15-09-2018

เปิดแนวคิดจากเวทีนวัตกรรม Think Big Act Small กับ 3 ทักษะสำคัญที่คนทำงานยุคใหม่ต้องมี

บทความโดย

ในปัจจุบันสถานการณ์การของแรงงานและวิชาชีพต่างๆ กำลังสั่นสะเทือนด้วยการพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปท์แทบจะในทุกวงการ หลายอาชีพนอกจากต้องแข่งขันกับมนุษย์ด้วยกันเองแล้ว ยังต้องแข่งขันกับเทคโนโลยี หลายคนไม่สามารถปรับตัวได้ทันที หรืออาจเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี และแม้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่บุคลากรแรงงานเองก็ยังคงเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น การปรับตัวพัฒนาทักษะของแรงงาน และการสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมจึงนับเป็นเรื่องจำเป็น

เพื่อตอบโจทย์ปัญหาแรงงานในอนาคตสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งขับเคลื่อนโครงการสร้างสรรค์เศรษฐกิจดิจิทัล (Initiatives on the Digital Economy) ศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (IDE Center by UTCC) จึงได้ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology – MIT)สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทปูนซิเมนต์ จำกัด (มหาชน) จัดงาน “MIT Inclusive Innovation Challenge Asia 2018” โดยการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และธุรกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งงานนี้ประกอบด้วยกิจกรรม 2 ส่วน ได้แก่ การแข่งขัน MIT Inclusive Innovation Challenge” ระดับเอเชีย โดยมีผู้เข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายจากผู้สมัครทั่วภูมิภาคเอเชียกว่า 165 ทีม ใน 25 ประเทศ ซึ่งในกิจกรรมนี้ได้คัดเลือก 4 ผู้ชนะจาก 4 หัวข้อเพื่อไปแข่งขันรอบชิงระดับโลก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับอีกกิจกรรมที่จะช่วยผลักดันบุคลากรแรงงานให้ก้าวทันเทคโนโลยี คือ เวที “Think Big Act Small Symposium” ที่รวบรวมผู้นำทางความคิดจากทั่วโลกมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์สร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงสังคม สร้างไอเดียพร้อมจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้ทุกคน ในประเด็นที่คนทำงานทุกคนต้องรู้ “Inclusive Innovation for the Future of Workการเข้าถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่จะต้องปรับตัวอย่างไร โดยผู้บรรยายในครั้งนี้มาพร้อมทักษะการทำงานที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น Anshul Sonak นักนวัตกรรมผู้นำเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาทักษะการทำงานเพื่ออนาคต จากบริษัท อินเทล Brian Cotter ผู้ก่อตั้ง UPSHIFT โครงการที่สร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างอาชีพให้คนรุ่นใหม่ในเวียดนาม Loredana Padurean จาก Asia School of Business & MIT Sloan กับการวิเคราะห์ทางเดินของผู้ประกอบการในยุคดิจิทัลกับผลงาน “Jungle, Mountain, Ocean – a Startup Journey”  ดร.ทานทิพย์ ธำรงวรางกูร คุณหมอนักพัฒนา ผู้มองเห็นความขาดแคลนทางการแพทย์ในพื้นที่ชนบท และจัดตั้งชุมชนพยาบาลขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา ในจังหวัดขอนแก่น ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งบริษัท กล่องดินสอ ธุรกิจเพื่อให้โอกาสแก่ผู้พิการทางการมองเห็น Carlos Centeno นักปฏิบัติการจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่เป็นผู้วางแนวทางในการปฏิบัติการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลังวิกฤตการณ์ในกว่า 14 ประเทศทั่วโลก และ Edward Rubesch ผู้อำนวยการโปรแกรมศูนย์ IDE Center กับประเด็นโจทย์ปัญหาซับซ้อนที่เหมาะสำหรับการสร้างนวัตกรรม หรือ “Wicked Problem Worth Working On”

จากโจทย์ของคนทำงานที่ต่างประสบปัญหาว่าพวกเขากำลังต่อสู้และวิ่งแข่งกับเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว แล้วทำเช่นไรให้แรงงานในแต่ละสาขาอาชีพจะสามารถยืนหยัดเป็นแรงงานที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานต่อไปได้ เวที “Inclusive Innovation for the Future of Workมีคำตอบ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คนยุคใหม่เข้าถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีได้ควรมี 3 คุณลักษณะ คือ ทักษะ ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์

  • Skill (ทักษะ) เป็นคุณสมบัติที่ควรมีมากที่สุดต่อการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยี อันประกอบไปด้วย 3 ทักษะ
  • การใช้ทักษะให้ตรงกับลักษณะงาน เราจะพัฒนาสิ่งเหล่านั้นได้ดี เช่น ผู้พิการทางด้านสายตาจะมีทักษะด้านการรับรู้ทางเสียงหรือกลิ่นได้ดี สามารถประกอบอาชีพที่เน้นทักษะเหล่านี้ได้ อาทิ การร้องเพลง หรือเล่นดนตรี
  • ทักษะด้านการประกอบการเทคโนโลยี ผู้ใช้เทคโนโลยีต้องพัฒนาไปพร้อมกัน และไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะมีทักษะการประกอบการ เด็กและเยาวชนก็สามารถสร้างทักษะเพื่อการประกอบการและทำธุรกิจได้เช่นกัน
  • ทักษะในด้านการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เพราะทุกอย่างล้วนมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่เสมอ และปัญหาที่ซับซ้อนจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจเมื่อทำสำเร็จ สิ่งสำคัญคือการนำเอาความรู้ และการเรียนรู้มาใช้ในการแก้ปัญหา
  • Knowledge (ความรู้) ความรู้เป็นพื้นฐานของการทำงานเช่นเดียวกับทักษะ การใช้ความรู้ในการมองเห็นปัญหาและหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับปัญหาจึงสำคัญมาก เพราะถ้าเรารู้และเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้จะช่วยให้เกิดการแก้ไขได้จริง ความรู้ทำให้ง่ายต่อการหาผู้มาระดมทุนที่จะมาช่วยจัดการการเป็นผู้ประกอบการ ช่วยให้เราเข้าสู่ตลาดได้ทันกับสถานการณ์ในขณะนั้น และเพื่อเป้าหมายที่ชัดเจน ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล เมื่อพบปัญหาและหาแนวทางการแก้ไขได้ การทำความเข้าใจความต้องการของปัญหา หรือผู้คนและนำมาปรับใช้ในการทำการตลาดเฉพาะกลุ่ม อาจเป็นอีกวิถีในการช่วยให้การปรับตัวต่อนวัตกรรมเทคโนโลยีนั้นง่ายขึ้น
  • Creative (ความคิดสร้างสรรค์) ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่ทุกคนสามารถสะสมประสบการณ์ ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบของเรา หรือการเห็นปัญหาและนำเอาไอเดียที่มีมาประยุกต์เข้าด้วยกัน การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจยุคดิจิทัลนั้น ผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการประกอบการนวัตกรรมเพื่อให้เข้าถึงและครองตลาดด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีนั้น เช่น การเดินทางที่ไม่สะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ชนบท ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องบินในการขนส่งยาหรืออาหาร แต่เราสามารถใช้รถที่ออกแบบเฉพาะต่อพื้นที่ ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้นและประหยัดต่อการช่วยเหลือ เป็นต้น

 

นอกจากกิจกรรมนี้ IDE Center by UTCC ยังมีงานดีๆ อีกมากที่จะช่วยสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/idecenterbyutcc หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-697-6867 ในเวลาทำการ