06-07-2019

เมื่อระบบดอลลาร์เผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ ตอนที่1

บทความโดย

ขณะที่หน้าข่าวในสื่อหลักชั้นนำทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับการปะทะกันรายวันในสมรภูมิสงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯกับจีนนั้น โลกการเงินเองก็กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับลึกถึงโครงสร้างอย่างช้าๆแต่ต่อเนื่องอยู่เช่นกัน อันเป็นผลมาจากพลวัตการเปลี่ยนแปลงของการแข่งขันทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา

ทั้งนี้สงครามการค้าที่เกิดขึ้นและเข้มข้นเรื่อยมานับแต่ประธานาธิบดี Trump ขึ้นเถลิงอำนาจก็ส่งผลอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลก นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงความคิดของบรรดาผู้กำหนดนโยบายการเงินการลงทุนทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนถึงอนาคตของการจัดสรรเงินทุนและการคาดการณ์ความเป็นไปในระบบการเงินโลกในระยะยาวด้วย

ข้อมูลจาก IMF ระบุชัดเจนว่า สัดส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐฯในทุนสำรองระหว่างประเทศที่ธนาคารกลางทั่วโลกดูแลอยู่ลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ Trump เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะที่เงินหยวนเองก็ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐทั่วโลก อันสะท้อนจากสัดส่วนและปริมาณการถือครองเงินหยวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับเงินเยนของญี่ปุ่นเองซึ่งก็มีพัฒนาการที่น่าสนใจ

Currency Composition of Official Foreign Exchange Reserves (%)

 

Currency Composition of Official Foreign Exchange Reserves in trillion USD

ที่มา: Currency Composition of Official Foreign Exchange Reserves (COFER) Database, IMF

พัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงินโลกในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของมาตรการ QE เพื่อกอบกู้ระบบการเงินและเศรษฐกิจในประเทศเจ้าของเงินสกุลหลักดั้งเดิมและการผงาดขึ้นอย่างเข้มแข็งของจีน ทั้ง 2 อย่างนี้ก่อให้เกิดการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาพร้อมกับการขยายตัวของกิจกรรมด้านการค้า การลงทุน ปริมาณเงินและมูลค่าสินทรัพย์ที่มากขึ้น ทำให้เกิดการขยายตัวของทุนสำรองระหว่างประเทศและความต้องการสินทรัพย์การลงทุนใหม่ๆเพื่อกระจายความเสี่ยงและปรับการลงทุนให้สอดคล้องกับความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์กระทบสถานะเงินดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม มาตรการ QE ในช่วงหลังวิกฤตการเงินและการผงาดอย่างต่อเนื่องของจีนในทุกๆด้านไม่ได้ส่งผลสะเทือนในทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปยังภาพกว้างในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ด้วย โดยนอกจากจีนเองจะเข้ามาเป็นมหาอำนาจคู่แข่งในด้านเศรษฐกิจกับสหรัฐฯและค่ายตะวันตกแล้ว

จีนเองยังมีการรุกคืบในด้านการจัดระเบียบใหม่ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในภูมิภาคเอเชียและระดับโลกด้วยทั้งการผลักดันบทบาทเงินหยวนในเวทีระหว่างประเทศ, การตั้ง New Development Bank และ AIIB เพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือจากองค์กรการเงินดั้งเดิมอย่าง IMF World Bank และ ADB, การพัฒนาขีดความสามารถและอิทธิพลทางการทหารทั้งในและนอกภูมิภาคแปซิฟิก, โครงการทางสายไหมยุคใหม่หรือ BRI และยุทธศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติภายใต้ชื่อ Made in China 2025

ส่งผลให้ช่องว่างในทางองค์รวมของอำนาจระหว่างจีนและมหาอำนาจดั้งเดิมในโลกตะวันตกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้จีนเองอยู่ในฐานะที่สามารถท้าทายระเบียบโลกเดิมที่นำโดยสหรัฐฯได้ไม่ยาก

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สหรัฐฯพยายามยับยั้งการขึ้นมาของจีนด้วยมาตรการที่หนักขึ้นภายใต้รัฐบาล Trump ภายหลังความล้มเหลวต่อเนื่องของนโยบายแนวเสรีนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่มีท่าทีเกรงใจต่อจีนและเชื่อว่าสามารถชักจูงให้จีนเป็นส่วนหนึ่งของกฎระเบียบทางเศรษฐกิจเสรีได้

