เก็บหรือไม่เก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 15% แล้วคนฝากเงินควรทำอย่างไร
จากกระแสข่าวว่ากรมสรรพากรจะมีการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 15% ซึ่งแต่เดิมดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำกว่า 20,000 บาทจะได้รับการผ่อนผันไม่ต้องหักภาษีเงินได้ 15% จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.62นี้เป็นต้นไป โดยเหตุผลของทางกรมสรรพากรคือเพื่อแก้ปัญหาการหลบเลี่ยงภาษี
สำหรับผู้ที่ต้องการจะได้รับข้อยกเว้นในการเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 15% จะต้องทำการลงทะเบียนกับธนาคารผู้รับฝากเงินและยินยอมให้ธนาคารที่รับฝากเงินส่งข้อมูลการรับดอกเบี้ยให้แก่ทางสรรพากร
โดยทางนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้ออกมาเปิดเผยว่า กรมสรรพากรต้องการแก้ปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของผู้ที่มีเงินฝาก 4 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งจะได้รายได้จากดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต่อปี โดยทางธนาคารพาณิชย์บางแห่งให้การช่วยเหลือในการย้ายบัญชีก่อนจะที่จะถึงยอดรับดอกเบี้ย 20,000 บาท
แน่นอนว่าไม่เก็บภาษีดอกเบี้ย 15% สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากที่ยอมให้ข้อมูลการรับดอกเบี้ยกับทางกรมสรรพากร แต่จะเก็บ 15% สำหรับคนที่คิดว่าดอกเบี้ยน้อยมากจนไม่ส่งผลอะไรต่อเงินที่ได้รับจากดอกเบี้ยและคิดว่าข้อมูลบัญชีของตนเองยังควรเป็นความลับอยู่
ผู้ที่จะได้รับกระทบในครั้งนี้คือผู้ฝากบัญชีรายเล็กโดยปัจจุบันบัญชีฝากเงินที่มีเงินไม่ถึง 50,000 บาท เป็นสัดส่วนสูงที่สุดโดยข้อมูลเงินรับฝากของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ กุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ 86,362,131 บัญชี และ เกินกว่า 50,000 แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาทรวมกันกว่า 11,507,586 บัญชี ขณะที่บัญชีเงินฝากที่มากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไปอยู่ที่ 1,518,434 บัญชี ข้อมูลล่าสุดของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมดในธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 99,388,151 บัญชี
ผู้ฝากเงินควรทำอย่างไรกับภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก
จากเพจ TaxBugnoms ได้แนะนำสำหรับคนที่กังวลเรื่องการเสียภาษีดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น โดยทางเพจได้แนะนำไว้ดังนี้
- เช็คว่ามีบัญชีออมทรัพย์กี่บัญชี
- ดูบัญชีแต่ละธนาคารมีอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ และคำนวณรายรับจากดอกเบี้ยรวมกันทุกธนาคารว่าดอกเบี้ยรวมกันถึง 20,000 บาทหรือไม่
- สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเสียภาษี ให้ทำการแจ้งกับธนาคารว่ายินดีและยืนยันในการส่งข้อมูลการรับดอกเบี้ยเพื่อไม่ถูกนำไปใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- สำหรับผู้ที่เห็นว่าแม้จะโดนหักภาษีดอกเบี้ยเงินฝากในส่วนบัญชีออมทรัพย์ในจำนวนน้อยมากเช่นได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ทั้งปีรวมกัน 100 บาท โดนหักไป 15 บาท แล้วคิดว่าไม่คุ้มค่าในการยื่นข้อมูล ก็ปล่อยให้หักไปเลย
- นอกจากนี้ทางเพจยังแนะนำเงินฝากที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินฝากไว้อาทิ เงินฝากเผื่อเรียกธนาคารออมสิน, เงินฝากประจำปลอดภาษีของธนาคารพาณิชย์, เงินฝากออมทรัพย์ธนาคารเพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.), เงินฝากออมทรัพย์สหกรณ์ออมทรัพย์, สลากออมสิน, สลากธ.ก.ส.
Source: กรมสรรพากร , ข่าวหุ้น, เพจTaxBugnoms