16-11-2018

คำเตือน เมื่อหนี้ของเอกชนพุ่งสูงขึ้น กำลังจะทำร้ายเศรษฐกิจสหรัฐฯ

บทความโดย
  • ปัญหาหนี้ของภาคเอกชนสหรัฐอาจกำลังเป็นตัวก่อปัญหาให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งหน้า
  • กรณีของ GE ที่มีการขายสินทรัพย์บางส่วนออกมาอย่างเร่งด่วนเพื่อลดภาระหนี้สินอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกอะไรบางอย่างใต้พรมของเศรษฐกิจสหรัฐ

Scott Minerd, Chairman of Guggenheim Investments and Global

Reuter ได้รายงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์และทำนายถึงปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา โดย Scott Minerd ประธานเจ้าหน้าที่ลงทุน จาก Guggenheim Partners Global ได้ออกมากล่าวเตือนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาถึงเศรษฐกิจของสหรัฐว่ากำลังอยู่บนความเสี่ยงจากการก่อภาระหนี้สินที่เกินตัวของภาคเอกชนและกล่าวว่า เขาเตรียมตัวรับมือเรื่องนี้ด้วยการลงทุนในตราสารหนี้เอกชนที่มีความมั่นคงสูง

เขากล่าวไว้ในงานประชุม Reuters Global Investment 2019 Outlook Summit  ว่า “เป็นที่ชัดเจนว่า หนี้สินภาคเอกชนที่กู้มาเกินตัวจะต้องถูกรีดออกจากระบบอย่างแน่นอน”

Scott Minerd, Chairman of Guggenheim Investments and Global

เขายกตัวอย่างถึงกรณีปัญหาจากบริษัท General Electric ซึ่งราคาหุ้นได้ร่วงลงมากว่า 10% เมื่อวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2018 ที่ผ่านมา เมื่อนาย Larry Culp ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ GE ได้กล่าวว่า เขากำลังเร่งขายสินทรัพย์บางส่วนด้วย “ความเร่งด่วน” อย่างมากเพื่อจะช่วยลดภาระหนี้สินของ GE  อัตราดอกเบี้ยในตราสารหนี้ของ GE ซึ่งครั้งหนึ่งถือเป็นตราสารหนี้เครดิตสูง ได้พุ่งขึ้นอย่างมากในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ทาง Guggenheim คาดว่า ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับเครดิตน่าลงทุนมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จะถูกลดเกรดให้กลายเป็นตราสารขยะ (Junk Status)  ในระหว่างที่ธนาคารกลางสหรัฐยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปพร้อมกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในอีก 2 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐก็ได้มีการออกนโยบายแก้ปัญหา เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลตอบแทนสำหรับผู้ถือพันธบัตรสหรัฐที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

นอกจากนี้  Minerd ยังกล่าวถึงความน่าสนใจในการเข้าซื้อตราสาร Strips อายุ 30 ปี (ตราสารที่แยกดอกเบี้ยและเงินต้นออกจากกัน) โดยเขาได้เทขายเงินลงทุนในตราสารหนี้เกรดลงทุนของบางบริษัทไปเมื่อวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2018 โดยไม่ได้ระบุว่าเขาเทขายตราสารหนี้ของบริษัทใดทิ้ง

Minerd ยังได้กล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่กล่าวเพิ่มเติมว่าธนาคารกลางสหรัฐจะพบกับความยากลำบากในการบริหารจัดการการชะลอตัวแบบ soft landing ของเศรษฐกิจสหรัฐฯในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากปัญหาการก่อหนี้เกินตัวของภาคเอกชนที่สูง

“พวกเราอยู่ในกระบวนการของการที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจถูกบั่นทอนลงอย่างช้าๆ ความพยายามในการที่จะควบคุมปริมาณสินเชื่อท้ายที่สุดจะทำให้ปัญหาหนี้สินที่เกินตัวระเบิดออก”

ภาวะถดถอยดังกล่างอาจจะยังไม่ก่อตัวขึ้นจนกว่าจะถึงปี 2020 และธนาคารกลางของสหรัฐอาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกกว่า 5 ครั้งจนกว่าจะถึงสิ้นปี 2019 เว้นแต่ว่า ราคาน้ำมันจะลดต่ำลง หรือมีปัจจัยอื่นเข้ามาแทรกแซง ที่จะทำให้แผนการต้องเปลี่ยนไป

การขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งตัวยิ่งขึ้น และจะสร้างความกดดันให้กับกลุ่มประเทศ “ตลาดเกิดใหม่” (Emerging Market) ที่จะประสบปัญหาเงินทุนไหลกลับเข้าสหรัฐ และการชำระหนี้สินที่กู้มาในสกุลดอลลาร์

สำหรับนาย Minerd เขาเป็นผู้มีประสบการณ์อันโชกโชน มาจากการเป็นนักลงทุนที่มีส่วนช่วยปรับโครงสร้างหนี้ในอิตาลีหลังจากวิกฤติทางการเงินในยุโรปเมื่อปี 1992-1993 ซึ่งกรณีของอิตาลีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นหายนะทางเศรษฐกิจของยุโรปเลยก็ว่าได้

เขากล่าวอีกว่า ทาง EU ควรเปิดช่องให้รัฐบาลอิตาลีกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการขาดดุลการคลังภายใต้เงื่อนไขที่ต้องมีรายได้ภาษีที่สูงขึ้นเพื่อกันมาไว้ชำระหนี้ในอนาคต อย่างไรก็ตามเขามองว่าทางการ EU ไม่มีเจตจำนงทางการเมืองที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้

Source: Reuters