23-04-2019

ไตรมาสแรกผ่านไปแล้ว ส่งออกไทยยังไม่ฟื้นตัว

บทความโดย
ไตรมาสแรกผ่านไปแล้ว ส่งออกไทยยังไม่ฟื้นตัว ภาพโดย EIC

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ออกรายงาน “ส่งออกไทยเดือนมีนาคมหดตัวต่อเนื่อง และยังไม่พบสัญญาณฟื้นตัว” สรุปได้ดังนี้

  • การส่งออกของไทยยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว

มูลค่าการส่งออกไทยเดือนมีนาคม 62 หดตัว -4.9% YOY ต่อเนื่องจากจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -3.4%YOY  และเป็นการติดลบของภาคส่งออกเป็นเดือนที่ 5  ติดต่อกัน  โดยสินค้าส่งออกที่หดตัวรายการสำคัญๆ ได้แก่  คอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-20.0%YOY) แผงวงจรไฟฟ้า (-21.7%YOY) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (-19.5%YOY) รวมถึงหลายสินค้าสำคัญในหมวดเกษตรคือ น้ำตาลทราย (-23.0%YOY) ข้าว (-7.7%YOY) และมันสำปะหลัง (-9.4%YOY)

ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวต่อเนื่องที่ -7.6%YOY เป็นผลมาจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์และส่วนประกอบ และทองคำเป็นสำคัญซึ่งหดตัวสูงที่ -71.7%YOY และ -51.1%YOY ตามลำดับ ทำให้การนำเข้าในช่วงไตรมาสแรกหดตัวที่ -4.4%YOY

การหดตัวของมูลค่าการส่งออกปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าทั้งในรูปของรายสินค้าและตลาดส่งออก โดยผลกระทบมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง ทำให้ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวของภาคส่งออกไทย

นอกจากนี้ สินค้าส่งออกของไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในการผลิตสินค้าส่งออกจากจีนไปสหรัฐฯ โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และได้รับผลจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ อาทิ  1) เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2) แผงวงจรไฟฟ้า 3) ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และ 4) เคมีภัณฑ์ ในเดือนมีนาคม 2019 ยังคงหดตัวในระดับสูงที่ -37.6%YOY -45.2%YOY -29.3%YOY และ -15.5%YOY ตามลำดับ

  • อีไอซีปรับลดคาดการณ์มูลค่าส่งออกปี 2019 ที่ 2.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.4%

รายงานล่าสุดของ IMF และธนาคารโลก  ที่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2019 เหลือ 3.3% จากประมาณการครั้งก่อนหน้าที่ 3.5% พบว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าคาด

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยทั้งปี 2562 มีแนวโน้มหดตัวเมื่อเทียบกับก่อนหน้า ส่งผลให้มูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณธ์ปรับตัวชะลอลง

ทั้งนี้ทาง EIC มองว่าในช่วงครึ่งปีหลังของ 2562  การส่งออกของไทยน่าจะมีสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งได้รับอานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน นอกจากนี้ปัจจัยฐานต่ำในช่วงครึ่งหลังของปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า จะมีส่วนช่วยให้อัตราเติบโตของมูลค่าส่งออกปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2019

รวมถึงปัจจัยของธนาคารกลางประเทศสำคัญที่ไม่มีความกังวลเงินเฟ้อจะเร่งตัวในอนาคต (Dovish) มีส่วนสนับสนุนมาตรการให้ขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

  • อีไอซีปรับลดประมาณการการขยายตัวของมูลค่านำเข้าในปี 2019 จาก 3.6% เป็น 3.2%

ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลง ประกอบกับแนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 2019 ที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของมูลค่านำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง ทำให้คาดว่าการนำเข้าทั้งปี 2019 จะมีทิศทางชะลอลงจากปี 2018

  • ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังในภาคส่งออก

ได้แก่ 1) สงครามการค้าที่อาจกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง และ 2) เศรษฐกิจโลกที่อาจเติบโตได้น้อยกว่าที่คาด แม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ

ที่มา SCB EIC