22-11-2018

Brexit Monitor: ประเมินโค้งสุดท้าย Brexit

บทความโดย

สถานการณ์ความเสี่ยงด้าน Brexit ส่อเค้าแหลมคมนับตั้งแต่การลาออกของรัฐมนตรี 2 รายสำคัญในรัฐบาล Theresa May คือ นาย David Davis อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง Brexit และนาย Boris Johnson อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและผู้นำกลุ่มรณรงค์เพื่อออกจากสหภาพยุโรปหรือ Leave Group ในช่วงการประชามติเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา โดยพอจะประมวลสถานการณ์สำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ดังนี้

Timeline ความเคลื่อนไหวสำคัญ

สถานการณ์ในตลาดการเงินก่อนและหลัง Brexit

ค่าเงินปอนด์ ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อนการลงประชามติ Brexit จนถึงปัจจุบันซึ่งเหลือเวลาเพียงแค่ 4 เดือนเศษก่อนเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2019 ที่อังกฤษจะพ้นสภาพการเป็นสมาชิก EU อย่างเป็นทางการ ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษมีความผันผวนสูงและถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยเรื่อง Brexit เป็นหลัก

โดยหลังประชามติเป็นต้นมา ตลาดการเงินจะหวั่นไหวกับโอกาสของการเกิดหรือไม่เกิดเหตุการณ์ No-Deal Brexit ซึ่งคือการที่อังกฤษออกจาก EU โดยไม่มีกรอบทางกฎหมายรองรับการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะก่อให้เกิดความปั่นป่วนทั้งในแง่ของการค้า ระบบศุลกากร สิทธิการใช้ทรัพยากรทางทะเล การเคลื่อนย้ายเงินทุน การเดินทาง และข้อตกลงทางสัญญาต่างๆ

การลาออกของนาย Raab ออกจากตำแหน่งทำให้ตลาดตั้งคำถามอีกครั้งถึงโอกาสในการเกิด No-Deal Brexit ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์เกิดความผันผวนและอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 2 ปีนับตั้งแต่การทำประชามติ Brexit

พันธบัตรรัฐบาล การเกิด Brexit ก่อให้เกิดการแตกตื่นในตลาดการเงินอย่างมาก ความผันผวนที่เพิ่มขึ้นในตลาดหุ้นและค่าเงินปอนด์ส่งผลให้นักลงทุนขนเงินมาพักในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาล สะท้อนมุมมองที่เศรษฐกิจอังกฤษอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยและธนาคารกลางอังกฤษหรือ BOE อาจชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ Fed เริ่มการถอน QE และขึ้นดอกเบี้ย

ตลาดหุ้นอังกฤษ ภาพรวมของตลาดหุ้นอังกฤษนั้นเผชิญความผันผวนที่สูงขึ้นจาก Brexit อย่างไรก็ตาม ค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงส่งผลให้หุ้นกลุ่มส่งออกได้ประโยชน์ ส่งผลให้ราคาหุ้นพุ่งทะยานหลังจาก Brexit อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

การที่อังฤษเผชิญวิกฤตการเมืองภายในส่งผลให้นักลงทุนหวาดเกรงว่า สถานการณ์ No-Deal Brexit อาจเกิดขึ้นได้ ประกอบกับปัจจัยจากนอกประเทศเรื่อง Trade War และการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ส่งผลให้ราคาหุ้นอังกฤษปรับลดลงต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่นาย David Davis และ Boris Johnson แกนนำสำคัญในฝั่ง Leave และอดีตครม.ในรัฐบาล May ลาออก

ค่าเงินปอนด์รายวัน 6 เดือนล่าสุด ที่มา: stockcharts.com

 

ค่าเงินปอนด์รายสัปดาห์ 3 ปีล่าสุด ที่มา: stockcharts.com
อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษรายวัน 3 ปีล่าสุด ที่มา: stockcharts.com

ดัชนี FTSE 100 รายวัน 6 เดือนล่าสุด ที่มา: Yahoo Finance
ดัชนี FTSE 100 รายสัปดาห์ 3 ปีล่าสุด ที่มา: Yahoo Finance

