07-04-2018

ส่องอนาคตเปโตรหยวน [ตอนที่ 1]

บทความโดย
  • เปิดการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบเป็นสกุลเงินหยวนแล้วที่ตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้
  • การผลักดันการให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินทางเลือกด้านการชำระเงินระหว่างประเทศเทียบเท่าเงินสกุลหลักอย่างดอลลาร์หรือยูโรผ่านมาตรการต่างๆ
  • อนาคตของเปโตรหยวนจะเป็นอย่างไร?

การเปิดซื้อขายตราสารล่วงหน้าบนน้ำมันดิบเป็นสกุลเงินหยวนที่ตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Futures Exchange) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2018 ที่ผ่านมาสร้างความฮือฮาในวงการการเงินการลงทุนโลกเป็นอย่างมาก ในฐานะที่เป็นก้าวหลักสำคัญอีกก้าวของเงินหยวนในเวทีเศรษฐกิจและการเงินโลกที่มีเงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นใหญ่และเป็นมาตรฐานมานาน สื่อและนักวิจารณ์เริ่มมีการพูดถึง “เปโตรหยวน” มากขึ้น

หลายฝ่ายมองว่าการผงาดขึ้นของจีนในเชิงอำนาจและเศรษฐกิจจะทำให้ฐานะเดิมของเงินดอลลาร์และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เปรโตรดอลลาร์” ถูกสั่นคลอนและถูกท้าทายโดยเปโตรหยวนมากขึ้น บทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของเปโตรหยวนในอนาคตจึงเป็นคำถามสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายว่าจะเป็นนักลงทุน ผู้ประกอบการ และผู้ดำเนินนโยบายต้องหาคำตอบเพราะพลวัตของเปโตรหยวนจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดทิศทางของโลกในอนาคต

ที่มาของเปโตรหยวน

การมาของเปโตรหยวนเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆเพียงชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลของพัฒนาการต่อเนื่องของระบบเศรษฐกิจโลกและการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทั้งนี้นับแต่จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO และการดำเนินนโยบายการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่วางมาตั้งแต่ยุคเติ้ง เสี่ยวผิง  ก็ทำให้เศรษฐกิจจีนมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในทุกมิติไม่ว่าจะด้านของขนาดเศรษฐกิจ ภาคการค้า ภาคการเงิน และภาคการลงทุน

โดยก่อนปี 2000 ก่อนการเป็นสมาชิก WTO จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก มีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าสหรัฐฯ 8 เท่าตัว ขณะที่ล่าสุดปี 2017 จีนก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก ด้วยขนาดเศรษฐกิจกว่า 11.94 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับเบอร์ 1 อย่างสหรัฐฯที่มีเศรษฐกิจใหญ่โตระดับ 19.34 ล้านล้านดอลลาร์

แต่หากเทียบกับในอดีตแล้ว ปัจจุบันช่องว่างทางเศรษฐกิจจีนกับสหรัฐฯห่างกันแค่ 1.62 เท่า ขณะเดียวกันจีนเองยังสามารถรักษาการเติบโตที่ระดับ 5-6% ได้ เทียบกับ 2-3% กรณีของสหรัฐฯ ทำให้ในอนาคตจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก และแน่นอนว่าเศรษฐกิจที่ใหญ่โตขึ้นทุกปีของจีนย่อมหมายถึงการบริโภคน้ำมันที่สูงขึ้นอันสะท้อนมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนที่ใช้พลังงานมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ที่มา: World Economic Outlook Database 2017; IMF

 

ที่มา: BP Statistical Review of World Energy 2017

 

ที่มา: BP Statistical Review of World Energy 2017

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกจุดที่ทำให้เปโตรหยวนสามารถก่อตัวขึ้นได้ก็คือ วิกฤตการเงินโลกในปี 2008

นอกจากพลวัตด้านเศรษฐกิจที่จีนเองต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกโดยธรรมชาติแล้ว จุดเปลี่ยนสำคัญอีกจุดที่ทำให้เปโตรหยวนสามารถก่อตัวขึ้นได้ก็คือ วิกฤตการเงินโลกในปี 2008 ซึ่งส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมากนับตั้งแต่วิกฤตใหญ่ช่วง Great Depression ในปี 1929

ในปี 2009 จีนอาศัยจังหวะที่สหรัฐฯเพลี่ยงพล้ำทางเศรษฐกิจจากวิกฤต ถือโอกาสตั้งคำถามถึงบทบาทของเงินดอลลาร์ในเวทีโลกที่ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไปและมองว่าสถาปัตยกรรมทางการเงินที่อิงกับดอลลาร์นั้นนำมาสู่วิกฤตด้วย และนับจากนั้นจีนเองก็เริ่มผลักดันการให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินทางเลือกด้านการชำระเงินระหว่างประเทศเทียบเท่าเงินสกุลหลักอย่างดอลลาร์หรือยูโรผ่านมาตรการต่างๆไม่ว่าจะเป็นการทำสัญญา Swap เงินหยวนกับธนาคารกลางทั่วโลก, การเปิดกว้างตลาดทุนในประเทศ การพัฒนาระบบการชำระเงินหยวนในต่างประเทศ

ก้าวสำคัญล่าสุดก็คือ เงินหยวนจีนประสบความสำเร็จในการเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้าเงินที่ใช้คำนวณค่า SDRs (Special Drawing Rights) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ทางการเงินสำคัญในวงการทุนสำรองที่ออกแบบโดย IMF ทำให้เงินหยวนมีฐานะเป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศมีฐานะเทียบเท่าดอลลาร์ ยูโร ปอนด์ และเยน สะท้อนถึงบทบาทที่มีการเติบโตรวดเร็วของเงินหยวนในเวทีโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และนั่นย่อมปูทางให้เงินเกิดความเชื่อมั่นให้เงินหยวนในฐานะสื่อกลางแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศและสินทรัพย์ความมั่นคงสูงในระยะยาวด้วย

ส่องอนาคตเปโตรหยวน [ตอนที่ 2]

ส่องอนาคตเปโตรหยวน [ตอนที่ 3]

ส่องอนาคตเปโตรหยวน [ตอนจบ]