07-06-2018

การเข้ามาของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในร้านค้าของจีน แล้วคนจีนจะไปอยู่ไหน

บทความโดย
  • ร้านอาหารที่มีระบบอัตโนมัติกำลังได้รับความนิยมทั้งผู้ประกอบการและลูกค้าในประเทศจีน
  • การลดค่าใช้จ่ายพนักงานโดยอาศัยระบบอัตโนมัติกำลังเป็นแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารในประเทศจีน

ภาพโดย VCG (เว็บไซต์ Chinaplus)

ยุคของการปฏิวัติการให้บริการลูกค้าในธุรกิจค้าปลีกของอาลีบาบากรุ๊ปผ่านระบบชำระเงินผ่านมือถืออย่าง Alipay พร้อมกับร้านซุปเปอร์สโตร์ยุคใหม่กำลังจะเป็นต้นแบบของอนาคตธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจอื่นๆ

มีกรณีที่น่าสนใจในประเทศจีนคือร้านอาหาร Wufangzhai อายุกว่า 97 ปีซึ่งได้รับความนิยมในช่วงอาหารกลางวันอย่างมากที่คนต่อแถวเลยออกไปนอกประตูร้าน แต่ตอนนี้ได้เอาระบบขายสินค้าอัตโนมัติสั่งเมนูผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือแล้วไปรับอาหารที่ทำเสร็จร้อนๆจากช่องรับอาหารกว่า 40 ช่องภายในร้าน

โดยระบบดังกล่าวเป็นของ บริษัท Koubei ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอาลีบาบา โดยเป็นระบบช่วยในการขายให้ร้านอาหาร โดยลูกค้าสามารถสั่งซื้อ ชำระเงินโดยใช้ QR Code กับแอพ Alipay บนสมาร์ทโฟนของตนเอง เมื่อสั่งอาหารและชำระเงินไปเรียบร้อยแล้วจะได้รับการแจ้งเตือนเมื่ออาหารพร้อมแล้ว

ร้านอาหารสามารถลดพนักงานจากเดิม 13 คน ลงมาเป็น 6 คน สามารถลดค่าจ้างลงครึ่งหนึ่งจากเดิมที่ต้องจ่ายปีละ 600,000 หยวน  (94,740 เหรียญ)แต่ประสิทธิภาพที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 40%

การแข่งขันสู่การเติบโตของหุ่นยนต์ในร้านอาหาร

ระบบอัตโนมัติของ  Koubei นี้ ได้สร้างความสำเร็จให้กับร้านWufangzhai และได้นำไปลองกับร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดสองแห่งที่ให้บริการบนถนนไฮเวย์ในจังหวัดเจ้อเจียง (Zhejiang) และมีแผนจะเปิดให้บริการร้านที่มีพนักงานไม่เกิน 10 คนผ่านระบบนี้โดยจะขายอาหารอาทิ เบเกอรี่ ร้านขนมหวาน ร้านหม้อไฟ ในเมืองปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และ เซิ่นเจิ้น

โดยตัวแทนของ Koubei ได้กล่าวว่า “เรากำลังขยายบนฐานความต้องการของลูกค้าสำหรับแต่ละธุรกิจและในแต่ละพื้นที่”

การแข่งขันร้านอาหารที่ใช้พนักงานจำนวนน้อยเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้วโดยมีผู้เล่นหลักได้แก่ JD.com และ Suning.com ซึ่งเข้ามาเล่นในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ ร้านเสื้อผ้าแฟชั่น  ขณะที่อาลีบาบา ใช้การเปิดศูนย์การค้าที่ใกล้กับสำนักงานใหญ่ในหางโจวโดยรับแต่ Alipay เท่านั้น

นอกจากนั้นแล้วโรงแรมที่เลิกแผนกต้อนรับได้เปิดตัวในเมืองเฉิงตู ผู้เข้าทำการพักที่โรงแรมทำการจองโรงแรมโดยการส่งภาพตนเองเพื่อใช้ในการยืนยันตัวตน และมายืนยันตัวตนอีกทีผ่านกล้องที่โรงแรม ทำให้ลดการมีพนักงานต้อนรับลงได้มาก

ต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงจากคนสู่หุ่นยนต์ในร้านอาหารจีน

สาเหตุการเปลี่ยนแปลงในการลดจำนวนพนักงานมาจากค่าเช่าและค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้ค่าใช้จ่ายและต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ผลที่ตามมาคือการหายไปของรายได้ไปยังร้านค้าออนไลน์มากขึ้นทำให้ต้องนำเอามาตรการประหยัดรายจ่ายมาใช้ และรวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นที่มีต้นทุนถูกลงสามารถเข้าถึงง่ายขึ้น

รายงานของ AskCI Consulting  คาดว่าร้านค้าที่นำเอาระบบอัตโนมัติมาใช้จะมีมูลค่าราว  9.5 แสนล้านหยวนภายในปี 2022 นี่เป็นมูลค่าสำหรับร้านค้าปลีกเท่านั้น โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโต 30 เท่าสำหรับปี 2018 นี้

ทางด้านญี่ปุ่นคาดหวังร้านค้าอัตโนมัติที่จะเข้ามาทแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังอยู่ในช่วงทดลองมากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศจีน ส่วนหนึ่งมาจากการใช้ระบบชำระเงินผ่านมือถือที่ยังแตกต่างกันอยู่และรวมถึงความคาดหวังการให้บริการของลูกค้าอีกด้วย

ตัวเลขระบุว่าคนจีนชำระเงินผ่านมือถือในปี 2016 จำนวนมากถึง 39 ล้านล้านหยวน ซึ่งสามารถจับจ่ายใช้สอยตั้งแต่ร้านหรูยันร้านข้างถนนและความมั่นใจในระบบชำระเงินผ่านมือถือช่วยแก้ปัญหาเงินปลอมในระบบได้อีกด้วยทำให้เกิดความมั่นใจในการใช้เงินผ่านมือถือมากกว่าจ่ายเป็นเงินสด

อนาคตแรงงานจีน

แนวโน้มการนำเอาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในการให้บริการมากขึ้นในร้านค้าปลีกรวมถึงร้านอาหารในจีนเนื่องจากลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งค่าเช่าและค่าแรง ประเด็นที่ต้องถามต่อคือ แล้วคนงานจีนจะไปอยู่ตรงไหนของห่วงโซ่เศรษฐกิจจีนที่กำลังย้ายไปเช่นนี้ เพราะคนจีนที่มีงานทำคือกำลังการบริโภคที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนและรวมทั้งเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

ถ้าคนงานจีนทะยอยถูกปลดออกจากร้านอาหาร ร้านขายของชำ หรือแม้แต่ร้านเบเกอรี่แล้ว คนงานจีนเหล่านี้จะสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจและสังคมจีนมากน้อยขนาดไหน รัฐบาลจีนจะต้องจ่ายเงินสวัสดิการคนกลุ่มนี้อีกเท่าไหร่เพื่อให้ยังชีพอยู่ได้

ที่สำคัญถ้าคนจีนทะยอยตกงานไป แล้วไทยซึ่งกำลังพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเข้ามาบริโภคสินค้าไทยทั้งอาหารและอื่นๆ จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจบ้านเราเมื่อคนจีนมาเที่ยวไทยน้อยลงจากการที่หุ่นยนต์มาแทนที่คนมากขึ้น นับว่าต้องขบคิดกันถึงผลกระทบนี้

Source: Nikkei