20-04-2018

สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน กับผลกระทบที่ไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

บทความโดย
  • สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ กำลังเพิ่มความตึงเครียดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน
  • ผลเบื้องต้นจากกำแพงภาษีระหว่างทั้งสองประเทศส่งผลให้ สหรัฐฯและจีนอาจต้องเสียผลประโยชน์นับล้านล้านบาท
  • ประเทศไทยซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของทั้งสหรัฐฯ และจีนจะได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว

แม้จะมีกระแสข่าวมาอย่างต่อเนื่องสำหรับการตั้งกำแพงภาษีระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกทั้งจีน และสหรัฐฯ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างยกเอามูลค่าทางการค้ามาเป็นเดิมพันในศึกครั้งนี้จำนวนมหาศาลนับล้านล้านบาท แต่ดูเหมือนว่าข่าวความร้อนแรงในเรื่องนี้ จะถูกกลบกระแสไปพอสมควรจากสถานการณ์ในประเทศซีเรียที่ดูจะได้รับความสนใจมากกว่า

แต่เมื่อมาพิจารณาโดยเนื้อหาแล้ว จะเห็นว่า การตั้งกำแพงภาษีทางการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ ในครั้งนี้นั้น น่าจะสงผลกระทบกับเศรษฐกิจของโลกในวงกว้าง และยาวนานกว่าสถานการณ์ในซีเรียมากนัก โดยเฉพาะกับประเทศไทยซึ่งทั้งจีนและสหรัฐฯต่างก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย

มาดูภาพรวมของสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯในตอนนี้ จะเห็นว่า เงื่อนไขสำคัญในวันนี้ยังอยู่ที่การตั้งกำแพงภาษีระหว่างกันที่ 25% โดยสหรัฐฯเตรียมเก็บภาษีสินค้าจากประเทศจีนกว่า 1,300 รายการที่ 25% ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือราว 1.5 ล้านล้านบาท โดยรายการสินค้าที่ต้องถูกเก็บภาษีนั้นเรียกได้ว่าเก็บแทบทุกรายการสินค้า ตั้งแต่ชิ้นส่วนอุปกรณ์เล็กๆ วัตถุดิบ ไปจนถึงสินค้าขนาดใหญ่ เช่น โลหะ ยางพารา อุปกรณ์เวชภัณฑ์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ฯลฯ

ด้านจีนก็ตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ 103 รายการ 25% เช่นกัน มูลค่าประมาณ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 1.5 ล้านล้านบาทเช่นกัน โดยสินค้าที่สินค้าที่อยู่ในบัญชีเก็บภาษีนั้นมีตั้งแต่ อากาศยาน ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ สินค้าเกษตรเช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ฝ้าย ข้าวสาลี นมสด ส้ม เนื้อวัวแช่แข็ง

ความตึงเครียดทางการค้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลต่อเนื่องมาจากความต้องการจัดการกับการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างสหรัฐฯและประเทศต่างๆ จากนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ และปัญหาเรื่องสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญากับจีน โดยก่อนหน้าที่สหรัฐฯจะประกาศกำแพงภาษีสินค้า 1,300 รายการ กระทรวงพาณิชย์จีนได้ประกาศรายชื่อสินค้าสหรัฐฯ 128 รายการ ที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น 15-25%  มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือราว 93,000 ล้านบาท

แม้ว่าการตั้งกำแพงภาษีระหว่างจีนและสหรัฐฯ ดูจะเป็นเรื่องระหว่าง 2 ประเทศ แต่ผลกระทบที่ประเทศต่างๆทั่วโลกต้องเจอกลับเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะหากทั้ง 2 ประเทศซึ่งถือเป็นคู่ค้ารายสำคัญของโลก ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าดังกล่าว ประเทศคู่ค้าอื่นๆก็ย่อมต้องได้รับผลกระทบไปด้วย ประเทศไทยก็เช่นกัน

วันนี้สิ่งที่ประเทศไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านการส่งออกต้องได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ก็คือ ในบรรดาสินค้า 1,300 รายการที่ต้องเสียภาษี 25% นั้น สินค้าจากประเทศไทยอาจจะถูกเก็บภาษีไปด้วย เพราะไทยไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่ได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคายางพารา และโลหะ

จากข้อมูลเชิงสถิติจากองค์กรยางระหว่างประเทศ(IRSG) พบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยที่จีนเป็นอันดับที่ 4 ส่วนประเทศที่มีการบริโภคยางพาราสูงที่สุดคือประเทศจีน อินเดีย และสหรัฐฯ  ในขณะที่ยางพาราเป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีเก็บภาษี 25% ของสหรัฐฯ ดังนั้นการส่งยางพาราไปขายที่สหรัฐฯ รวมถึงประเทศจีนย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรง ส่งผลทำให้ราคายางพาราซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงขาลงนั้นอาจต้องประสบปัญหาหนักขึ้น

นอกจากนี้หากผลกระทบจากสงครามทางการค้ามีมากขึ้นจนกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวมของจีนยังจะส่งกระทบอย่างมากกับภาคการส่งออกของไทย และการท่องเที่ยว ซึ่งในปี 2560 ข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนนั้นเติบโตมากถึง 21.62% และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขการส่งออกของไทยปี 2560 พลิกตัวเป็นบวกจนดึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นได้

ในขณะที่การท่องเที่ยวนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมานักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศไทยมากที่สุดคือนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ดังนั้นหากเศรษฐกิจของจีนได้รับผลกระทบ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยย่อมต้องน้อยลงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

นอกจากนี้หากสงครามทางการค้าครั้งนี้ลุกลามต่อไปเรื่อยๆ ประเทศคู่ค้ากับสหรัฐฯและจีนอย่างไทย อาจต้องพบกับตัวแปรสำคัญที่กระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกหลายอย่าง วันนี้สิ่งที่ภาคธุรกิจของไทยต้องตอบตัวเองให้ได้ก็คือเรามองปัญหา และแผนการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆไว้แล้วหรือยัง?