17-02-2020

จีดีพีโดนหั่น ไตรมาส 4 โตเหลือ 1.6% ทั้งปี2562โตต่ำเพียง 2.4% คาดทั้งปี 2563 โตแค่ 1.5-2.5%

บทความโดย

GDP ไทยในไตรมาส 4 ปี 2562 ที่ผ่านมาอาการแย่กว่าที่คาดมาก รวมไปถึงตัวเลขGDP ประจำปี 2562 ที่ถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ทางด้านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ทำการคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะโตเพียง 1.5 – 2.5% เท่านั้น

รายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 /2562 ที่ผ่านมา เติบโตต่ำกว่าเป้าหมายและการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ไว้อย่างมากอยู่ที่ 1.6% เท่านั้น ซึ่งจากเดิมมีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 2.1% ทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2562 เติบโตเพียง 2.4% นับว่าต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว

การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 และปี 2562 ที่ผ่านมามาจากปัจจัยที่สำคัญ 3 ปัจจัยคือ

  • การขยายตัวในเกณฑ์ที่ต่ำของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความไม่แน่นอนของทิศทางมารตรการกีดกันทางการค้า และการแข็งค่าเงินบาท
  • ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ
  • ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และปัจจัยชั่วคราวในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการ

ไตรมาสที่ 4/2562 ที่ผ่านมาภาคเกษตรของไทยเติบโตติดลบ อยู่ที่ -1.6%  ขณะที่ภาคนอกเกษตรเติบโตต่ำเพียง 2.0% เท่านั้น โดยภาคการผลิตเติบโตต่ำมากอยู่ที่ -1.9% ขณะที่ภาคบริการยังเติบโตอยู่ในอัตรา 4.1% ขณะที่ด้านการใช้จ่ายการบริโภคภาคเอกชนเติบโตอยู่ที่ 4.1%  การลงทุนรวมโตต่ำมากเพียงแค่ 0.9%  ทว่าภาคที่ฉุดให้เศรษฐกิจโตต่ำอย่างมากมาจากภาคส่งออกและนำเข้าที่โตในอัตราติดลบและยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื่นแต่อย่างใด ในภาคการส่งออกอยู่ที่ -3.6% ทว่าภาคนำเข้าติดลบมากถึง -8.3%  โดยติดลบติดต่อกัน 3 ไตรมาส

ขณะที่ปี 2563  ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจไทยได้แก่

  • การระบาดของไวรัส Covid-19 ต่อภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะหายไปประมาณ 2.8 ล้านคน (มูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท)
  • สถานการณ์ภัยแล้ง ได้คาดการณ์ไว้ว่าภาคเกษตรจะลดลง 5.0% ขึ้นกับปริมาณน้ำฝนและการกระจายของฝนในช่วงที่เหลือของปี
  • ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ ทำให้เม็ดเงินลงทุนในปี 2563 ลดลงจากประมาณการเดินประมาณ 32, 000 ล้านบาท
  • ความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจโลกและการเงินโลกยังอยุ่ในเกณฑ์สูงและมีความเสี่ยงที่จะมากขึ้น อาทิ สงครามการค้า สหรัฐ-อียู, สหรัฐ-จีน, การชะลอตัวและปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจรุนแรง(จีน อาร์จเนตินา กรีซ)

ทั้งนี้ปัจจัยที่สนับสนุนในปี 2563 ได้แก่

  • เศรษฐกิจและการค้าโลก โดย Trade War มีแนวโน้มลดความรุนแรงลง ความเสี่ยงของการ N0deal Brexit ลดลง นโยบายการเงินผ่อนคลายทั้งโลก การปรับตัวของห่วงโซ่การผลิต
  • การบริโภคภาคเอกชน โดยอัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ
  • การลงทุนภาคเอกชน ได้รับอานิสงค์จาก Trade war ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่
  • มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐอาทิ ขยายสินเชื่อ พักชำระหนี้  การช่วยเหลือค่าครองชีพ  เลื่อนชำระภาษีเงินได้ มาตรการส่งเสริมการลงทุน

สภาพัฒน์ เห็นว่า แนวทางการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงปี 63  ควรมีดังนี้

  1. การประสานนโยบายการเงินการคลัง ดำเนินนโยบายการเงินควบคู่กับนโยบายการคลังเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก และสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวในครึ่งปีหลัง พร้อมแก้ไขปัญหาค่าเงินที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับแข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้าและคู่แข่ง
  2. การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ให้สามารถกลับมาขยายตัวในครึ่งปีหลัง โดยมีจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีไม่ต่ำกว่า 37.0 ล้านคน และ 1.73 ล้านล้านบาท ตามลำดับ โดยให้ความสำคัญกับ การยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าปรับให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส, การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวไทยหันมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น, การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังของปี, การพิจารณาวันหยุดเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีแรก โดยไม่กระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ และการติดตามขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว
  3. การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 2.0% (ไม่รวมทองคำ) โดยการขับเคลื่อนแผนการส่งออกปี 63, การให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้า และ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของไวรัส, การให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตและการค้าไทย-จีน และการเร่งรัดการเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ
  4. การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 งบประมาณเหลื่อมปี และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่า 91.2% 70.0% และ 75.0% ตามลำดับ
  5. การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการติดตามและขับเคลื่อนมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุน, การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ, การเร่งรัดการเจรจาความร่วมมือทางการค้าที่สำคัญ ๆ และการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการต่างชาติ
  6. การดูแลผู้มีรายได้น้อย ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรกรที่ทำงานในภาคบริการในช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูกและฤดูกาลเก็บเกี่ยว, กลุ่มพนักงานในสาขาการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง, กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs, การเร่งรัดเบิกจ่ายเงินชดเชย และการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และการบริหารจัดการน้ำ

Source: สศช (1) , (2) , InfoQuest