อนาคตวิกฤตตุรกี: จุดเสี่ยง ผลกระทบ และทางแก้
- วิกฤตของตุรกีมีความเสี่ยงหลายประการที่ต้องจับตา ได้แก่ ภาคธนาคารจะล้มไม่ได้, ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ, การแทกรแซงธนาคารกลางตุรกีโดยฝ่ายการเมือง เป็นต้น
- ถ้าวิกฤตของตุรกีลุกลามบานปลาย สิ่งที่ต้องกังวลคือการไหลออกของเงินทุนจนเกิดการpanic ทำให้เกิดการเทขายสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงเรื่องหนี้เสียที่รัฐบาลตุรกีพร้อมเข้ามาช่วยเหลือ
- ทางรอดของตุรกีมีทางเลือกหลายทางได้แก่ ขอความช่วยเหลือจาก IMF, ร่วมมือกับ EU, ทางเลือกจากจีนและตะวันออกกลาง และสุดท้ายคือนโยบายในประเทศ
หลังจากเกิดวิกฤตค่าเงินตุรกีจนแรงเทขายลุกลามไปทั่วโลกในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2018 ที่ผ่านมา คำถามสำคัญที่ต้องวิเคราะห์ต่อก็คือ ขั้นต่อไปของเหตุการณ์ครั้งนี้จะไปในทิศทางใด ชนวนที่จะทำให้วิกฤตบานปลายคืออะไร ตุรกีมีทางเลือกอะไรบ้างในเชิงนโยบายและทางการเมืองเพื่อแก้ไขวิกฤตในครั้งนี้ และวิกฤตครั้งนี้จะส่งผลกระทบวงกว้างเช่นไรบ้าง บทความชิ้นนี้จะมาร่วมสำรวจความเป็นไปได้เหล่านี้กัน
จุดเสี่ยงที่ต้องจับตา
โครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการลงทุนและการขาดดุลมหาศาลทำให้ตุรกีอยู่ในเส้นทางเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน ขณะเดียวกันสถานการณ์แวดล้อมทั้งภายในและระหว่างประเทศที่พลิกผันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ตุรกีเองเผชิญจุดเสี่ยงที่อาจทำให้วิกฤตขยายวงใหญ่โตและลุกลามเป็นโดมิโน่ได้ โดยจุดเสี่ยงที่ต้องจับตาในวิกฤตตุรกีนั้นมีดังนี้
ภาคธนาคารล้มไม่ได้!
จากบทความตอนที่แล้วที่เราวิเคราะห์กันถึงเรื่องสาเหตุของวิกฤตตุรกีที่เกิดขึ้นนั้น เห็นได้ชัดว่ามูลเหตุเบื้องหลังมาจากความต้องการของฝ่ายการเมืองที่ใช้นโยบายอัดฉีดเงินผ่านภาคการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนนำมาสู่ปัญหาลูกโซ่ทางเศรษฐกิจมหภาคทั้งเงินเฟ้อที่สูง หนี้ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ต่อเนื่องหลายปี โดยศูนย์กลางของโมเดลการพัฒนาภายใต้รัฐบาล AKP นั้นคือภาคธนาคารที่เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หากเรานำเอาบทเรียนในอดีตมาเทียบเคียงอย่างกรณีวิกฤตการเงินในเอเชียช่วงปี 1997-1998 จะเห็นจุดเปรียบเทียบสำคัญนั่นคือ วิกฤตในเอเชียนั้นมีปัญหาจากฝั่งค่าเงินเป็นตัวเขี่ยลูก
ขณะที่การระเบิดขึ้นของวิกฤตจริงๆนั้นอยู่ที่การล้มครืนลงของภาคสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์และบริษัทไฟแนนซ์ จนลุกลามไปยังภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจริง ทั้งนี้เนื่องจากภาคธนาคารนั้นเป็นตัวที่เชื่อมโยงภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริงไว้ด้วยกัน ในฐานะที่เป็นผู้จัดหาเงินกู้ในรูปเงินตราต่างประเทศมาปล่อยสินเชื่อในประเทศ
กรณีของตุรกีนั้นก็ดูจะมีความคล้ายคลึงในแง่ที่ว่าทั้ง 2 กรณีมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องยาวนาน อีกทั้งมีการก่อหนี้ต่างประเทศของภาคเอกชนในระดับที่สูงในช่วงเศรษฐกิจบูม หากวิกฤตค่าเงิน Lira ที่ร่วงลงอย่างรวดเร็วส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชนเป็นวงกว้างและประชาชนเริ่มไม่เชื่อมั่นในระบบธนาคารตุรกี
