03-04-2019

พื้นที่ด้านโลจิสติกส์มีแนวโน้มเติบโตในปี 2562

บทความโดย
พื้นที่คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ารุ่นใหม่ (MLP) ในประเทศไทย

ซีบีอาร์อี ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกเผยพื้นที่คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ารุ่นใหม่ (Modern Logistics Properties – MLP) ทั่วโลกได้กลายเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดสำหรับนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ     ผู้ค้าปลีกบนตลาดอี-คอมเมิร์ซจำเป็นต้องอาศัยคลังสินค้าที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่สูงมากเพื่อใช้เป็นศูนย์จัดเก็บ ค้นหาและบรรจุสินค้า รวมทั้งบริการจัดส่ง (Fulfilment Centre) และผู้พัฒนาโครงการทั่วโลกประสบปัญหาในการตอบสนองต่อความต้องการเนื่องจากอี-คอมเมิร์ซนั้นเติบโตอย่างรวดเร็วมาก

นายเจมส์ พิทชอน  กรรมการบริหาร  ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า “ตอนนี้คลังสินค้าได้รับความสนใจอย่างมาก คลังสินค้าหรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าพื้นที่คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ารุ่นใหม่ (MLP) ได้กลายเป็นหนึ่งในอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด โดยในบางประเทศได้รับความนิยมมากกว่าสำนักงานและศูนย์การค้า   ความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นและในหลายพื้นที่ยังรวมถึงค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่คลังสินค้าได้รับความสนใจ”

อี-คอมเมิร์ซนั้นเพิ่งจะเริ่มเติบโตในประเทศไทย โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของยอดค้าปลีกในปัจจุบัน แต่คาดว่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในไทยจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และน่าจะไปแตะระดับเดียวกับตลาดที่เติบโตแล้วซึ่งมียอดขายผ่านอี-คอมเมิร์ซราว 15-18% ของยอดค้าปลีกทั้งหมด

การเติบโตของอี-คอมเมิร์ซทำให้จำเป็นต้องมีระบบการจัดส่ง ระบบการจัดการสินค้าคงคลัง และรูปแบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น     จากการวิจัยในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างยอดขายออนไลน์และความต้องการพื้นที่คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ารุ่นใหม่ในสหรัฐอเมริกาของนายเดวิด อีแกน หัวหน้าแผนกวิจัยด้านพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ทั่วโลกของซีบีอาร์อี พบว่า หากใช้อัตราส่วนของตลาดสหรัฐอเมริกาในการเปรียบเทียบ ยอดขายออนไลน์ทุก 1,000 ล้านบาทในประเทศไทยจะทำให้เกิดความต้องการพื้นที่ด้านโลจิสติกส์สำหรับอี-คอมเมิร์ซประมาณ 4,000 ตารางเมตร

นายอดัม เบลล์ หัวหน้าแผนกพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย เชื่อว่าปี 2562 จะเป็นปีที่ความต้องการพื้นที่คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ารุ่นใหม่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้น

ดร.อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า มีการคาดการณ์ว่ากลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซของจีนอย่างอาลีบาบา และบริษัทมหาชนอย่างดับบลิวเอชเอจะประกาศแผนการลงทุนร่วมกันในปีนี้  โดยดับบลิวเอชเอจะใช้พื้นที่ 232 ไร่ในอ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านอี-คอมเมิร์ซด้วยเงินลงทุน 1,300 ล้านบาทสำหรับพัฒนาหุ่นยนต์  ระบบอัตโนมัติ  ระบบโลจิสติกส์ และศูนย์ดิจิตอล”

นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอยังได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท เจดี ฟิวเจอร์ เอ็กซ์โปร 1 จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจด้านการก่อสร้างและบริหารจัดการเกี่ยวกับโครงการโลจิสติกส์

ผู้เล่นในตลาดอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ทั้งสองนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นผู้เช่าพื้นที่ แต่ยังเป็นผู้ร่วมทุนในการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ซึ่งแตกต่างกับหลายพื้นที่ทั่วโลกตรงที่บริษัทอี-คอมเมิร์ซมักจะเป็นผู้เช่าพื้นที่แทนที่จะเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาโครงการ

ซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่าความต้องการพื้นที่คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ารุ่นใหม่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทย และคาดว่าอสังหาริมทรัพย์ด้านโลจิสติกส์จะกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย

หนึ่งในความท้าทายคือการค้นหาพื้นที่ที่มีราคาเหมาะสมและตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำเลที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด คือ พื้นที่ตามแนวถนนบางนา-ตราดระหว่างกม. 18-24 โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่กำหนดไว้สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม    การหาพื้นที่ในทำเลนี้กลายเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นเนื่องจากไม่ค่อยมีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีความเหมาะสมและเจ้าของที่ดินมีความคาดหวังในด้านราคาขายที่สูงขึ้น