เนื้อสัตว์ 2.0 มุ่งสู่อนาคตที่ปราศจากการฆ่า
Rapeepat Ingkasit
- อุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่นำไปสู่สารพัดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากภาคการเกษตรจะปล่อยแก๊สเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 24 ของกิจกรรมมนุษย์ทั้งโลก ภาคการเกษตรว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือการรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติเพื่อแปลงพื้นที่มาปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งส่วนใหญ่ถูกป้อนเข้าสู่สายพานการผลิตอาหารสัตว์ ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การสรรหาสินค้าเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์
- Beyond Meat และ Impossible Foods คือสตาร์ตอัพเจ้าตลาดเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืช โดยใช้ส่วนผสมอาทิ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ควินัว และอื่นๆ โดยไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ ทั้งสองแบรนด์ได้รับการตอบรับดีเยี่ยมจากผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญมองว่าตลาดเนื้อสัตว์มีโอกาสเติบโตสูงถึงปีละ 15 เปอร์เซ็นต์
- อีกแนวทางหนึ่งคือการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์จากเซลล์ ซึ่งกลายเป็นจริงได้โดย มาร์ค โพสต์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาสตริตช์ ที่ความสำเร็จในการ ‘ปลูก’ เนื้อสัตว์จากเซลล์ในห้องทดลองเพื่อนำไปทำเบอร์เกอร์ ด้วยต้นทุนราวสิบล้านบาท ปัจจุบันมีสตาร์ตอัพทั้งในสหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ และอีกหลากหลายประเทศแข่งขันกันลดต้นทุนและปรับปรุงกระบวนการผลิตเตรียมความพร้อมเพื่อวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยคาดว่าไม่อีกปีข้างหน้า เราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ปราศจากการฆ่าวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต
นับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันกรรมวิธีผลิตเนื้อสัตว์ก็แทบไม่ได้ผิดแผกแตกต่างจากเดิมมากนัก แม้จะมีการปรับปรุงสายพันธุ์ คิดค้นสารพัดนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิต แต่กระบวนการก่อนได้เนื้อสัตว์มาสักชิ้นก็ยังคงเป็น การเลี้ยงหมู ไก่ หรือวัว ให้เติบโตสมวัย เชือดชำแหละ แล้วนำมาจำหน่าย
เนื้อสัตว์ที่ครั้งหนึ่งเคยสงวนไว้เฉพาะช่วงเวลาพิเศษหรือชนชั้นสูง กลายเป็นสินค้าประจำบ้านที่ทุกคนสามารถหาซื้อได้ในราคาไม่แพงจากนวัตกรรมการขนส่งและการถนอมอาหาร เมื่อหลายประเทศหลุดพ้นจากความยากจน ความต้องการเนื้อสัตว์ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เช่นเดียวกับพื้นที่ผลิตอาหารสัตว์ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นราวร้อยละ 83 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดทั่วโลก แต่ในทางกลับกัน เนื้อสัตว์ที่ผลิตได้กลับเป็นเพียงร้อยละ 18 ของแคลอรี และราวร้อยละ 37 ของโปรตีนที่เราได้รับในแต่ละวัน
สาเหตุสำคัญคือ ‘พลังงาน’ ที่สูญหายไประหว่างทาง เนื่องจากอาหารสัตว์ 1 กิโลกรัมไม่ได้แปลงเป็นเนื้อสัตว์ได้ 1 กิโลกรัม โดยเนื้อบางชนิด ตัวอย่างเช่น เนื้อวัวต้องใช้อาหารสัตว์น้ำหนักถึง 20 กิโลกรัมต่อการผลิตเนื้อเพียง 1 กิโลกรัม
ไม่น่าแปลกใจนักที่อุตสาหกรรมการเกษตรจะถูก ‘เพ่งเล็ง’ ว่าเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่นำไปสู่สารพัดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากภาคการเกษตรจะปล่อยแก๊สเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 24 ของกิจกรรมมนุษย์ทั้งโลก รายงานล่าสุดของคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศบริการ (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services: IPBES) ยังโจมตีภาคการเกษตรว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือการรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติ เพื่อแปลงพื้นที่มาปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย ซึ่งส่วนใหญ่ถูกป้อนเข้าสู่สายพานการผลิตอาหารสัตว์
นอกจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ยังมีกระแสความกังวลด้านสิทธิสัตว์ แม้ว่าสัตว์เหล่านั้นจะมีจุดจบที่โรงเชือด แต่หลายคนก็มองว่าเราควรดูแลสัตว์อย่างมีมนุษยธรรม ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย และกระบวนการเชือดที่ไม่ทารุณกรรม
วิกฤติย่อมมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจ แรกเริ่มเดิมที องค์กรไม่แสวงหากำไรและองค์กรภาคเอกชนได้ออก ‘ฉลากเขียว (ecolabel)’ เพื่อแย่งผลผลิตจากสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเคารพต่อสิทธิสัตว์ออกจากผลิตภัณฑ์ทั่วไป ในขณะที่ประกอบการรุ่นใหม่ได้แสวงหานวัตกรรมเพื่อสรรค์สร้างเนื้อสัตว์ยุคใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องฆ่าสัตว์เพื่อให้ได้เนื้ออีกต่อไป แนวทางหนึ่งคือการผลิตเนื้อสัตว์จากพืชล้วนๆ ส่วนอีกแนวทางหนึ่งคือการ ‘ปลูก’ เนื้อสัตว์จากเซลล์ในห้องทดลอง (cultured meat)
เนื้อสัตว์ที่ไร้เนื้อสัตว์
ครั้งแรกที่ได้ยินคำว่าเนื้อสัตว์ที่ไร้เนื้อสัตว์ (meatless meat) หลายคนอาจคิดถึงเนื้อสัตว์ซึ่งผลิตจากเต้าหู้หรือโปรตีนเกษตรซึ่งเราคุ้นเคยกันดีในช่วงเทศกาลกินเจ แน่นอนว่า ‘เนื้อสัตว์ปลอม’ ไม่ใช่อาหารโปรดของใครหลายคน (รวมถึงผู้เขียน) แต่นวัตกรรมเนื้อสัตว์ที่ไร้เนื้อสัตว์ซึ่งถูกจับตามองอย่างมากในฐานะ ‘ดาวรุ่ง’ ในตลาดสหรัฐอเมริกานำเสนอผลิตภัณฑ์ซึ่งจะทำให้เราแทบไม่เชื่อสายตาว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคือเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืช
Beyond Meat และ Impossible Foods คือสตาร์ตอัพเจ้าตลาดเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืช โดยใช้ส่วนผสมอาทิ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ควินัว และอื่นๆ โดยมีจุดต่างสำคัญคือ Beyond Meat ใช้โปรตีนสกัดจากถั่ว ในขณะที่ Impossible Foods ใช้โปรตีนสกัดพิเศษลีฮีโมโกลบิน (leghemoglobin) หรือฮีม ซึ่งทำให้เนื้อของ Impossible Foods มีเสมือนว่ามี ‘เลือดชุ่มฉ่ำ’ เหมือนเนื้อจริงๆ เมื่อนำไปปรุงอาหาร
สตาร์ตอัพเนื้อสัตว์ไร้เนื้อสัตว์ทั้งสองเจ้าได้รับการรับรองว่าเป็นอาหารมังสวิรัติ โดยไม่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากสัตว์แม้แต่น้อย พร้อมกับจับมือกับแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดส์ชื่อดังทั้ง KFC และ Burger King เพื่อออกผลิตภัณฑ์อย่างไก่ทอดที่ไม่มีไก่ และเบอร์เกอร์เนื้อที่ไม่มีเนื้อ อีกทั้งยังวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตไม่ว่าจะเป็นนักเก็ต ไส้กรอก และมีตบอลปราศจากเนื้อสัตว์
ผู้บริโภคจำนวนมากให้ความเห็นว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไร้เนื้อสัตว์ถือว่ามีรสชาติที่น่าประทับใจและสามารถนำมาใช้แทนเนื้อสัตว์บดได้ แม้ว่าคนรักเนื้อจำนวนไม่น้อยยังรู้สึกถึงความ ‘แปลกแปร่ง’ จากเนื้อสัตว์ปกติ
สำหรับใครที่มองว่าทางเลือกเนื้อสัตว์ที่ไร้เนื้อสัตว์ดีต่อสุขภาพ ผู้เขียนขอบอกไว้ก่อนว่าคุณกำลังเข้าใจผิดนะครับ เพราะหากเทียบกันแบบหมัดต่อหมัดระหว่างเนื้อบดและเนื้อที่ทำจากพืช ผลปรากฏว่าทั้งสองอย่างให้แคลอรีใกล้เคียงกันอีกทั้งยังใช้เครื่องปรุงรส เช่น เกลือ มากกว่าหากต้องแปรรูปไปใช้ทำเบอร์เกอร์ อย่างไรก็ดี การรับประทานเนื้อสัตว์ไร้เนื้อสัตว์ ก็ช่วยลดความเสี่ยงต่อการรับโกรทฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะที่ใช้ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์
หุ้น Beyond Meat เสนอซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาเป็นวันแรกเมื่อ 2 พฤษภาคม 2562 โดยมีราคาเปิดตัว 25 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดโดยปัจจุบันซื้อขายกันอยู่ที่ราว 120 ดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่าตลาดเนื้อสัตว์มีโอกาสเติบโตสูงถึงปีละ 15 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังไม่มีผู้เล่นมากนักในตลาดจึงนับว่าอนาคตค่อนข้างสดใส ส่วนบริษัท Impossible Foods คู่แข่งรายสำคัญยังไม่มีแผนจะเสนอขายหุ้นในเร็ววันนี้