ตรงนี้อาจส่งผลกระทบให้วิกฤตที่เป็นอย่างลุกลามเกินควบคุมและเศรษฐกิจตุรกีอาจล้มครืนลงไม่ต่างกับเอเชียช่วง 1997 ได้ โดยจุดที่ต้องระวังก็คือภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้นมูลค่ากว่า 122,248 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2018 โดยในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนหนี้สินจากภาคเอกชนที่มิใช่ธนาคารกว่า 41% ขณะที่ภาคธนาคารตุรกีเองก็มีสัดส่วนหนี้ระยะสั้น 37% ของหนี้ต่างประเทศระยะสั้นทั้งหมด
ขณะที่ตุรกีเองมีทุนสำรองในระดับ 124,281 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปรื่มๆกับภาระหนี้ระยะสั้นต่างประเทศและสุ่มเสี่ยงต่อภาวะการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศในระยะสั้น ฉะนั้นแล้วหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ระยะสั้นในสกุลเงินต่างประเทศของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ก็อาจส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่ลามเข้าภาคธนาคารได้เช่นกัน สถานการณ์ตุรกีเองก็จะยิ่งสุ่มเสี่ยงคล้ายวิกฤตเอเชียปี 1997 มากยิ่งขึ้นจนเกินควบคุม
อย่างไรก็ตามแม้ตุรกีเองจะเผชิญกับค่าเงินที่ผันผวนรุนแรง แต่เมื่อหันมาดูภาพรวมของระบบธนาคารตุรกีเองนั้นยังอยู่ในสภาพที่มีความมั่นคงอยู่ โดยข้อมูลจากหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ของตุรกีหรือ BRSA ระบุว่า ฐานะเงินกองทุนของตุรกีนั้นยังมีความมั่นคงอยู่ โดยข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2018 อัตราส่วน Capital Adequacy Standard Ratio อยู่ที่ 16% ของสินทรัพย์เสี่ยง
ขณะที่หากวัดจาก Core Capital Adequacy Ratio สัดส่วนความเข้มแข็งของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะอยู่ที่ 13% ซึ่งถือว่าธนาคารตุรกีมีความมั่นคงตามมาตรฐานสากล ขณะที่ในแง่ของหนี้ที่ไม่เกิดรายได้หรือ NPLs ในระบบธนาคารตุรกีเองก็ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ยังไม่ส่งสัญญาณของวิกฤตอย่างชัดเจนเช่นกัน
กระนั้นก็ตามล่าสุด Fitch Rating ก็ได้ออกมาเตือนนักลงทุนถึงเรื่องความเสี่ยงของภาคธนาคารตุรกีที่อาจเกิดปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ที่ส่อเค้ากลายเป็นหนี้เสียในอนาคตได้ ขณะเดียวกันยังได้เตือนถึงความเสี่ยงในแง่ของการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ต่างประเทศและการชำระหนี้ระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศด้วยเช่นกัน
ฉะนั้นแล้วปัญหาในภาคธนาคารตุรกีแม้จะยังไม่ปะทุขึ้นมาชัดเจน แต่สถานการณ์ในด้านการจัดหาเงินทุนจากต่างประเทศและค่าเงินที่เรื้อรังเมื่อผนวกกับความเชื่อมั่นที่ยังสั่นคลอนของนักลงทุน ภาคธนาคารตุรกีก็อาจเผชิญปัญหาที่รุนแรงขึ้นในอนาคตได้เช่นกัน
ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ
สหรัฐฯได้แสดงให้เห็นถึงอำนาจที่มีเหนือระบบการเงินและเศรษฐกิจโลก เพราะเพียงแค่ tweet เดียวจากประธานาธิบดี Trump ที่ขู่จะขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมอีกเท่าตัวกับตุรกีก็ทำให้ค่าเงิน Lira ร่วงลงต่อเนื่องทำจุดต่ำสุดใหม่ในช่วงค่ำวันที่ 10 สิงหาคม 2018 สหรัฐฯเองแม้จะไม่ใช่คู่ค้าสำคัญรายใหญ่ของตุรกีเหมือนอย่างสหภาพยุโรป แต่สหรัฐฯก็เป็นพันธมิตรสำคัญของตุรกีใน NATO อีกทั้งสหรัฐฯเองเป็นศูนย์กลางของระบบการเงินโลก เป็นเจ้าของเงินดอลลาร์
