กาแฟระดับโลกจากหุบเขาอันห่างไกลในอินเดีย
- กาแฟจากรัฐอานธรประเทศ รัฐทางตอนใต้ของอินเดียได้กลายเป็นกาแฟพิเศษที่ขึ้นชั้นกาแฟระดับโลก ภายใต้แบรนด์ตัวเองว่า Araku Originals ล่าสุดสามารถไปตั้งร้านในปารีสและกำลังขยายไปโตเกียวและนิวยอร์ก
หุบเขาอะราคุ ประเทศอินเดีย — ขณะที่ อัปปาราโอ ปานจิ และ โบย ซิมฮัดริ (Boi Simhadri) ค่อยๆ เดินไปไร่ของตนในหุบเขาอะราคุที่สูงกว่าพันเมตร ในรัฐอานธรประเทศ รัฐตอนใต้ของอินเดีย ชายหนุ่มเดินตามทางที่คดเคี้ยว ทะลุผ่านทุ่งเลี้ยงวัวควาย พุ่มหญ้า และดินร่วนเหนือพื้นหิน เส้นทางแคบลงเมื่อเขาไต่ขึ้นเนิน จนสุดท้าย พวกเขาปีนเขื่อนหินสูงระดับเอวใบไม้พันธุ์หลากหลายแผ่ขยายไปยังอีกเนินอีกด้าน มัลเบอร์รี่ น้อยหน่า ละมุด กล้วย และซิลเวอร์โอ๊คต้นสูงที่ให้อาศัยต้นพริกไทย ใต้ร่มไม้นี้ ยังมีพุ่มกาแฟสูงเมตรครึ่งปลูกไว้
อีสเทิร์นกาตคือแนวเทือกเขายาวที่พาดผ่าน 5 รัฐของอินเดีย แม้ว่าจะเข้าถึงยากแต่ดินยังอุดมสมบูรณ์มาก นอกจากนี้ยังเป็นบ้านของชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 50 เผ่า แน่นอนว่าความช่วยเหลือจากรัฐบาลยังแทบเข้าไม่ถึงพื้นที่ห่างไกลนี้เพราะการคงอยู่ของกลุุ่ม Naxalite หรือขบวนการติดอาวุธนิยมลัทธิเหมาที่เชื่อว่ารัฐบาลเอาเปรียบชาวพื้นเมืองและพื้นที่ของเขา ภายใต้หน้ากากของการพัฒนา
ปานจิ วัย 55 ปี และซิมฮัดริวัย 33 ปี เป็นชาวเผ่ากนดาโดรา (Kondadora) ทั้งคู่เป็นเพียงชาวไร่ 2 คนจากจำนวนมากที่พบเห็นสถานการณ์ความไม่สงบที่นี่ รวมถึงการปะทะระหว่างตำรวจและกลุ่ม Naxalite ทั้งที่มีความขัดแย้งนี้ ชีวิตของพวกเขากลับพบจุดเปลี่ยนชีวิตในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากรายได้เกือบ 100 รูปีต่อวัน (ประมาณ 1.6 ดอลล่าร์) ณ ตอนนี้ ทั้งคู่กลายเป็นเจ้าของไร่กาแฟ“คุณเห็นที่ดินนั่นไหม ที่มีต้นมะม่วงใหญ่น่ะ” ซิมฮัดริถามพร้อมชี้นิ้วไปข้างหน้า “ของผมเอง” พื้นที่ราวครึ่งเฮกตาร์ (ประมาณ 5,000 ตร.ม.) มีพุ่มกาแฟงอกงามรอบต้นมะม่วงนั้น
รัฐอานธรประเทศเริ่มปลูกกาแฟตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 จากคำบอกเล่าของชาวไร่ในพื้นที่แล้ว ผู้ที่นำกาแฟเข้ามาคือเกษตรกรชาวอังกฤษในขณะที่คนปลูกกาแฟส่วนใหญ่ในรัฐเคยขายพืชผลการผลิตให้กับผู้ค้าท้องถิ่น ซิมฮัดริและชาวไร่พื้นเมือง 25,000 คนในหุบเขาอะระคุได้ขายกาแฟไปยัง17 ประเทศมทั่วโลกรวมถึงร้านกาแฟในกรุงปารีส ภายใต้แบรนด์ชื่อ Araku Orginals ในการผลิตกาแฟนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธินานดี (Naandi Foundation) ทรัสต์เพื่อการกุศลที่ซื้อเมล็ดกาแฟจากชาวไร่ จากนั้นแปรรูป และขายกาแฟให้ผู้ค้าส่งในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ และที่แห่งอื่น
มูลนิธิฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 1998 โดย น. ฌานดราบาบุ นัยดู (N. Chandrababu Naidu) มุขมนตรีรัฐอานธรประเทศ, ค. อันจิ เรดดี้ (K. Anji Reddy) ผู้ก่อตั้งบริษัท Dr. Reddy’s Laboratories และ อนันด์ มหินทรา (Anand Mahindra) ประธานเครือบริษัทมหินทรากรุ๊ป (Mahindra Group)
จากที่ดินรกร้างสู่ไร่กาแฟ
เมื่อมาโนจ คูมาร์ (Manoj Kumar) ประธานมูลนิธิฯ ค้นพบไอเดียทำธุรกิจเพื่อสังคมในปี 2000 เพื่อนเขาได้พาเขาไปหุบเขาอะระคุ “ผมอยู่ที่นั่นนานและสังเกตุเห็นว่า ถ้าขาดถนนสายหลักไป พื้นที่ทั้งหมดนี้ก็ถูกตัดขาดจากความเจริญ” คูมาร์กล่าว “เพราะพวกนักซาไลต์ชุก รัฐบาลหรืองานการพัฒนาอะไรก็เข้าถึงหุบเขาไม่ได้” มูลนิธิฯ รวบรวมทำโครงการสุขภาพสำหรับแม่และเด็ก พร้อมสร้างโรงเรียนห้องเดี่ยวจากไม้ไผ่ เมื่อส่งเสริมสุขภาพขั้นพื้นฐานได้แล้ว ผู้คนจึงขอให้คูมาร์ช่วยเขาปลูกกาแฟ มีชาวไร่ไม่กี่คนที่เคยพยายามปลูกกาแฟมาก่อน หากปลูกไม่ขึ้น เขาก็ปลูกผลกาแฟที่มีคุณภาพไม่ได้ จึงทำให้พวกเขายอมรับข้อเสนอราคาต่ำจากพ่อค้าคนกลาง
แม้ว่ารัฐบาลได้ให้ต้นกาแฟอ่อนกับชาวไร่แล้ว แต่รัฐก็ไม่เคยสอนเรื่องความละเอียดอ่อนของการปลูกพืชชนิดนี้ “ก่อนหวังให้พวกเขาปลูกอะไร เราต้องเข้าใจวิถีและวัฒนธรรมพื้นเมืองเสียก่อน” คูมาร์กล่าว “พวกเขาคือคนจากป่าที่กินของป่า การจะทำให้เขาเป็นเจ้าของที่ดินไร่กาแฟต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงมหาศาล เหมือนบอกคนจนที่ต้องหาเช้ากินค่ำให้เป็นผู้ประกอบการ” เพื่อช่วยให้มีเงินพอต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน มูลนิธิฯ จึงจ่ายค่าแรงให้กับชาวไร่ คูมาร์หาทุนจากบริษัทใหญ่และดึง ราเชนทรา ปราสาท มะกานที (Rajendra Prasad Maganti) ประธานบริษัทธุรกิจสาธารณูปโภคที่มีชื่อว่า โซม่า เอ็นเตอร์ไพรส์ (Soma Enterprise) และ คริส โกปะละกฤชนัน (Kris Gopalakrishnan) ผู้ก่อตั้งร่วมบริษัทไอที อินโฟซิส (Infosys)
ประมาณปี 2004 เมื่อคูมาร์เริ่มมองหาวิธีใหม่สำหรับการปลูกกาแฟที่ดีกว่าเดิม เขาพบกับ เดวิด ฮอกก์ (David Hogg) ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมจากนิวซีแลนด์ ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ที่ไร่ในทมิฬนาฑู รัฐที่ติดกับรัฐอานธรประเทศ ตามความคิดของฮอกก์แล้ว ไร่พื้นหินในอะระคุคือที่ดินกึ่งรกร้าง (semi-wasteland) “เดวิดบอกว่า เราต้องนำคาร์บอนคืนสู่ดินและฝึกชาวนาให้ทำเกษตรชีวพลวัตร (bio-dynamic)” คูมาร์ระบุกล่าว “วิธีนี้สอนการเรียนรู้เพื่อค้นหาเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการหว่านเมล็ดและการเก็บเกี่ยว” คูมาร์เสริมว่าเป็นวิธีใกล้เคียงกับออร์แกนิค ที่มูลนิธินานดีใช้เทคนิคการจัดการทรัพยากรธรรมชาตินี้ในการเปลี่ยนพื้นที่กึ่งรกร้างให้เป็นไร่กาแฟ
เมื่อชาวไร่เรียนรู้วิธีการปลูกกาแฟคุณภาพและใช้วิธีการทำไร่ที่ดีกว่าเดิมได้ 3 ปี ผลผลิตกาแฟเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 25% ทั้งที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นแล้ว แต่รายได้ของพวกเขาก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนนั้น “การพึ่งพิงดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ [ที่รัฐบาลตั้งคงที่] และการมีอยู่ของพ่อค้าคนกลาง ทำให้ชาวไร่ไม่เคยได้ราคาที่ถูกต้อง” อนุภามา สะรีระมะเนนัย (Anupama Sreeramaneni) ผู้จัดการมูลนิธิฯ กล่าว
พ่อค้าคนกลางจ่ายชาวไร่แค่ 60 -100 รูปีต่อกิโลกรัม เธอระบุว่า ต้นทุนการผลิตสำหรับมูลนิธิฯ คือ 320 รูปีต่อกิโลกรัม ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์กำหนดราคาขายไว้ที่กิโลกรัมละ 140 รูปี
สู่กาแฟชั้นยอดของอินเดียและระดับโลก
จุดนี้คือจุดที่ริเริมของ อะระคุ ออริจินอล “เป้าหมายคือเพื่อช่วยเหลือชาวไร่ ให้มีรายได้ตามสัดส่วนความพยายามและผลผลิต โดยการทำการตลาดกาแฟพิเศษที่ปลูกโดยชาวไร่จากอะระคุ” สะรีระมะเนนัยกล่าว ณ ตอนนั้น ผู้คลั่งไคล้กาแฟจำนวนหนึ่งพูดว่า กาแฟจากอะระคุมีโปรไฟล์ที่ไม่ธรรมดา — ถ้านำเข้าตลาดที่เหมาะสมก็จะทำกำไรได้มาก “คนเขาบอกเราว่าเราขุดทองเจอแล้ว” คูมาร์บอก
ในการค้นหาตลาดที่จ่ายดีกว่าเดิม คูมาร์เชื่อมต่อกับผู้ซื้อและผู้คั่วกาแฟชั้นสูงจากทั่วโลก และเชิญพวกเขาให้มาลองกาแฟของอะระคุ เขาจึงได้พบกับ ฮิเดทากะ ฮายาชิ (Hidetaka Hayashi) ผู้มีชื่อเสียงด้วยการแนะนำกาแฟพิเศษสู่ญี่ปุ่น พร้อมกับ ยูโกะ อิโตอิ (Yuko Itoi) หนึ่งในสมาชิกผู้ที่ตัดสินกาแฟชั้นยอดของญี่ปุ่น (Cup of Excellence) ซึ่งเป็นงานสำคัญของวงการกาแฟประจำปีที่มุ่งหากาแฟคุณภาพเยี่ยมจริงๆ ตั้งแต่ปี 2009 ทุกปี มูลนิธินานดีจัดงาน “อัญมณีแห่งอะระคุ” (Gems of Araku) ด้วยการเชิญผู้ซื้อเมล็ดกาแฟจากทั่วโลกให้มาชิมกาแฟ กาแฟปรุงรส 6 ประเภทที่ Araku Originals โดยกาแฟแบรนด์นี้เริ่มต้นที่ราคา 3,000 รูปีต่อกิโลกรัม
“กาแฟอะระคุ (Araku) ส่วนใหญ่รสดีและหวานจากปุ๋ยอินทรีย์และการดูแลไร่ที่ดี” กล่าวโดยอิโตอิ ผู้ซื้อกาแฟจากโตเกียวที่ซื้อกาแฟอะระคุประมาณ 3,000 กิโลกรัมต่อปี “ตลอดเกือบ 10 ปีที่ฉันมาเทียวมาเยี่ยมอะระคุ ฉันพูดได้เลยว่าคุณภาพกาแฟของพวกเขาดีขึ้นทุกปี” ปีที่ผ่านมา Araku Originals เปิดร้านของตนเองครั้งแรกในปารีส โดยขายที่กิโลกรัมละ 4,000 ถึง 6,000 รูปี “เราต้องการสร้างแบรนด์สำหรับ Araku Originals เพื่อที่เราจะสร้างมรดกของชาวพื้นเมืองอะระคุไว้” คูมาร์กล่าว
เมื่อร้านในปารีสทำกำไรได้ คูมาร์ประเมินว่า หาก Araku Originals เริ่มทำกำไรระดับโลกจะต้องใช้เวลาอีก 4 ปี ในปีหน้า คูมาร์จึงวางแผนเปิดอีกร้านในโตเกียวหรือนิวยอร์ค
คูมาร์กล่าวว่า กว่า 20 ปีมานี้ หุบเขาเปลี่ยนแปลงไป “ผู้คนที่เคยหาอาหารในป่า ตอนนี้เขาเก็บเงินซื้อทองหรือส่งลูกไปโรงเรียนแล้ว หลายคนมีบ้านปูนมากกว่า 1 หลัง และคนอื่นๆ มีรถมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเองแล้ว”
Source: Nkkei