รัฐบาล Trump ได้มุ่งไปที่การทำลายความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจจีนผ่านนโยบายทางการค้าทั้งการขึ้นภาษีสินค้าจีนและการกีดกันการติดต่อแลกเปลี่ยนและค้าขายกับบริษัทเทคโนโลยีของจีน นโยบายที่เปลี่ยนแบบ 360 องศาของ Trump เองส่งผลให้เกิดความผันผวนอย่างมากของค่าเงินดอลลาร์และตลาดการเงินทั่วโลกทั้งอัตราแลกเปลี่ยน พันธบัตรรัฐบาล สินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดหุ้นในรอบเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา

ส่งผลให้การค้าโลกชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง กระทบความเชื่อมั่นและการสั่งซื้อในภาคการผลิต เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่งผลไปถึงความเคลื่อนไหวของดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลและนโยบายการเงินจากทิศทางขาขึ้นไปสู่การคาดการณ์เรื่องการลดดอกเบี้ยจากธนาคารกลางต่างๆในอนาคต

ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯรายสัปดาห์ในยุคของ Trump

 

อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี รายสัปดาห์ในยุคของ Trump

ที่มา: stockcharts.com

อีกด้านหนึ่งนโยบายเดินหน้าปิดล้อมจีนในสงครามทางเศรษฐกิจของ Trump เองก็ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนและเศรษฐกิจสหรัฐฯด้วยเช่นกัน และหลายครั้งเอง Trump ก็ออกมาโจมตีธนาคารกลางสหรัฐฯหรือ Fed ภายใต้การนำของ Jerome Powell ที่เขาเลือกมากับมือเอง โดยในช่วงปลายปี 2018 เขาถึงกับคิดที่จะไล่ประธาน Fed ออกในฐานที่เป็นต้นเหตุของความปั่นป่วนในตลาดหุ้น

การที่สัดส่วนของเงินดอลลาร์สหรัฐฯในพอร์ตทุนสำรองของธนาคารกลางทั่วโลกมีสัดส่วนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและชัดเจนนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2016 เรื่อยมาถึงช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกเข้าใกล้จุดที่เป็นตลาดหมีในช่วงสิ้นปี 2018 นั้น สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองต่อระบบเศรษฐกิจและการเมืองสหรัฐฯในยุคของ Trump นั้นมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นและไม่เหมาะที่จะเป็นแหล่งพักเงินในระยะยาวของธนาคารกลางทั้งหลาย แม้ว่าเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในยุคของ Trump จะเติบโตมากก็ตาม แต่ก็เป็นผลมาจากนโยบายลดภาษีครั้งใหญ่

อีกด้านก็จะกลับไปกระทบฐานะการคลังของสหรัฐฯในระยะยาวเพราะหนี้สาธารณะพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งนักลงทุนเองก็ตั้งคำถามถึง “ความอิสระทางนโยบายของ Fed” เองในการดำรงเสถียรภาพทางการเงินของระบบการเงินสหรัฐฯและค่าเงินดอลลาร์เอง และด้วยภาวะความตึงเครียดทางการค้าและการเมืองที่เข้มขึ้นและต่อเนื่องขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯด้วยแล้ว Fed เองก็อาจเลี่ยงไม่พ้นที่จะถูกหยิบยกมาเป็นเครื่องมือหรืออาวุธในสงครามทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ในระยะยาวระหว่าง 2 มหาอำนาจนี้ด้วยเช่นกัน โดยประธานาธิบดี Trump เขียนลงใน twitter ส่วนตัวเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2019 ว่า จีนจะทำการพิมพ์เงินลงมาเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการกดดันทางภาษีของสหรัฐฯและ Fed เองควรเกทับมาตรการทางการเงินสู้คืนด้วย และสุดท้ายสหรัฐฯจะชนะในเกมการค้าได้

 

สถานะดอลลาร์เริ่มสั่นคลอนตั้งแต่วิกฤตการเงิน

นอกจากการปะทะกันอย่างเข้มข้นในสมรภูมิทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯนับแต่ Trump เป็นประธานาธิบดีจะกระทบความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์อย่างรุนแรงแล้ว หากพิจารณาข้อมูลนับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2008 เป็นต้นมาจะเห็นว่า สถานการณ์ของเงินดอลลาร์นั้นเริ่มสั่นคลอนมาตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากว่าความเสียหายจากวิกฤตการเงินปี 2008 นั้นรุนแรงและสุ่มเสี่ยงที่จะลากเศรษฐกิจสหรัฐฯให้ตกต่ำรุนแรงแบบช่วง Great Depression ได้