การที่ตุรกีมีปัญหากับสหรัฐฯในกรณีของการกักตัวหมอสอนศาสนา Andrew Brunson, จุดยืนในเรื่องของซีเรีย และท่าทีที่ใกล้ชิดกับรัสเซียและอิหร่าน ย่อมทำให้ตุรกีเองตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมืองและเศรษฐกิจจากสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง การที่สหรัฐฯงัดเอามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการกีดกันทางการค้ามาตอบโต้ท่าทีทางการเมืองของตุรกีในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์ทางการเงินของตุรกีเลวร้ายลงยิ่งขึ้น
แต่จุดสำคัญที่ตุรกีและนักลงทุนต้องระวังก็คือ การคว่ำบาตรธนาคารบางแห่งในตุรกีจากระบบการเงินสหรัฐฯและการเข้าถึงสภาพคล่องดอลลาร์ โดยในปัจจุบันธนาคาร Halkbank ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารของรัฐรายใหญ่ของตุรกี อยู่ระหว่างการถูกสอบสวนจากทางการสหรัฐฯในข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดมติสหประชาขาติว่าด้วยการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยหากถูกสอบสวนว่าผิดจริงก็จะถูกค่าปรับมหาศาล อย่างไรก็ตามชนวนเหตุเรื่องอิหร่านอาจถูกขยายผลไปสู่มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นต่อสถาบันการเงินตุรกีในอนาคตและธนาคารตุรกีเองก็สุ่มเสี่ยงจะถูกตัดขาดจากการเข้าถึงเงินดอลลาร์ในอนาคตได้
ซึ่งนั่นจะสร้างปัญหาเป็นลูกโซ่ลุกลามไปสู่เสถียรภาพทางการเงินโดยจะกระทบทั้งค่าเงิน Lira ที่จะร่วงลงจนคุมไม่อยู่และภาวะตื่นตระหนกของนักลงทุนและประชาชนจนส่งผลให้คนไม่เชื่อมั่นระบบธนาคารตุรกี เงินฝากไหลออกอย่างรวดเร็วจนธนาคารประสบปัญหาสภาพคล่อง ธุรกิจถูกเรียกคืนหนี้ฉับพลันและไม่สามารถใช้คืนได้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวหากเกิดขึ้นก็ย่อมไม่ต่างจากไทยช่วงปี 1997
การเมืองแทรกแซงธนาคารกลางมากขึ้น
ธนาคารกลางตุรกีเป็นอีกประเด็นที่กระทบค่าเงิน Lira ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตุรกีเองหากดำเนินนโยบายตามหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ คุมฟองสบู่ในภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ดึงอัตราเงินเฟ้อ และรักษาเสถียรภาพค่าเงิน
อย่างไรก็ตามการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อย่อมขัดกับวาระทางการเมืองของรัฐบาล AKP ตามที่กล่าวไว้ในบทความตอนที่แล้ว อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นย่อมทำให้กลไกทางเศรษฐกิจรัฐบาล AKP ออกแบบไว้ชะลอตัวทั้งระบบ ฉะนั้นตราบใดที่ตุรกียังไม่เปลี่ยนโมเดลทางเศรษฐกิจที่ลดการพึ่งพาการขยายตัวของสินเชื่อและการลงทุนที่มากเกินไป รัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดี Erdogan ย่อมต้องแสดงท่าทีแทรกแซงธนาคารกลางตุรกีเป็นระยะๆ
ทำให้ธนาคารกลางตุรกีไม่สามารถใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่อย่างเต็มที่เพื่อยับยั้งวิกฤตค่าเงิน Lira ที่คุกคามตุรกีอยู่ในปัจจุบัน ยิ่งตุรกีปล่อยให้สถานการณ์ด้านนโยบายการเงินเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อสถาบันทางเศรษฐกิจตุรกีนับวันมีแต่จะถดถอย และทำให้ต้นทุนการต่อสู้วิกฤตการเงินสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากนักลงทุนจะประเมินความเสี่ยงตุรกีใหม่ทั้งหมดและผนวกเอาความเสี่ยงจากภาคการเมืองเข้าไปในสมการการลงทุนมากขึ้น ตุรกีจะเผชิญกับเงินทุนไหลออกที่แรงขึ้น
