเดียวกันดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่สูงก็จูงใจให้คนขนเงินกลับมาลงทุนในสหรัฐฯมากขึ้น ในยามที่ตลาดการเงินเกิดความผันผวนรุนแรง ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯคือที่หลบภัยที่นักลงทุนจะหนีมาพักเงินในยามที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกดิ่งลงแรง ที่ผ่านมาความวิตกเรื่องสงครามการค้าก็ทำให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเป็นที่ต้องการและดันให้ราคาพันธบัตรและค่าเงินดอลลาร์ทะยานขึ้นต่อเนื่องด้วย และด้วยนโยบายลดภาษีของรัฐบาล Trump ก็ยิ่งเอื้อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเองยังเติบโตจากการบริโภคและลงทุนในประเทศได้แม้การส่งออกจะย่ำแย่ก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่ารวดเร็วในวิกฤตสงครามการค้าจะเร่งให้เกิดการไหลออกของเงินทุนทั่วโลก และส่งผลให้ค่าเงินประเทศต่างๆอ่อนค่าและทุนสำรองลดลงอย่างรวดเร็วด้วย

ค่าเงินหยวน

จีนคือคู่ขัดแย้งหลักของสหรัฐฯในสงครามการค้า ฉะนั้นแล้วเมื่อเกิดพัฒนาการสำคัญในสงครามการค้า ตลาดการเงินจีนก็จะเกิดการตอบสนองตามไปด้วย ขณะเดียวกันด้วยเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงจากมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องการลดการพึ่งพาภาคอสังหาริมทรัพย์และการขยายสินเชื่อแบบเกินตัว ทำให้เงินหยวนอยู่ในสภาพที่จะเผชิญทั้งการอ่อนค่าต่อเนื่องและความผันผวนที่มากขึ้นด้วย นอกจากนั้นแล้วการที่จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 หรือ 2 ของทุกประเทศทั่วโลก อีกทั้งการที่รัฐบาลจีนมีนโยบายเปิดกว้างให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ ทำให้ทุกวันนี้นโยบายการเงินจีนมีแนวโน้มชี้นำทิศทางค่าเงินและตลาดทุนทั่วโลกไม่ต่างจากสหรัฐฯและยุโรป ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงก็ยิ่งสิ่งผลให้ค่าเงินของประเทศคู่ค้าของจีนทั้งในเอเชียและตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าตามลงไปด้วย นอกจากนั้นเงินหยวนที่อ่อนค่าลงก็ยิ่งสร้างปัญหาให้กับการส่งออกของประเทศต่างๆยากลำบากขึ้นอีกด้วย

ราคาโภคภัณฑ์

บรรยากกาศความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯส่งผลลบต่อราคาโภคภัณฑ์อย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 3 ปีนี้ เนื่องจากสงครามการค้าสร้างความกังวลต่อผู้ประกอบการทั่วโลกทำให้ทุกคนมีแนวโน้มชะลอการลงทุน ขณะเดียวกันสงครามการค้ายังกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเองและจีนก็นำเอาสินค้าพลังงานและการเกษตรเข้ามาอยู่ในรายการเก็บภาษีเพื่อตอบโต้รัฐบาลสหรัฐฯด้วย ฉะนั้นแล้วราคาโภคภัณฑ์พื้นฐานที่จำเป็นทางเศรษฐกิจทั้งโลหะพื้นฐาน พลังงาน และสินค้าเกษตรโดยเฉพาะถั่วเหลืองและข้าวโพด จึงมีแนวโน้มดิ่งลงแรงและผันผวนมากขึ้นตามความเข้มข้นของสงครามการค้าที่ไม่มีทีท่าจะยุติลงในเร็ววัน