ประเมิน”Brexit”ผลกระทบและสถานการณ์ที่เป็นไปได้

อังกฤษและ EU เหลือเวลาเพียง 4 เดือนเพื่อให้บรรลุข้อตกลงในให้อังกฤษการถอนตัวออกจาก EU อย่างราบรื่นที่สุด อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีขั้นตอนอีกมากในการให้ร่างดังกล่าวมีผลบังคับใช้โดยทั้งอังกฤษและ EU ต้องผลักดันให้ร่างดังกล่าวผ่านการรับรองในกลไกรัฐสภาของทั้งอังกฤษคือ House of Commons และรัฐสภายุโรปหรือ European Parliament โดยอุปสรรคสำคัญอยู่ที่ฝั่งอังกฤษซึ่งนายกฯ May กำลังเผชิญแรงต้านอย่างหนักจากภายในพรรคอนุรักษ์นิยมเองและจากพรรค DUP แม้ตอนนี้นายกฯ May จะได้รับการสนับสนุนจากครม.ปีก Brexit ที่เหลืออยู่ก็ตาม แต่ May ต้องเผชิญกับความท้าทายในการเจรจาร่างใหม่ให้เป็นไปตามที่กลุ่ม Brexit ต้องการ

อย่างไรก็ตามประเด็นด้านเงื่อนเวลาถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ Brexit ในช่วง 4 เดือนที่เหลืออยู่ แม้ทาง EU ต้องการที่จะจัดประชุมนัดพิเศษในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2018 แต่สถานการณ์การเมืองในลอนดอนไม่น่าจะเอื้อให้การประชุมนัดพิเศษเพื่อรับรองร่างข้อตกลง Brexit เกิดขึ้นได้ โดยเมื่อพิจารณาตารางการประชุมรัฐสภาอังกฤษที่ปรากฏอยู่ รัฐบาลนายกฯ May มีเวลาถึงแค่ 19 ธันวาคม 2018 ก่อนรัฐสภาอังกฤษหยุดยาวช่วงคริสต์มาสตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2018 จนถึง 7 มกราคม 2019 และจะมีวันหยุดอีกช่วงในวันที่ 14-25 กุมภาพันธ์ 2019 ฉะนั้นแล้วตลาดการเงินในอังกฤษและยุโรปมีโอกาสที่จะเผชิญความผันผวนที่สูงขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2018 โดยสถานการณ์การเมืองในลอนดอนที่นักลงทุนต้องจับตามองและเตรียมรับมือนับแต่นี้เป็นต้นไปมีดังต่อไปนี้