ทำให้ค่าเงิน Lira ตกลงอย่างรวดเร็ว และธนาคารกลางตุรกีก็จำต้องขึ้นดอกเบี้ยในปริมาณที่สูงขึ้นเพื่อรั้งไม่ให้เงินทุนไหลออก ซึ่งนั่นย่อมมีผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจตุรกีให้ชะลอตัวลง และมีผลกระทบไปถึงความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชนที่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นด้วย
ประเมินผลกระทบกรณีวิกฤตลุกลาม
วิกฤตที่เกิดขึ้นกับตุรกีในรอบนี้เกิดในบริบทที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเกิดความตึงเครียดมากขึ้นจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มยกระดับมากขึ้นหลังจากการเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐฯยังคงไร้ความคืบหน้า ขณะเดียวกันก็เกิดวิกฤตค่าเงินในประเทศเกิดใหม่อื่นๆร่วมกับตุรกีด้วยไม่ว่าจะเป็นบราซิล อาร์เจนติน่าที่เผชิญปัญหาทั้งเสถียรภาพทางการเมืองและค่าเงินที่ดิ่งลงต่อเนื่อง
ในฝั่งเอเชียประเทศอินเดียและอินโดนีเซียก็เผชิญภาวะค่าเงินถอยรูดลงในช่วงที่ผ่านมาเนื่องมาจากการไหลออกของเงินทุนต่างชาติท่ามกลางค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังเช่นเดียวกับตุรกี รัสเซียเองแม้จะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากแต่การเผชิญการคว่ำบาตรรอบใหม่ก็ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิ้ลตกต่ำลงเช่นกัน
ฉะนั้นแล้ววิกฤตที่เกิดกับตุรกีสามารถทำให้นักลงทุนเกิดการ panic ต่อสินทรัพย์ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่มากขึ้น โดยตลาดจะเริ่มพุ่งเป้าไปยังประเทศที่อาจมีอาการคล้ายตุรกีมากขึ้น นั่นคือ ประเทศที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง เงินเฟ้อพุ่งทะยาน และมีหนี้ต่างประเทศมาก
อีกฟากหนึ่งที่หลายฝ่ายเป็นกังวลก็คือ ธนาคารในกลุ่ม Euro Zone ที่มีการปล่อยกู้ให้กับตุรกีมาก อย่างไรก็ตามหากดูโครงสร้างของสินเชื่อที่ธนาคารจากกลุ่ม Euro Zone นั้นจะพบว่ากระจุกตัวในประเทศใหญ่ๆเพียง 4 ประเทศได้แก่ สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี โดยส่วนมากเป็นเงินกู้ระยะยาว
ข้อมูลจาก BIS ระบุว่า ยอดเงินกู้ที่ปล่อยในตุรกี ณ สิ้นปี 2017 เป็นจำนวนเงิน 264,755 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้เป็นเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 89,660 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากเทียบกับขนาดงบดุลและฐานทุนของสถาบันการเงินทั้งในยุโรปและจากภูมิภาคอื่นที่มาปล่อยสินเชื่อในตุรกีจะพบว่า สัดส่วนการปล่อยกู้ในตุรกีนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับการปล่อยกู้ในที่อื่นๆ
อีกทั้งหากธุรกิจในตุรกีมีปัญหาขึ้นมา รัฐบาลตุรกีก็พร้อมเข้าช่วยเหลือและธนาคารจากต่างประเทศอาจมีการผ่อนปรนเงื่อนไขเงินกู้ให้ลูกหนี้สามารถมีกำลังปล่อยกู้ได้ อีกทั้งกลุ่ม Euro Zone มีกลไกอย่าง ESM หรือ European Stability Mechanism ที่จะช่วยกอบกู้วิกฤตการเงินในกลุ่ม Euro Zone เพื่อไม่ให้ลุกลามใหญ่โต ฉะนั้นปัญหาหนี้เสียในตุรกีไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพทางการเงินในยุโรปได้ตราบใดที่ระบบธนาคารในตุรกียังมีความมั่นคงและหนี้เสียยังไม่สูงมาก โดยระยะสั้นตลาดอาจมีการเทขายเงินยูโรและสินทรัพย์ในยุโรปออกมาตามภาวะตื่นตระหนกต่อปัญหาในตุรกีเป็นระยะๆจนกว่าทุกอย่างจะชัดเจน
