25-02-2020

เผยผลวิจัย “ทำไมน้องไม่แต่งงาน?”ชี้หญิงไทยโสดมากขึ้นและมีลูกน้อยลง

บทความโดย

“ทำไมน้องไม่แต่งงาน?” กลายเป็นคำถามใหญ่ของผู้หญิงไทยในยุคนี้ที่ปัจจุบันสัดส่วนหญิงไทยครองโสดกันมากขึ้น และกลายเป็นประเด็นที่สำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของประชากรไทยในอนาคต โดยพบว่า ผู้หญิงไทยที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะเลือกอยู่เป็นโสดมากขึ้น หรือ หากแต่งงานก็มีแนวโน้มที่จะมีจำนวนลูกน้อยลง ส่งผลไปยังอัตราการเกิดของประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อจำนวนกำลังแรงงานในอนาคต นักวิจัยแนะภาครัฐควรเพิ่มนโยบายกระตุ้นการแต่งงานและการมีลูกอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต

งานวิจัยของ ผศ. ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ Ms. Lusi Liao นักศึกษาปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ศึกษารูปแบบการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของผู้หญิงไทยในช่วงระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา (1985-2017) โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ระดับการศึกษาของผู้หญิงไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้หญิงไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นโสดมากขึ้นและมีลูกน้อยลง

ดร.ศศิวิมล ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ “Marriage strike” ที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะชะลอการแต่งงานให้ช้าลง เนื่องจากระดับการศึกษาที่สูงขึ้นทำมีลให้ผู้หญิงได้รับค่าจ้างในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น และทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการแต่งงานและการลาคลอดบุตรเพิ่มสูงขึ้น  ซึ่งในงานวิจัยชิ้นนี้ คณะผู้วิจัยก็พบปรากฏการณ์ “Marriage strike” ในประเทศไทยเช่นกัน โดยพบว่าสัดส่วนของผู้หญิงโสดในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป

ภาพที่ 1 สัดส่วนร้อยละของผู้หญิงโสดแบ่งตามระดับการศึกษา

ดร.ศศิวิมล ยังกล่าวอีกว่า สำหรับผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้น ไม่เพียงแค่จะชะลอการแต่งงานให้ช้าลงเท่านั้น แต่มีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดตลอดไปเพิ่มขึ้นอีกด้วย  โดยงานวิจัยที่ผ่านมาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Gold miss” และพบว่าเกิดปรากฏการณ์นี้ในประเทศพัฒนาแล้วในทวีปเอเชียหลาย ๆ ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ หรือ ญี่ปุ่น เป็นต้น

โดยผู้หญิงไทยที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาของผู้หญิงที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้มีการเลือกที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้นและไม่มีลูกเลย

ซึ่งปรากฏการณ์ “Gold miss” นี้มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากรูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรมของประเทศในทวีปเอเชียเหล่านี้ ที่คาดหวังให้ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วต้องรับผิดชอบทั้งการดูแลครอบครัวในฐานะแม่บ้าน และการทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้ไปพร้อม ๆ กัน  โดยความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้หญิงนี้ ทำให้ผู้หญิงในทวีปเอเชียโดยเฉพาะกลุ่มที่มีการศึกษาสูงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวมากกว่าการแต่งงานมีครอบครัวและมีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดมากยิ่งขึ้น

ภาพที่ 2 สัดส่วนร้อยละของผู้หญิงโสดที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีและอายุมากกว่า 35 ปี

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบอีกว่า ผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีโอกาสที่จะแต่งงานลดลง 14% เมื่อเทียบกับผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมหรือต่ำกว่า และหากผู้หญิงไทยกลุ่มนี้แต่งงานจะมีจำนวนลูกที่น้อยกว่ากลุ่มอื่น โดยผู้หญิงไทยที่มีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น 1 ปี มีแนวโน้มที่จะมีลูกลดลง 10%  ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งของอัตราการเกิดที่ลดลงในประเทศไทย และปัญหาที่จะตามมาในอนาคต คือ การขาดแคลนกำลังแรงงานของประเทศ

ภาพที่ 3 จำนวนลูกต่อผู้หญิงหนึ่งคนของผู้หญิงไทยแบ่งตามระดับการศึกษา

นอกจากนี้ ยังอาจมีปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือไปจากระดับการศึกษา ที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังการตัดสินใจแต่งงานและการมีลูกอีกด้วย ได้แก่

  • ต้นทุนของการเลี้ยงดูลูกที่เพิ่มขึ้น ทำให้คู่สมรสมีแนวโน้มที่จะชะลอการมีลูกหรือตัดสินใจไม่มีลูกเลย ข้อมูลจาก งานวิจัยล่าสุดของ Chamchan et al. (2019) ชี้ว่า การเลี้ยงลูก 1 คน (อายุ 0-14 ปี) อยู่ที่ประมาณ 1.57 ล้านบาท โดยต้นทุนการเลี้ยงดูบุตรนี้เพิ่มสูงขึ้นตามระดับรายได้ของครัวเรือน
  • ผลกระทบต่อค่าจ้างที่เกิดขึ้นจากการมีลูกของแรงงานไทย งานวิจัยของ Liao and Paweenawat (2019b) ได้ศึกษาความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่มีลูกและแรงงานที่ไม่มีลูก (parenthood wage gap) พบว่า การมีลูกส่งผลกระทบทางลบต่อค่าจ้างของแรงงานหญิง (motherhood wage penalty) โดยแรงงานที่ไม่มีลูกจะมีระดับค่าจ้างเฉลี่ยที่สูงกว่าแรงงานที่มีลูก ซึ่งความแตกต่างของค่าจ้างนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
  • ทัศนคติของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสูง มีทัศนคติต่อการแต่งงานและการมีลูกที่แตกต่างกันออกไป โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและความเป็นอิสระส่วนตัวมากยิ่งขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีจำนวนลูกลดน้อยลง Samutachak and Darawuttimaprakorn (2014) พบว่า กลุ่ม Generation Y ในประเทศไทย (คนที่เกิดระหว่างปี 1980-2003) ให้ความสำคัญกับการแต่งงานและการมีลูกน้อยกว่าเรื่องอื่น ขณะเดียวกัน งานวิจัยของ Isarabhakdi (2015) พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ ในไทยมีการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศ (lesbian, gay, bisexual, and transgender) เมื่อเทียบกับคนรุ่นเก่า
  • การขาดการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากทางภาครัฐและสังคม เช่น การขาดแคลนสถานเลี้ยงดูเด็กเล็กของภาครัฐ การขาดความยืดหยุ่นของเวลาการทำงาน การกีดกันแบ่งแยกในสถานที่ทำงานต่อแรงงานที่มีลูก ทำให้ลดความต้องการที่จะแต่งงานและมีลูกลงไป

ดังนั้น ภาครัฐควรเพิ่มนโยบายสนับสนุนสถาบันครอบครัวอย่างเร่งด่วนและจริงจัง ผ่านนโยบายกระตุ้นการแต่งงานและการมีลูกอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบดังเช่นในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่การเริ่มต้นชีวิตคู่ การมีลูก การเลี้ยงดูลูก โดยมีมาตรการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเงินทุนสนับสนุนและการลดหย่อนภาษี เป็นต้น

Source: สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