  1. นายกฯ May ถูกโหวตออกจากตำแหน่ง ปัจจุบันโอกาสเกิดเหตุการณ์นี้มีน้อยหลังจากที่ Theresa May ยังได้รับเสียงสนับสนุนจากคนในรัฐบาล อย่างไรก็ตามหาก May ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกฯอังกฤษ ย่อมก่อให้เกิดวิกฤตสุญญากาศอำนาจในรัฐบาลได้ ค่าเงินปอนด์น่าจะร่วงลงไปทดสอบในช่วง 1.2500-1.2600 ดอลลาร์ต่อปอนด์ทันทีที่ข่าวออก อย่างไรก็ตามรัฐบาลอังกฤษน่าจะได้ผู้นำคนใหม่หลังจาก May ถูกถอดถอน โดยนายกฯคนใหม่น่าจะเป็นสาย Brexit ซึ่งมีแนวโน้มที่จะแข็งกร้าวในการเจรจากับ EU เพื่อปรับแก้ข้อตกลง บรรยากาศระหว่างอังกฤษกับ EU จะเต็มไปด้วยการเผชิญหน้าและความไม่แน่นอนมากขึ้น อย่างไรก็ตามข้อดีของสถานการณ์นี้ก็คือ รัฐบาลและรัฐสภาอังกฤษจะมีความเป็นเอกภาพมากขึ้นและ EU อาจผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการเพื่อให้บรรลุข้อตกลง Brexit ที่ยอมรับได้ก่อนเส้นตาย 29 มีนาคม 2019
  2. นายกฯ May ประกาศยุบสภา ตัวแปรสำคัญที่จะนำไปสู่สถานการณ์นี้คือการแพ้โหวตร่างข้อตกลง Brexit ในสภาล่างของ Theresa May แต่บทเรียนที่ผ่านมาในการเลือกตั้งปี 2017 แสดงให้เห็นว่า การเดิมพันทางการเมืองของ May นั้นผิดพลาดอย่างร้ายแรง การยุบสภาเพื่อล้างไพ่ในพรรคจึงเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งสำหรับ Theresa May จากภาวะที่อังกฤษมีความแตกแยกทางความคิดที่รุนแรงและรัฐบาลประสบปัญหาด้านคะแนนนิยม อีกทั้งการยุบสภาในช่วงใกล้สิ้นปี 2018 ย่อมทำให้กระบวนการต่างๆที่เกี่ยวกับข้อตกลง Brexit จะหยุดนิ่งและเดินต่อไปไม่ได้จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ สถานการณ์ยุบสภาย่อมส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ดิ่งลงอย่างรวดเร็วและเกิดความผันผวนอย่างกว้างขวางไปทั่วตลาดเงินและตลาดทุนทั้งยุโรป โดยระหว่างการหาเสียงค่าเงินปอนด์จะเหวี่ยงตัวรายวันตามผลโพลล์ที่ออกมา กรณีเลวร้ายค่าเงินปอนด์จะไปทดสอบแนวรับสำคัญที่ 1.2000 ดอลลาร์ต่อปอนด์ได้ ขณะที่หาก May มีโอกาสกุมเสียงในสภามากขึ้นในระดับที่มากกว่า 320 เสียงขึ้นไปซึ่งเป็นคะแนนขั้นต่ำในการโหวตร่าง Brexit ฉบับปัจจุบันให้ผ่านสภา ย่อมส่งผลให้เกิด sentiment ที่เป็นบวกต่อตลาดเงินตลาดทุนยุโรปได้ ค่าเงินปอนด์มีสิทธิ์ยืนเหนือ 1.3000 ดอลลาร์ต่อปอนด์ได้ เช่นเดียวกับค่าเงินยูโรที่จะได้อานิสงส์ด้วยเช่นกัน แต่ถ้า May แพ้เลือกตั้งตลาดจะประเมินว่าโอกาสเกิด No-Deal Brexit มีสูงขึ้น ค่าเงินปอนด์จะถูกเทขายอย่างหนักและมีโอกาสต่ำกว่า 1.2000 ดอลลาร์ต่อปอนด์ได้ ขณะที่เงินยูโรก็มีโอกาสหลุด 1.1000 ดอลลาร์ต่อยูโรเช่นกัน
  3. ประชามติครั้งที่ 2 การประกาศให้มีประชามติครั้งที่ 2 เพื่อยกเลิกการออกจากสหภาพยุโรปของประเทศอังกฤษจะสร้างความไม่แน่นอนที่สูงมากไม่แพ้การประกาศยุบสภา กรณีนี้จะทำให้กระบวนการเจรจาต่างๆหยุดชะงักเช่นกัน รัฐบาล รัฐสภา และพรรคการเมืองจะเข้าสู่สภาวะแตกแยกแบ่งขั้วรุนแรงอีกครั้ง สภาพสังคมในอังกฤษช่วงนี้ก็จะเกิดการขัดแย้งทางความคิดเช่นกันในเรื่องอังกฤษควรเดินหน้าหรือยกเลิก Brexit ผลประชามติที่ออกมาย่อมสูสีและไม่อาจชี้ขาดได้ หากแม้ว่าประชามติออกมาให้ยกเลิก Brexit แต่หากผลขาดกันไม่มากอาจสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มการเมืองและคนอังกฤษที่สนับสนุน Brexit แต่แรกได้ ประเทศอังกฤษจะอยู่ในสภาวะที่ขาดเอกภาพและเสี่ยงต่อจลาจลทางการเมืองได้ ขณะที่หากผลออกมาฝั่งสนับสนุน Brexit ยังชนะชัดเจนก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำให้รัฐบาลต้องมีท่าทีที่แข็งกร้าวกับ EU อย่างชัดเจนและนำไปสู่สถานการณ์ No-Deal Brexit ได้ในที่สุด ทั้งนี้การทำประชามติครั้งที่ 2 นั้นสถานการณ์ค่าเงินปอนด์หนีไม่พ้นการทดสอบ 1.2000 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ขณะที่เงินยูโรก็มีโอกาสแตะ 1.1000 ดอลลาร์ต่อยูโรเช่นกัน หากว่าเกิดสถานการณ์จลาจลทางการเมืองปะทุขึ้นหลังสิ้นสุดประชามติกรณีกลุ่ม Remain ชนะไม่ขาดและ Brexit ไม่พอใจ ค่าเงินปอนด์อาจลงไปทดสอบจุดต่ำสุดเดิมในรอบ 2 ปีที่ 1.1500 ดอลลาร์ต่อปอนด์ได้
  4. .นายกฯ May อยู่ต่อและแพ้เกมสภา กรณีนี้มองว่านายกฯ May จะไม่ทำการเดิมพันทางการเมืองไม่ว่ากรณีใดๆทั้งยุบสภาหรือเสี่ยงทำประชามติครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอังกฤษจะเผชิญแรงกดดันในด้านเงื่อนเวลาที่บีบลงมาเรื่อยๆ การพ่ายแพ้ต่อการโหวตในสภาช่วงเดือนธันวาคมจะทำให้ตลาดเกิดอาการ panic ถึงความเป็นไปได้ในการเกิด No-Deal Brexit ได้ ตลาดหุ้นอังกฤษและค่าเงินปอนด์จะถูกเทขายอย่างหนักและความผันผวนจะสูงขึ้น เงินปอนด์จะหลุด 1.2500 อย่างรวดเร็วและมีโอกาสทดสอบที่ระดับ 1.2000 ดอลลาร์ต่อปอนด์ได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตามค่าเงินปอนด์น่าจะผันผวนในช่วง 1.2200-1.2500 ต่อไปจนกว่าจะเกิดความชัดเจนในการโหวต Brexit Deal ครั้งต่อไป ซึ่งหากรัฐบาล May ผลักดันการแก้ไขร่างข้อตกลง Brexit กับ EU ได้สำเร็จและผ่านการลงคะแนนเสียงในสภาได้ sentiment ในตลาดจะกลับมาเป็นบวกทันทีและมีโอกาสที่เงินปอนด์จะวิ่งไปแตะ 1.3500 ได้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2019 แต่ถ้าหากจบลงที่ No-Deal Brexit ในท้ายที่สุด ก็มีโอกาสที่ค่าเงินปอนด์จะถูกเทขายจนหลุด 1.2000 ดอลลาร์ต่อปอนด์ได้ในระยะสั้นเช่นกัน
  5. . ข้อตกลง Brexit ร่างปัจจุบันผ่านสภา  กรณีนี้จะทำให้ตลาดเงินตลาดทุนยุโรปคึกคักได้ในช่วงก่อนสิ้นปี เงินปอนด์และเงินยูโรจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับดัชนีราคาหุ้นในยุโรปที่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ในช่วงสั้นๆ ค่าเงินปอนด์จะฟื้นตัวขึ้นมาเหนือ 1.3000 ดอลลาร์ต่อปอนด์ได้จากการที่ตลาดมีความหวังกับ Smooth Brexit และ BOE น่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยได้มากขึ้นในอนาคต ขณะที่เงินยูโรจะได้อานิสงส์เช่นกันและจะซื้อขายในช่วง 1.1500-1.1600 ดอลลาร์ต่อยูโรได้จากแรงหนุนในเรื่อง Smooth Brexit พร้อมทั้งแนวโน้มด้านอัตราดอกเบี้ยในยุโรปที่จะมีความชัดเจนจาก ECB ในช่วงการประชุมเดือนธันวาคม 2018 