ธนาคารกลางสหรัฐฯในยุคของ Ben Bernanke จึงทำการลดดอกเบี้ยนโยบายลงจนอยู่ในช่วง 0.00-0.25% พร้อมกับมาตรการ QE เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องทางการเงินควบคู่กับนโยบายการคลังเพื่ออุ้มสถาบันการเงินและฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผลก็คือ สหรัฐฯมีการก่อหนี้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์และมีการกู้ยืมเงินทั้งจากในประเทศและต่างประเทศในปริมาณมหาศาล ส่งผลให้ฐานะการคลังของสหรัฐฯอยู่ในตัวแดงต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการลดภาษีครั้งใหญ่ของ Trump ก็ยิ่งทำให้สหรัฐฯมีภาระด้านการขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นต่อเนื่องด้วยแม้ในยามที่สหรัฐฯไม่ได้อยู่ในวิกฤตการเงินก็ตาม

สัดส่วนการถือครองตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐฯโดยนักลงทุนต่างประเทศรายไตรมาส (% ต่อ GDP)
หนี้สาธารณะของสหรัฐฯรายไตรมาส
ดุลการคลังรัฐบาลสหรัฐฯรายไตรมาส (% ต่อ GDP)

ที่มา: St.Louis Fed

ข้อมูลภาพรวมด้านการคลังของสหรัฐฯจากกราฟทั้ง 3 ข้างต้นจะเห็นว่า หลังวิกฤตการเงิน สหรัฐฯต้องพึ่งเงินทุนจากทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ยอดการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย การขาดดุลการคลังของสหรัฐฯเองก็มีแนวโน้มสูงขึ้นมาตั้งแต่ก่อนประธานาธิบดี Trump เองจะขึ้นสู่อำนาจแล้ว ยิ่งเมื่อ Trump เดินหน้าทุ่มงบประมาณและลดภาษีภายใต้นโยบายปฏิรูปภาษีของเขาเองแล้ว ตัวเลขขาดดุลการคลังของสหรัฐฯก็ยิ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นทะลุ 4% ต่อ GDP ได้ในอนาคตอันใกล้และอาจจะขาดดุลเช่นนี้ต่อเนื่องยาวนานได้

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าสหรัฐฯเองยังมีแผนที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งสิ้นเดือนเมษายน 2019 ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลของ Trump เองและพรรคเดโมแครตตกลงที่จะเดินหน้าแผนการลงทุนนี้ แม้จะเป็นการลงทุนที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่ในระยะกลางสหรัฐฯก็ต้องมีภาระขาดดุลเพิ่มเติมอย่างเลี่ยงไม่ได้ขณะที่รายได้จากภาษีเองก็ลดลงไปด้วย

ภาระหนี้ที่สูงขึ้นต่อเนื่องและแนวโน้มการคลังที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะพ้นจากการขาดดุลมหาศาลในช่วงเวลาอันใกล้นี้ส่งผลให้บรรดาธนาคารกลางทั้งหลายต้องปรับทัศนคติใหม่ในการจัดสรรทุนสำรองในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯในระยะยาว แม้ว่าเราจะไม่เห็นการเทขายตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐฯในเวลาอันใกล้นี้ ข้อมูลสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐฯโดยนักลงทุนต่างประเทศก็บ่งชี้ว่า การสะสมสินทรัพย์ดอลลาร์โดยนักลงทุนต่างประเทศทั้งกองทุนต่างๆและรัฐบาลต่างประเทศนั้นมีแนวโน้มชะลอตัวลงและลดลงอย่างต่อเนื่อง

แสดงให้เห็นว่าบรรดากองทุนและนักลงทุนภาครัฐของต่างประเทศชะลอการซื้อตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐฯอย่างมีนัยสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางการคลังและปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองที่จะสูงขึ้นในอนาคตของสหรัฐฯ

ขณะที่ตัวเลือกใหม่อย่างเงินหยวนของจีนเองก็มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในหมู่ผู้จัดการทุนสำรองของประเทศต่างๆ แม้ว่าจีนเองจะเผชิญปัญหารุมเร้าทั้งสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แต่การจัดสรรทุนสำรองมาสู่เงินหยวนที่มูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 90,000 ล้านดอลลาร์ในสิ้นปี 2016 มาเป็นกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ในสิ้นปี 2018 ตอกย้ำว่าธนาคารกลางทั่วโลกยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่ออนาคตเศรษฐกิจจีนในระยะยาวและเชื่อมั่นว่าจีนจะมีการเปิดกว้างทั้งภาคการเงินและเศรษฐกิจมากขึ้น เงินหยวนเองก็จะมีความต้องการในการทำธุรกรรมต่างๆมากขึ้นด้วย