ส่องอนาคตเปโตรหยวน [ตอนที่3]
- สหรัฐฯจะกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2023 โดยได้แรงหนุนหลักจากภาค Shale Oil ที่บูมอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
- การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ในระยะยาวก็ย่อมกระทบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของชาติอาหรับด้วย
ปัจจัยท้าทายเปโตรหยวน
แม้ว่าฟากของจีนเองจะมีข้อได้เปรียบเชิงโครงสร้างและการผลักดันทางด้านนโยบายเกี่ยวกับเงินหยวนและเปโตรหยวนออกมาเป็นรูปธรรม เปโตรหยวนเองยังต้องเผชิญข้อท้าทายต่างๆที่จะเข้ามาเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทาบรัศมีกับเปโตรดอลลาร์ที่ยึดกุมพื้นที่เศรษฐกิจและการเมืองโลกมายาวนานหลายทศวรรษ โดยบทบาทของเปโตรหยวนนั้นจะถูกท้าทายด้วยข้อจำกัดดังต่อไปนี้
สหรัฐฯยังคงมีบทบาทสำคัญในเวทีน้ำมันโลก แม้ว่าจีนเองจะแซงหน้าสหรัฐฯในแง่ของการนำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกไปแล้ว อย่างไรก็ตามสหรัฐฯเองยังคงบทบาทในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันอันดับ 2 ของโลก แต่ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในด้านบทบาทของสหรัฐฯในตลาดน้ำมันโลกก็คือ สหรัฐฯเองกำลังพลิกบทบาทจากผู้ที่ต้องพึ่งพิงน้ำมันจากต่างประเทศมาสู่การเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก เทียบชั้นกับซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย รายงานจากทบวงพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA (International Energy Agency) ระบุว่า สหรัฐฯจะกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2023 โดยได้แรงหนุนหลักจากภาค Shale Oil ที่บูมอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
การผลิตน้ำมันที่สูงขึ้นจากแหล่ง Shale Oil นอกจากจะช่วยลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศแล้ว ยังช่วยเพิ่มเสริมศักยภาพสหรัฐฯให้ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกในอนาคตด้วย โดยนับตั้งแต่ 18 ธันวาคม 2015 เป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐฯได้ยกเลิกข้อห้ามการส่งออกน้ำมันออกนอกประเทศ ทำให้ปัจจุบันสหรัฐฯสามารถส่งออกน้ำมันไปยังตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ข้อมูลจาก EIA ระบุว่า ในปี 2017 สหรัฐฯมีการส่งออกน้ำมันโดยเฉลี่ย 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวันไปยัง 37 ประเทศทั่วโลก โดยตลาดหลักเป็นแคนาดาคิดเป็น 29% ของการส่งออกทั้งหมด รอลงมาเป็นจีน 20% สหราชอาณาจักร 9%และการคาดการณ์ในรายงานมุมมองพลังงานประจำปี 2018 ยังระบุด้วยว่า สหรัฐฯจะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและพลังงานอื่นๆสุทธินับตั้งแต่ปี 2022 ถึงปี 2050
การที่สหรัฐฯมีแนวโน้มเป็นมหาอำนาจด้านพลังงานโลกในช่วง 30 ปีข้างหน้า ย่อมส่งผลให้เงินเปโตรดอลลาร์จะยังคงหมุนเวียนและเป็นที่ต้องการในระบบเศรษฐกิจโลกอยู่ ซึ่งนั่นย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการผงาดของเปโตรหยวนในภูมิภาคที่มีการนำเข้าพลังงานจากสหรัฐฯในระดับที่สูง
ปัจจัยจากซาอุดิอาระเบีย ปัจจุบันซาอุดิอาระเบียยังคงเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ลูกค้าที่ซื้อน้ำมันจากซาอุดิอาระเบียครอบคลุมทั้งกลุ่มประเทศตะวันตกทั้งสหรัฐฯและยุโรป รวมถึงประเทศเศรษฐกิจเติบโตสูงในภูมิภาคเอเชีย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาประเทศซาอุดิอาระเบียส่งออกน้ำมันมากกว่า 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่กลุ่มโอเปคโดยรวมมีการส่งออกน้ำมันเฉลี่ย 25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ในทางปฏิบัติเป็นที่ทราบกันดีว่า ซาอุดิอาระเบียมีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางนโยบายการผลิตน้ำมันในกลุ่มโอเปค นอกจากนั้นแล้วซาอุดิอาระเบียยังเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างสูงในตะวันออกกลางอีกด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่าซาอุดิอาระเบียมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯเป็นอย่างมาก บริษัทน้ำมันอเมริกันมีการลงทุนขุดเจาะน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกกลางจำนวนมาก ขณะเดียวกันซาอุดิอาระเบียและชาติอาหรับก็มีการสะสมความมั่งคั่งในรูปเปโตรดอลลาร์มูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์มากว่า 40 ปีโดยอยู่ในรูปของสินทรัพย์ทางการเงินที่บริหารจัดการโดยธนาคารกลางและกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของแต่ละประเทศ การทำสัญญาซื้อขายน้ำมันกับคู่ค้าของชาติอาหรับและกลุ่มโอเปคก็ใช้เงินดอลลาร์เป็นมาตรฐาน ฉะนั้นแล้วหากเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ในระยะยาวก็ย่อมกระทบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของชาติอาหรับด้วย ดังนั้นซาอุดิอาระเบียและชาติอาหรับย่อมมีความจำเป็นโดยพื้นฐานที่ต้องรักษาฐานการลงทุนในรูปของเงินดอลลาร์ไว้ให้มีความมั่นคง การนำเงินดอลลาร์ที่ได้จากการขายน้ำมันกลับไปลงทุนในระบบการเงินสหรัฐฯจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันกลุ่มอาหรับ (หน่วย: พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของซาอุดิอาระเบียที่กำลังพิจารณาเลือกสถานที่จดทะเบียนบริษัท Saudi Aramco รัฐวิสาหกิจน้ำมันของประเทศระหว่างตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) และตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (LSE) เป็นการตอกย้ำถึงความแนบแน่นและความต่อเนื่องทางนโยบายในด้านความสัมพันธ์กับตะวันตกเป็นอย่างดี ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่กลุ่มอาหรับยังมีความมั่นคงในการใช้เงินดอลลาร์เป็นมาตรฐานในการทำสัญญาซื้อขายน้ำมันไปอีกหลายปี เมื่อเป็นเช่นนี้เงินเปโตรหยวนคงไม่สามารถเจาะเข้ามาปักฐานยังใจกลางของเงินเปโตรดอลลาร์ได้ง่ายๆในเร็ววัน
ตัวแปรอินเดีย ประเทศอินเดียถือเป็นประเทศสำคัญที่น่าจับตาในเกมระหว่างเปโตรหยวนและเปโตรดอลลาร์ปัจจุบันอินเดียเป็นผู้บริโภคและนำเข้าน้ำมันใหญ่อันดับ 3 ของโลก และในอนาคตก็จะมีการบริโภคและนำเข้าน้ำมันที่เติบโตเคียงคู่ไปกับจีน อินเดียเองมองจีนเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียและระดับโลก ปัจจุบันจีนมีการยึดกุมจุดยุทธศาสตร์ทางทะเลผ่านการลงทุนในท่าเรือสำคัญๆในมหาสมุทรอินเดียโดยเฉพาะในศรีลังกาและปากีสถาน เมื่อผนวกกับการรุกคืบด้วยโครงการ One Belt One Road ก็เท่ากับว่าจีนกำลังขยายโครงสร้างด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่จีนออกแบบมาปิดล้อมอินเดียในทุกๆด้าน เมื่อผนวกกับศักยภาพทางเศรษฐกิจและทางทหารของจีนที่สูงกว่าอินเดียในปัจจุบัน อินเดียย่อมีความกังวลต่อการขยายตัวของอิทธิพลจีนในปัจจุบันและย่อมต้องหาทางคานอิทธิพลจีนในด้านต่างๆเพื่อไม่ให้กระทบผลประโยชน์ของินเดียในระยะยาว
ดังนั้นแล้วอินเดียย่อมมองการเติบโตของเปโตรหยวนเป็นส่วนขยายทางยุทธศาสตร์สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่ออินเดียอย่างเลี่ยงไม่ได้ อินเดียจึงมีแนวโน้มปฏิเสธอิทธิพลเปโตรหยวนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากอินเดียปล่อยให้เปโตรหยวนกลายเป็นมาตรฐานสำคัญของการค้าน้ำมันในภูมิภาคหรือแม้แต่ในระดับสากลย่อมทำให้อินเดียต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบการเงินและนโยบายของจีน อินเดียจะลำบากในยามมีข้อพิพาทที่รุนแรงกับจีน โดยจีนสามารถกดดันอินเดียผ่านหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นการบล็อกอินเดียจากช่องทางเดินเรือในมหาสมุทรอินเดีย การใช้อิทธิพลทางการค้าบนเส้นทางสายไหม หรือการคว่ำบาตรทางการเงินอินเดียไม่ให้เข้าถึงสภาพคล่องเงินหยวนได้ ซึ่งทั้งหมดย่อมกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน เศรษฐกิจ และการเงินของอินเดียอย่างเลี่ยงไม่ได้
และที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างในข้อพิพาทระหว่างจีนกับสหรัฐฯในหลายกรณี จีนเองก็ขู่ที่จะตอบโต้สหรัฐฯด้วยการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆไม่ว่าจะเป็นการขู่ที่จะเทขายพันธบัตรัฐบาลสหรัฐฯทิ้งหลายวาระในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือการใช้มาตรการทางการค้าตอบโต้แบบที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ฉะนั้นแล้วอินเดียย่อมต้องแสวงหาความร่วมมือในภูมิภาคและใช้อำนาจต่อรองในตลาดน้ำมันเพื่อถ่วงดุลจีนและยับยั้งการรุกคืบของเงินเปโตรหยวนไม่ให้มีอิทธิพลครอบงำตลาดน้ำมันในเอเชีย