ทางรอดจากวิกฤตของตุรกี
แม้ตุรกีจะเผชิญวิกฤตค่าเงินที่รุนแรงและภาคธนาคารตุรกีมีความเสี่ยงที่มากขึ้น แต่หากเทียบกับประเทศที่เผชิญวิกฤตในตอนนี้อย่างอาร์เจนติน่าแล้ว ตุรกีนับว่ายังมีความมั่นคงที่มากกว่าในเชิงเปรียบเทียบ สถานการณ์ของตุรกียังอยู่ในภาวะที่สามารถยับยั้งไม่ให้วิกฤตลุกลามไปไกลกว่านี้ได้ อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ต้องขึ้นกับผู้นำทางการเมืองด้วยว่ามีความตั้งใจจะแก้ปัญหานี้แค่ไหนและมีเป้าหมายทางการเมืองต่อไปเป็นเช่นไร รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองรอบบ้านๆตุรกีพัฒนาไปเช่นใด ซึ่งทั้งหมดย่อมกระทบการคำนวณผลได้ผลเสียทางการเมืองและทางนโยบายของการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ตุรกีเผชิญอยู่ โดยทางเลือกที่ตุรกีจะสามารถใช้แก้ปัญหาวิกฤตการเงินที่เป็นอยู่มีดังต่อไปนี้
ขอความเชื่อเหลือจาก IMF
การขอความช่วยเหลือจาก IMF นั้นในทางปฏิบัติแล้วเป็นทางเลือกแรกที่ผู้นำตุรกีย่อมต้องปัดทิ้งแน่นอนและแทบจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย เนื่องจากสไตล์การบริหารแนวชาตินิยมของประธานาธิบดี Erdogan ที่โจมตีตะวันตกว่ากำลังก่อสงครามทางเศรษฐกิจกับตุรกี อีกทั้งการให้ IMF เข้ามาเป็นเจ้าหนี้ย่อมทำให้ตุรกีสูญเสียอิสระด้านการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจเพื่อแลกกับเงินกู้ที่ IMF เสนอ
นั่นย่อมไม่เป็นผลดีทางการเมืองต่อรัฐบาลนาย Erdogan และพรรค AKP เพราะเท่ากับเขาผิดคำพูดที่ให้ไว้ต่อผู้สนับสนุน อีกทั้งการเข้ามาของ IMF ย่อมหมายถึงการต้องรัดเข็มขัดให้มากขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรักษาค่าเงิน และอาจรวมถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและระงับอภิมหาโครงการลงทุนต่างๆเพื่อตัดลดรายจ่ายและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งย่อมทำให้กลไกเศรษฐกิจที่รัฐบาล Erdogan วางไว้ชะงักลงทันทีและกระทบกับฐานทางการเมืองของเขา
นอกจากนั้นนโยบายที่ตึงเกินไปของ IMF ย่อมเสี่ยงต่อการชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจตุรกีจนนำมาสู่ความไม่สงบทั่วประเทศได้ รัฐบาล Erdogan ย่อมต้องให้น้ำหนักต่ออธิปไตยทางนโยบายและความมั่นคงภายในก่อนการเร่งหาเงินกู้ต่าวประเทศแบบเร่งด่วน อีกทั้งตุรกีเองยังมีทุนสำรองมากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ในมือซึ่งจะช่วยให้ตุรกีนำมาใช้บริหารสถานการณ์ให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้
ความร่วมมือกับสหภาพยุโรป
สหภาพยุโรปคือ คู่ค้าและนักลงทุนรายใหญ่ในตุรกี มีความสำคัญกับเศรษฐกิจตุรกีมากกว่าสหรัฐฯ อีกทั้งสหภาพยุโรปเองก็มีคนตุรกีหลายล้านคนทำงานอยู่ เป็นแหล่งรายได้หลักที่นำเงินกลับเข้าประเทศในแต่ละปี ตุรกีเองยังมีความสำคัญกับยุโรปในด้านความมั่นคงในฐานะพันธมิตรใน NATO อีกทั้งตุรกียังเป็นด่านสำคัญที่กันไม่ให้ผู้อพยพจากตะวันออกกลางทะลักเข้าไปในประเทศกลุ่ม EU ด้วย