เนื้อสัตว์จากห้องทดลอง
เมื่อ พ.ศ. 2555 มาร์ค โพสต์ (Mark Post) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาสตริตช์ (Maastricht University) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ประกาศความสำเร็จในการ ‘ปลูก’ เนื้อสัตว์จากเซลล์ในห้องทดลอง โดยสามารถนำเนื้อดังกล่าวไปทำเบอร์เกอร์ได้ในราคาชิ้นละ 325,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือราวสิบล้านบาท คงไม่ต้องบอกนะครับว่าเนื้อสัตว์ดังกล่าวไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ แต่มันได้จุดประกายแสงแห่งความเป็นไปได้ของเนื้อสัตว์ที่เป็นเนื้อสัตว์จริงๆ ที่ได้มาโดยปราศจากการฆ่า
กระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ในห้องทดลอง คือการนำเซลล์จากสัตว์มาใส่ในสารอาหาร เกลือ สารละลายบัฟเฟอร์ และปัจจัยเร่งการเติบโต แล้วปล่อยให้เซลล์ดังกล่าว ‘เติบโต’ จนได้ปริมาณเพียงพอที่จะนำมารับประทานได้ แม้ว่ากระบวนการจะฟังดูไม่น่ารับประทานสักเท่าไหร่ แต่ก็มีการพิสูจน์แล้วว่าเนื้อสัตว์จากห้องทดลองรสชาติ ‘พอใช้ได้’ แต่ปัญหาใหญ่คือทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำพอจะวางจำหน่ายคู่กับเนื้อสัตว์ทั่วไป และเนื้อสัตว์จากพืชที่กลายเป็นเจ้าตลาดของเนื้อสัตว์ทางเลือก
แม้ว่าปัจจุบัน เนื้อสัตว์ที่ปลูกในห้องทดลองอาจยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่ตลาดมีการแข่งขันสูงอย่างยิ่งเพราะเต็มไปด้วยสตาร์ตอัพที่ต้องการเปิดตัวสู่สาธารณชนและชิงส่วนแบ่งตลาดเป็นรายแรก ตั้งแต่ Memphis Meats จากสหรัฐอเมริกาที่สร้างกระแสด้วยการเปิดตัว ‘มีตบอลจากเนื้อสัตว์จากเซลล์เพาะเลี้ยง’ เป็นรายแรกของโลกและเตรียมเดินหน้าขยายการผลิตเนื้อวัว ไก่ และเป็ด ในระดับอุตสาหกรรม Mosa Meat บริษัทสัญชาติดัทช์ที่ก่อตั้งโดยนวัตกรผู้ประสบความสำเร็จในการปลูกเนื้อสัตว์เป็นคนแรก โดยล่าสุดประกาศว่าลดต้นทุน 325,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้นเหลือเพียงราว 10 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
แต่หากจะกล่าวถึงอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ในห้องทดลอง ต้องมองไปที่อิสราเอลซึ่งมีสตาร์ตอัพจำนวนมาก เช่น Future Meat Technologies ที่ค้นพบวิธีการปลูกเนื้อสัตว์รูปแบบใหม่และคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตเนื้อวัว 1 ปอนด์ให้เหลือ 10 ดอลลาร์สหรัฐในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือ Aleph Farms ที่ประสบความสำเร็จในการผลิตเนื้อเสต็กเมื่อ พ.ศ. 2561 ไปจนถึงการทดลองการ ‘ปริ้นท์เชิงชีวภาพ’ เพื่อผลิตเนื้อสัตว์บนสถานีอวกาศนานาชาติ
ส่วนแถบเอเชียเอง ก็มีดาวเด่นอย่าง Shiok Meats จากสิงคโปร์ที่ตั้งเป้านำร่องปลูกเนื้อสัตว์ทะเลเปลือกแข็งอย่างกุ้ง ปู และล็อบสเตอร์ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ส่วนญี่ปุ่นก็มีการจับมือทางธุรกิจเพื่อผลิตเนื้อวากิวโดยการเพาะเลี้ยงเซลล์
มีการศึกษาพบว่า เนื้อวัวที่เพาะจากเซลล์จะปล่อยแก๊สเรือนกระจกน้อยกว่าเนื้อวัวปกติถึง 95 เปอร์เซ็นต์ และใช้ที่ดินน้อยกว่าถึง 98 เปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง โดยมีกำแพงเดียวที่ต้องข้ามคือความรู้สึก ‘แขยง’ ของผู้บริโภคเมื่อทราบว่าเนื้อสัตว์ที่รับประทานผลิตมาจากกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
คงไม่ผิดนักหากจะเรียกสองแนวทางนี้ว่าเป็นการผลิตเนื้อสัตว์ 2.0 ซึ่งสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะมาทดแทนเนื้อสัตว์จากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ทำให้การเลี้ยงเพื่อเชือดชำแหละกลายเป็นอดีต และยังช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคของมนุษย์ได้อีกด้วย