24-03-2020

ด่วนนายกฯ ประกาศพรก.ฉุกเฉิน เริ่ม 26 มีนาคม

บทความโดย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยทำการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อแก้ไขการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคมนี้

พลเอกประยุทธ์ได้กล่าวว่า “เรื่องการประกาศ พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 วันนี้เราจะเอา พ.ร.ก. ฉบับนี้มาประกาศ ซึ่งผมจะประกาศใช้ในวันมะรืนนี้ (26 มี.ค.) วันนี้ได้หารือในมาตรการอื่นๆที่จำเป็นแล้ว โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดระเบียบในการทำงาน และการยกระดับศูนย์โควิด ของเราเป็นศูนย์ฉุกเฉินในเรื่องการแก้ปัญหาโควิดนี้ หรือ ศอฉ.โควิด และมีคณะทำงานข้างล่างสอดประสานกันโดยมีปลัดกระทรวงของแต่ละภารกิจเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นหัวหน้าส่วนงานรับผิดชอบ ซึ่งจะติดตามมาตรการที่ประกาศออกไปแล้วเดิม ที่อาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอะไรก็ว่ากันไปในส่วนที่ 2 ก่อนจะเสนอมาตรการมาเพิ่มเติม เพื่อให้ศอฉ.โดยผมเป็นคนอนุมัติ เพราะอำนาจต่างๆทั้งหมดกฎหมายทั้งหมด จะมาอยู่ที่นายกเพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริงในการทำงานตรงนี้”

นายกฯได้เน้นย้ำว่าอยากให้เน้นการกักตัวที่บ้าน ในพื้นที่ และจะมีสถานที่กักตัวของรัฐเพิ่มเติมขึ้น หากพบการติดเชื้อมากขึ้นต้องหามาตรการรองรับ โรงพยาบาลสนาม เวชภัณฑ์ต้องจัดหาให้เพียงพอ ต้องจัดซื้อเพิ่มเติมเพราะทุกประเทศยังมีความต้องการ ขอทุกคนอย่างตื่นตระหนกก็คือปัญหา

ทั้งนี้ระยะเวลาการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินเบื้องต้นต้นอยู่ที่ 1 เดือนก่อน

ขอสรุปเนื้อหาคร่าวๆของพรก.ฉุกเฉินดังนี้

(1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ เป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น

(2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ

(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

Source: ฐานเศรษฐกิจ, กรุงเทพธุรกิจ