ล่าสุดนาย Berat Albayrak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตุรกีได้ไปเยือนฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2018 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และมีกำหนดการเยือนอังกฤษและเยอรมนีในอีก 1 สัปดาห์ถัดมาเพื่อหารือเรื่องความสัมพันธ์และความร่วมมือต่างๆ ท่ามกลางการเผชิญวิกฤตการเงินของตุรกี แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของยุโรปในสมการนโยบายของตุรกีในยามนี้ โดยทางยุโรปเองก็เห็นตรงกับกับตุรกีในเรื่องของอิหร่านที่ต่างไม่เห็นด้วยที่สหรัฐฯออกจากข้อตกลง JCPOA และกลับมาคว่ำบาตรอิหร่าน
ขณะเดียวกันทางการ EU เองก็แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์วิกฤตการเงินในตุรกีด้วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากตุรกีไม่ได้เป็นชาติสมาชิก EU และไม่ได้ใช้เงินยูโร การขอความช่วยเหลือทางการเงินจากยุโรปจึงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตามชาติมหาอำนาจใน EU เองสามารถใช้ท่าทีทางการเมืองและแรงหนุนจากภาคธุรกิจเพื่อตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นและพันธะระยะยาวที่มีต่อเศรษฐกิจตุรกี และอาจมีข้อตกลงการลงทุนจากยักษ์บริษัทข้ามชาติที่จะเข้าไปลงทุนในตุรกีเพิ่ม ซึ่งตุรกีเองถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีความได้เปรียบทางที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และค่าเงินที่อ่อนค่าลงมาก ทำให้ตุรกีมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันด้วย ฉะนั้นแล้วสิ่งที่ตุรกีจะได้จาก EU จะเป็นการให้การรับรองตุรกีในระยะยาวและเม็ดเงินลงทุนที่จะเข้ามาต่อเนื่องมากกว่าเงินกู้ระยะสั้นที่จะใช้ได้เลย ซึ่งจุดนี้ก็ต้องดูท่าทีของฝ่ายการเมืองใน EU ด้วยว่ามีเงื่อนไขเช่นไร เพราะที่ผ่านมา EU กับตุรกีเองก็มีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น การให้ความช่วยเหลือกับตุรกีในยามนี้ย่อมต้องมีข้อต่อรองบางอย่างที่ตุรกีต้องนำไปพิจารณาและกำหนดท่าทีต่อไปเช่นกัน
จีน ตะวันออกกลาง
ทางเลือกต่อมาของตุรกีก็คือ หันเข้าหาพันธมิตรในเอเชียทั้งจีนและตะวันออกกลาง โดยหลังจากตุรกีเผชิญกับแรงเทขายในตลาดเงินและตลาดทุนอย่างหนักในช่วงต้นเดือนสิงหาคม กาตาร์เป็นชาติแรกที่เสนอความช่วยเหลือทางการเงินที่เป็นรูปธรรมที่มีผลทันที โดยวันที่ 15 สิงหาคม 2018 ทางการตุรกีมีแถลงการณ์ออกมาว่า กาตาร์ยินดีที่จะให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่ตุรกีมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์ที่จะมาในรูปของการลงทุนระยะยาวและเงินฝากสกุลดอลลาร์ในระบบธนาคารตุรกี ซึ่งทันทีที่ข่าวนี้ออกมาก็สร้างผลบวกต่อค่าเงินตุรกีให้แข็งค่ากลับมาทันที ขณะที่ท่าทีฝั่งจีนเองก็แสดงความเป็นห่วงและให้การสนับสนุนตุรกีในการผ่านพ้นวิกฤตไปอย่างลุล่วงในแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศในวันที่ 17 สิงหาคม 2018 เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามจีนเองไม่แสดงออกอย่างชัดเจนในการเสนอมาตรการทางการเงินช่วยเหลือตุรกีที่เป็นรูปธรรมและผลทันทีแบบกาตาร์ กระนั้นก็ตามตุรกีสามารถขอความร่วมมือในการต่อสู้กับวิกฤตจากจีนได้ โดยจีนเองสามารถเสนอตัวเป็นพันธมิตรการลงทุนระยะยาวในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกับตุรกีได้ผ่านช่องทางหลากหลายไม่ว่าจะเป็นธนาคาร China Development Bank หรือองค์การข้ามชาติที่จีนเป็นแกนนำอย่าง Asian Infrastructure Investment Bank ที่สนับสนุนเรื่อง Belt and Road Initiative หรือ New Development Bank ที่เป็นเสมือน World Bank ของกลุ่ม BRICS อย่างไรก็ตามจีนเองก็มีรปัญหาด้านข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ การที่จีนจะระดมทรัพยากรมาพยุงตุรกีอย่างเต็มที่ย่อมทำได้อย่างมีข้อจำกัด เทียบกับพันธมิตรในตะวันออกกลางที่ใกล้ชิดตุรกีมากกว่าในแง่ของภูมิศาสตร์ ความช่วยเหลือจากฝั่งตะวันออกกลางดูจะมีความมั่นคง น่าเชื่อถือ และครบเครื่องทั้งสภาพคล่องระยะสั้นและเงินลงทุนระยะยาวมากกว่าเมื่อเทียบกับฝั่งจีน
นโยบายในประเทศ
วิกฤตที่เกิดขึ้นกับตุรกีเป็นเรื่องของโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว การที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้จำเป็นต้องอาศัยเจตจำนงที่ชัดเจนและจริงจังจากภาคการเมืองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย อย่างไรก็ตามในระยะสั้นๆนั้นโอกาสที่เราจะเห็นธนาคารกลางตุรกีเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดหวังนั้นยังมีจำกัด
เนื่องจากจนถึงขณะนี้เราก็ยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจนจากฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะประธานาธิบดี Erdogan ที่ต้องถอยจากท่าทีปฏิปักษ์ต่อดอกเบี้ยสูงอย่างชัดเจน อีกทั้งเขายังไม่ไฟเขียวให้ธนาคารกลางตุรกีสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้เต็มที่ แม้ที่ผ่านมาธนาคารกลางตุรกีจะพยายามใช้มาตรการที่หลากหลายในการสกัดการเก็งกำไรในตลาดและจำกัดสภาพคล่องของเงิน Lira เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน Lira เอาไว้ แต่นั่นก็ยังไมเพียงพอที่จะหยุดการไหลลงของค่าเงินได้ ฉะนั้นแล้วตราบใดที่ตุรกียังไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างจริงจัง มาตรการระยะสั้นต่างๆที่ขนออกมาก็ทำได้แค่บรรเทาสถานการณ์มากกว่าที่จะแก้ปัญหาอย่างเฉียบขาด
ขณะที่ในระยะกลางถึงระยะยาว ตุรกีต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่เพื่อลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ลดการเป็นหนี้ต่างประเทศ และควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ตุรกีสามารถอาศัยจุดได้เปรียบจากค่าเงินที่อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมาเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาภาคการส่งออกให้เติบโตได้ อย่างไรก็ตามตุรกีจะต้องสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้ได้ต่อเนื่องเพื่อพัฒนาฐานการผลิตและเทคโนโลยีให้แข่งขันได้ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นในสถาบันทางเศรษฐกิจต่างๆให้กลับคืนมาด้วย
รวมถึงต้องทำให้นักลงทุนแน่ใจได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและสหรัฐฯจะไม่เลวร้ายไปกว่านี้และเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน หากตุรกีสามารถเรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการเมืองกลับมา พร้อมนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่จูงใจและค่าเงิน Lira เริ่มมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจตุรกีย่อมมีโอกาสฟื้นตัวและเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้ อย่างไรก็ตามในระยะสั้นก็อาจเกิดภาวะชะลอตัวลงได้เนื่องจากต้องใช้ยาแรงในการคุมเงินเฟ้อ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ขึ้นกับท่าทีของประธานาธิบดี Erdogan ว่าจะเดินเกมเช่นไรต่อในอนาคต