โดยสรุปแล้ว สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในลอนดอนจะส่งผลอย่างสำคัญต่อเส้นทาง Brexit ของอังกฤษในช่วง 4 เดือนที่เหลืออยู่ โดยกรณีที่อังกฤษและ EU สามารถเปลี่ยนผ่านในแบบ Smooth Brexit ได้ ค่าเงินปอนด์จะทะยานขึ้นมาเหนือ 1.3000 ดอลลาร์ต่อปอนด์ได้และมีโมเมนตัมไปได้สูงสุดไม่เกิน 1.3500 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ขณะที่ค่าเงินยูโรจะขยับไปซื้อขายที่ 1.1500-1.1600 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกับตลาดหุ้นอังกฤษและทั่วทั้งยุโรปที่สามารถฟื้นตัวได้ในระยะสั้นจากภาพ Brexit ที่คลี่คลายและจบลงด้วยดี

ขณะที่สถานการณ์ No-Deal Brexit นั้นจะส่งผลบอย่างรุนแรงต่อตลาดเงินตลาดทุนในอังกฤษและทั่วทั้งยุโรป เพราะกรณีนี้สุ่มเสี่ยงที่เศรษฐกิจในยุโรปจะถูกซ้ำเติมจากการค้าและการลงทุนที่จะชะลอตัวลงแรงซ้ำลงไปอีกนอกเหนือจากปัจจัยด้านสงครามการค้า ค่าเงินปอนด์และค่าเงินยูโรจะผันผวนรุนแรง โดยกรณีเลวร้ายที่สุด เงินปอนด์อาจหลุด 1.2000 ดอลลาร์ต่อปอนด์และไปทดสอบที่ระดับ 1.1500 ดอลลาร์ต่อปอนด์ได้ ขณะที่เงินยูโรก็จะถูกเทขายอย่างรวดเร็วและไปทดสอบแนวรับที่ 1.1000 ดอลลาร์ต่อยูโรได้เช่นกัน นอกจากนั้นจะเกิดการโยกเงินลงทุนออกจากตลาดหุ้นมาพักไว้ในตลาดพันธบัตรกันทั่วทั้งยุโรป รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯและทองคำจะได้อานิสงส์นี้ด้วย เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองสูงขึ้นอย่างชัดเจน ฉะนั้นแล้วสถานการณ์การเมืองในอังกฤษช่วงเดือนธันวาคม 2018 จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองทุกฝีก้าวอย่างเลี่ยงไม่ได้