Geopolitics VS กระสุนนโยบายเศรษฐกิจตอนนี้
สรุปสถานการณ์ตลาดช่วงศุกร์สยองขวัญ
หลังจาก Trump แลกหมัดด้านภาษีกับจีนแบบทันควัน ผลที่เห็นก็ชัดเจนคือ ตลาดหุ้นลงทั่วหน้าพร้อมราคาน้ำมัน ขณะที่ทองคำ เงินเยน และพันธบัตรรัฐบาลก็ได้แรงซื้อสูงมหาศาล ค่าเงินหยวนตลาด offshore ถูกกดดันจากแรงขายรอบตลาด New York และคาดว่าคงกดดันค่าเงินหยวนตลาด onshore ในจันทร์ที่จะถึงนี้
ภาพรวมตลาดเมื่อคืน ราคาหุ้นและน้ำมันตกลง 2-3% ขณะที่ค่าเงินเยน ฟรังก์ และราคาพันธบัตรระยะยาวบวกขึ้น 0.70-1.00% ทองคำบวก 2.00% โดยประมาณ
ขณะที่ต้นสัปดาห์ ตลาดโลกคลายความกังวลเนื่องจากสัญญาณบวกเรื่องนโยบายการคลังโดยเฉพาะจากเยอรมัน ส่งผลให้ Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้นไปกับราคาหุ้น ค่าเงินดอลลาร์ฟื้นตัว เช่นเดียวกับราคาทองคำที่ค่อยๆถูกขายลงไปจนต่ำกว่า 1,500 เหรียญ
การชิงขึ้นภาษีแบบบุกก่อนของจีนจาก 5% เป็น 10% และตามด้วยการตอบโต้ของ Trump ในไม่กี่ชั่วโมงถัดมาแสดงให้เห็นว่า ตลาดให้น้ำหนักกับความเสี่ยงในเรื่องสงครามการค้ามากกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมา 4-5 วันก่อนหน้านี้
ทั้งการลดดอกเบี้ยในเอเชียแปซิฟิกและละตินอเมริกา มาตรการการคลังของไทยและเยอรมัน มาตรการของจีน และรวมถึงการช่วยเหลือจาก Fed ที่มีอยู่ไม่น่าจะเพียงพอถ้าเราสังเกตดีๆจะพบว่า การกระทำของ Trump นั้นไม่ได้มีแรงคัดค้านอะไรจากสภาคองเกรสเลยหมายความว่า สิ่งที่เป็นไปไม่ใช่แค่การนึกสนุกหรือทวีตเอามันส์ของ Trump แต่เป็นฉันทามติร่วมกันของผู้นำการเมืองสหรัฐฯทั้งระบบฉะนั้นแล้วสิ่งที่เราเผชิญจึงเป็นมากกว่าทวิตเตอร์หรือสงครามการค้าแต่เป็นพลังการขับเคลื่อนในภาพใหญ่ทางภูมิรัฐศาสตร์
ขณะที่มาตรการเศรษฐกิจที่ออกมานั้น ว่ากันตามเนื้อหาเป็นมาตรการที่ใช้ได้กับการถดถอยตามวัฏจักรเศรษฐกิจทั่วไปเท่านั้นแต่เศรษฐกิจและตลาดการเงินปัจจุบันกำลังเผชิญ Geopolitical Shift ที่รุนแรงและทรงพลัง
จีนนั้นได้ประโยชน์จากระเบียบเดิมที่เน้นการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ ขณะที่ยังคงโครงสร้างการเมืองแบบพรรคเดียวไว้ได้ และเติบโตต่อเนื่องเราจึงอย่าแปลกใจที่ Trump จะหนุน Brexit, โจมตี EU และล่าสุดประกาศให้ธุรกิจอเมริกันออกจากจีนให้หมดและกลับอเมริกาเพราะนั่นคือการฉีก Geopolitical Order เดิมเพื่อตีสกัดจีนในระยะยาว
กระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
ตอนนี้ให้จับตาท่าทีของยุโรปและจีนต่อไปให้ดีๆ เพราะเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงจากการเคลื่อนหมากทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งนี้อีกข้อคือ 2 มหาอำนาจนี้เป็นผู้นำเทรนด์ด้านนโยบายตัวสำคัญยุโรปโดยเฉพาะยูโรโซนในฐานะผู้นำด้านนโยบายดอกเบี้ยลบและสารพัด QE แปลกๆ
ขณะที่จีนเป็นตัวต้นเรื่อง Currency Warsสภาพยามนี้การส่งออกจากเดิมที่เป็นพระเอกนำการเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายๆประเทศ โดยเอเชียและยุโรปมีการส่งออกสินค้าหลากหลายทั้งสินค้าง่ายๆไปจนถึงเครื่องจักรและเทคโนโลยีขณะที่ประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนาหลายๆประเทศพึ่งพาการส่งออกโภคภัณฑ์และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
เมื่อส่งออกและเอกชนมีปัญหา เราจะเห็นบทบาทรัฐที่ยกระดับมากขึ้น จากเดิมที่แค่ช่วยเติม demand ส่วนขาดในช่วงเศรษฐกิจขาลงกลายเป็นผู้จัดการระบบเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ทั้งในฐานะแหล่งรายได้ แหล่งเงินทุน ชดเชยการส่งออกที่จะถอยตัวแรงขึ้นและเป็นกำแพงดันหลังเอกชนเอาไว้ในยามนี้
ทั้งนี้เพื่อรักษาระดับการใช้จ่าย (ค่อนไปทางบังคับด้วยซ้ำถ้าใช้คู่กับดอกเบี้ยลบ) และการจ้างงาน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจแต่ละประเทศยังขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองกรณีการค้าโลกแย่ลงมากๆ อย่าแปลกใจถ้าเราจะเห็นไทยทำ QE บ้าง เพราะหากสถานการณ์วิกฤตขั้นนั้น ใครๆเขาก็ทำกัน
แน่นอนว่า หากโลกไปจนสุดทางแบบนั้นจริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในภาพใหญ่ก็คือ เราไม่ได้เจอแค่ Global Currency Wars หรือ Trade War แล้วแต่เป็น Global Currency Debasement ฉะนั้นจับตาการประชุม ECB นับแต่รอบหน้าเป็นต้นไปให้ดีครับ และดูว่าจีนจะเกเพิ่มขนาดไหน