สรุป
พัฒนาการของวิกฤตในตุรกีเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายทั้งนักลงทุน ผู้ประกอบการ และฝ่ายนโยบายควรมีการจับตาและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จนถึงตอนนี้สถานการณ์ของตุรกีนั้นยังห่างไกลจากสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วทั้งเอเชียในช่วงปี 1997-1998 ที่ทั้งค่าเงินร่วงลงอย่างหนัก สถาบันการเงินล้มครืนลงและฉุดลากให้เศรษฐกิจดำดิ่งตามไปด้วย ทั้งนี้เนื่องจากแม้ว่าตุรกีจะเผชิญกับค่าเงินที่ร่วงอย่างหนักก็ตาม แต่จนถึงขณะนี้ระบบธนาคารตุรกีโดยรวมยังมีความมั่นคงและหนี้เสียยังไม่พุ่งขึ้น อย่างไรก็ตามภาระหนี้ต่างประเทศที่สูงก็ยังเป็นเรื่องน่ากังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตของภาคเอกชนในตุรกีเองที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารในตุรกีได้เช่นกัน จุดอื่นที่ต้องระวังคือ การรักษาระยะห่างทางการเมืองระหว่างรัฐบาล AKP กับสหรัฐฯและธนาคารกลางตุรกี
หากสถานการณ์วิกฤตตุรกีมีความรุนแรงมากขึ้นจากวิกฤตขาดความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง สินทรัพย์ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองและมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงจะถูกเทขายตามตุรกี เกิดเป็น Contagion Effect ของการเทขายในครั้งนี้ได้ เช่นเดียวกับสินทรัพย์และค่าเงินยูโรที่จะถูกเทขายตามไปด้วย อย่างไรก็ตามธนาคารในกลุ่ม Euro Zone ไม่ได้มีการปล่อยกู้ในตุรกีในปริมาณที่สูงมากเมือเทียบกับฐานสินทรัพย์รวม ปัญหาหนี้เสียในตุรกีจึงไม่กระทบฐานะการเงินของธนาคารในยุโรปมากนัก
ในส่วนของการแก้ปัญหาของตุรกีนั้น ตุรกียังสามารถบริหารจัดการให้วิกฤตครั้งนี้ให้ผ่านไปได้ โดยหากเทียบกับกรณีของอาร์เจนติน่าที่ตอนนี้ต้องการเงินจาก IMF อย่างเร่งด่วน ตุรกีสามารถที่จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่ภายในประเทศและหาช่องทางจากพันธมิตรในต่างประเทศเช่นกัน แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นกับการตัดสินใจของประธานาธิบดี Erdogan ว่าจะบริหารเศรษฐกิจอย่างไร และสิ่งที่ทำนั้นตอบสนองเป้าหมายทางการเมืองของเขาและพรรค AKP แค่ไหน
ตุรกีนั้นสามารถอาศัยความสำคัญทางยุทธศาสตร์ขอความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินไปยังพันธมิตรและคู่ค้าสำคัญไม่ว่าจะเป็น EU ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่จีนเอง ขณะเดียวกันด้วยทรัพยากรที่มีในมือทั้งทุนสำรองมากกว่า 120,000 ล้านดอลลาร์ เครื่องมือทางด้านการเงินและการคลัง ตุรกีสามารถบริหารจัดการเพื่อลดความผันผวนทางค่าเงินและซื้อเวลาเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศในระยะยาวได้ โดยตุรกีสามารถอาศัยวิกฤตค่าเงินอ่อนในปัจจุบันเป็นฐานสนับสนุนการส่งออกและการท่องเที่ยวได้
บทความที่เกี่ยวข้อง เข้าใจวิกฤตตุรกี: สาเหตุแห่งวิกฤต