หากวิเคราะห์ดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจะเห็นชัดว่า สงครามการค้านั้นค่อยๆขยับขยายปริมณฑลเข้าสู่สงครามในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและนโยบายการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากพลวัตของค่าเงินหยวนที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกันนี้ และดูเหมือนประธานาธิบดี Trump เองจะเข้าใจเกมนี้ดีด้วย โดยในช่วงที่ผ่านมาเขาได้โยนความผิดให้กับคู่ค้าหลักทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรือในเอเชียว่าใช้นโยบายค่าเงินอ่อนในการเอาเปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าทุกๆครึ่งปีทางการสหรัฐฯโดยกระทรวงการคลังจะทำการประเมินสถานะด้านอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าต่างๆว่าเข้าข่าย “แทรกแซงบิดเบือน” กลกไกค่าเงินหรือเป็น Currency Manipulator หรือไม่ ฉะนั้นแล้วยิ่งสงครามการค้าเข้มข้นเท่าใด ก็จะยิ่งสร้างความผันผวนต่ออัตราแลกเปลี่ยนให้รุนแรงมากเท่านั้น

กรณีที่สหรัฐฯและจีนมีการตอบโต้กันเต็มรูปแบบทั้งการเก็บภาษีสินค้าทุกประเภทที่ผ่านแดนและขยายวงสู่การกีดกันด้านการลงทุนและการเงิน สถานการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าอย่างรวดเร็ว ขณะที่เงินหยวนก็จะอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงด้วย ทุกประเทศจะเผชิญกับสภาพคล่องที่เหือดแห้งลงทั้งในตลาดเงิน ตลาดทุน จากการเทขายสินทรัพย์อย่างรุนแรงของนักลงทุน เงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว ค่าเงินอ่อนตัวลงและผันผวนมาก ประเทศที่มีการกู้เงินต่างประเทศมากทั้งในรูปของพันธบัตรและเงินกู้ธนาคารจะเผชิญความเสี่ยงจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นจากทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าลงอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันวิกฤตรอบนี้จะต่างจากยุค Lehman ตรงที่สมัยปี 2008 วิกฤตเกิดที่ภาคการเงินก่อนแล้วลามไปยังภาคเศรษฐกิจจริง แต่หากสงครามการค้าลุกลามจนกลายเป็นสงครามเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ คราวนี้จะเป็นภาคธุรกิจจริงใน Real Sector จะได้รับผลกระทบแบบทันทีก่อนเพื่อน จากคำสั่งซื้อที่จะถูกยกเลิกอย่างทันทีทันใดและลดฮวบอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบไปทั่วทั้ง Supply Chain ทั่วโลก ธุรกิจต่างๆจะเริ่มทบทวนแผนการลงทุนและชะลอไปอย่างไม่มีกำหนด ธุรกิจที่สภาพคล่องต่ำหรือมีหนี้สินสูงโดยเฉพาะหนี้ในสกุลเงินตราต่างประเทศจะถูกกระทบเป็นลูกโซ่และเสี่ยงล้มละลายก่อนเพื่อน ขณะเดียวกันในเชิงเศรษฐกิจมหภาคราคาโภคภัณฑ์และค่าเงินที่ตกลงอย่างรุนแรงผนวกกับการค้าและการลงทุนที่หดตัวฉับพลันก็อาจทำให้เกิดวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีจุดอ่อนในเรื่องการพึ่งพาเงินทุนต่างประเทศและรายได้จากสินค้าโภคภัณฑ์

ฉะนั้นแล้วนักลงทุนและผู้ประกอบการควรตามสถานการณ์สงครามการค้าอย่างใกล้ชิดและดูแลจุดเสี่ยงที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญทั้งในส่วนของความเสี่ยงด้านค่าเงิน ด้านคู่ค้าหรือ Supplier ต่างๆว่าจะมีผลต่อต้นทุนและความขาดแคลนวัตถุดิบแค่ไหน ขณะเดียวกันหากเกิดวิกฤตจากสงครามการค้าแบบเต็มรูปแบบ นักลงทุนไม่ควรคาดหวังว่าธนาคารกลางใหญ่ๆจะสามารถใช้นโยบายการเงินช่วยเหลือตลาดการเงินและเศรษฐกิจได้เต็มที่ เนื่องจากเหตุของวิกฤตในครั้งนี้เป็นเรื่องในเชิงนโยบายและภาคการเมืองและผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจไม่ใช่สถาบันการเงิน ซึ่งทางแก้จริงๆต้องเกิดจากการประนีประนอมทางการเมืองเพื่อสร้างให้ความเชื่อมั่นกลับคืนมาและลดความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย