ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ไทยจากจีนเพิ่มมากขึ้น
- นักท่องเที่ยวจีนเดินมาเข้ามายั
งประเทศไทยจำนวน 10.5 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว คิดเป็น 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 1,175% ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา - ชาวจีนได้รับใบอนุญาตทำงานในไทยมากเป็นอันดับสองรองจากชาวญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นถึง 185.25% ในช่วงแปดปีที่ผ่านมา
- จีนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย และปีที่แล้วจีนเป็นประเทศที่ลงทุนโดยตรง (FDI) อันดับ 5
แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี เชื่อว่า ความสำคัญของจีนในฐานะแหล่งที่มาของความต้องการและการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยจะเพิ่มมากขึ้น การเติบโตที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและเป็นที่คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะมีความผันผวน ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของจีนและผลกระทบที่มีต่อกำลังซื้อของประชากร รวมถึงทัศนคติของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีต่อประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยว ในด้านการลงทุน ปัจจุบันการลงทุนของจีนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรมในไทยนั้นยังมีจำนวนจำกัด
แม้ว่าชาวจีนที่ได้รับในอนญาตให้ทำงานในประเทศไทยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อตลาดที่พักอาศัยให้เช่าในย่านใจกลางธุรกิจหรือซีบีดีมากนัก เนื่องจากงบประมาณในการเช่าที่พักอาศัยของชาวจีนโดยทั่วไปแล้วนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าชาวญี่ปุ่น ชาวอเมริกัน และชาวยุโรป ซึ่งเป็นความต้องการหลักในการเช่าที่พักอาศัยใน ซีบีดี
ในตลาดคอนโดมิเนียม จำนวนผู้ซื้อชาวจีนได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้พัฒนาโครงการบางรายเผยว่ายอดขายคอนโดมิเนียมที่มาจากผู้ซื้อชาวต่างชาติสูงถึง 50% และส่วนใหญ่เป็นผู้ซื้อชาวจีน นอกจากนี้ ยังรายงานอีกว่าคอนโดมิเนียมบางโครงการสามารถขายให้ผู้ซื้อชาวต่างชาติได้เต็มโควต้า 49% ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต
ผู้ซื้อชาวจีนในตลาดคอนโดมิเนียมของไทยที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากข้อจำกัดหรือภาษีที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับผู้ซื้อชาวต่างชาติในตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเทศอื่นๆ สำหรับประเทศไทย ชาวต่างชาติได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคนไทยในเรื่องภาษีจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ประเทศอื่น ผู้ซื้อชาวต่างชาติจะต้องจ่ายค่าภาษีอากรแสตมป์สูงกว่าผู้ซื้อในประเทศ
ซีบีอาร์อีมีความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนของความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมจากลูกค้าชาวจีน เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าผู้ซื้อบางรายอาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้ในแง่ของค่าเช่าหรือกำไรจากการลงทุน นอกจากนี้ มาตรการควบคุมเงินทุนของจีนที่จำกัดการนำเงินออกไปยังต่างประเทศเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับการที่ผู้ซื้อชาวต่างชาติไม่สามารถกู้ยืมเงินในประเทศไทยเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้นั้นอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการ
การลงทุนจากจีนในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมยังมีจำนวนจำกัด โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาร่วมทุนในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ยังคงมาจากญี่ปุ่น
บริษัทจีนเป็นที่มาของความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดพื้นที่สำนักงานของกรุงเทพมหานคร โดยธุรกรรมการเช่าพื้นที่สำนักงานที่ใหญ่ที่สุดหลายธุรกรรมในปีที่แล้วก็มาจากบริษัทด้านอี-คอมเมิร์ซของจีน สำหรับการลงทุนจากจีนในการพัฒนาอาคารสำนักงานยังคงมีอยู่จำกัด โดยนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดคือไชน่า รีซอร์สเซส (China Resources) ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ร่วมทุนในโครงการออล ซีซั่นส์ เพลส บนถนนวิทยุ ที่มีมานานกว่า 30 ปี
นักท่องเที่ยวชาวจีนได้กลายเป็นความต้องการที่สำคัญของตลาดค้าปลีกทั้งในกรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยวหลัก แต่จนถึงปัจจุบัน การลงทุนจากนักลงทุนจีนในการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนอย่างอาลีบาบาและ JD.com เป็นบริษัทแนวหน้าในตลาดอี-คอมเมิร์ซของไทย ซึ่งแข่งขันโดยตรงกับร้านค้าที่มีหน้าร้านและศูนย์การค้า
เป็นระยะเวลาหลายปีที่ญี่ปุ่นครองความเป็นผู้นำในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้ามาสู่ภาคการผลิตของไทย แต่ในปัจจุบันมีหลายปัจจัยด้วยกันที่ช่วยให้การลงทุนโดยตรงจากจีนในภาคการผลิตของไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ต้นทุนด้านแรงงานของจีนที่เพิ่มขึ้น และมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกาที่ออกมาเมื่อไม่นานมานี้ สำหรับสินค้านำเข้าที่มาจากจีน
ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ของไทยหลายรายกล่าวว่าความต้องการซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงงานใหม่นั้นมาจากบริษัทของจีนมากที่สุด
นายเจมส์ พิทชอน หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “ประเทศจีนจะยังคงเป็นแหล่งที่มาของความต้องการในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยที่เพิ่มขึ้น แต่ความต้องการนั้นอาจผันผวนตามความเชื่อมั่นและมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภาคธุรกิจ นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากจีนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านการร่วมทุนก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน”
ประเทศจีนนับเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก ข้อมูลจากแผนกวิจัยของซีบีอาร์อีแสดงให้เห็นว่าการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์จากจีนเพิ่มขึ้นจาก 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (256,000 ล้านบาท) ในปี 2556 เป็นเกือบ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.12 ล้านล้านบาท) ในปี 2560 แต่แนวโน้มนี้จะชะลอตัวลงในระยะสั้นจากการที่รัฐบาลจีนจำกัดการลงทุนในต่างประเทศและการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ
จีนยังคงเป็นแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการชะลอตัวของการลงทุนก็มีแนวโน้มที่จะเป็นจุดเริ่มต้นมากกว่าที่จะเป็นจุดจบของการลงทุนที่มาจากจีนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