15-06-2019

พาณิชย์ออกประกาศ “รถยนต์ใช้แล้ว” เป็นสินค้าต้องห้าม ห้ามนำเข้ามาในประเทศโทษถึงทำลายทิ้ง

บทความโดย

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา  ได้เผยแพร่ประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรพ.ศ. 2562

โดยประกาศฉบับนี้ได้มีการระบุว่า “รถยนต์ใช้แล้ว” ได้ระบุในประกาศฉบับนี้ในข้อ ๔ ให้หมายความว่า รถยนต์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว แต่ไม่รวมถึง

(๑) รถยนต์ที่ผ่านการใช้งานเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทดสอบคุณภาพหรือเพื่อการจัดส่ง ไปยังแหล่งจำหน่าย โดยมีหนังสือรับรองจากเจ้าของตราสินค้า

(๒) รถยนต์ที่ได้จดทะเบียนใช้งานครั้งแรกในต่างประเทศก่อนบรรทุกลงในยานพาหนะ จากเมืองต้นทางไม่เกินหกสิบวัน โดยได้ชำระภาษีอากรต่อกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ตามที่กำหนดสำหรับรถยนต์ใหม่

นอกจากนี้ถ้าใครต้องการสะสมรถโบราณอายุเกินหนึ่งร้อยปีไม่สามารถทำได้อีกต่อไปเพราะตามข้อ ๕ ระบุว่า

ข้อ ๕ ให้รถยนต์ใช้แล้วตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท ๘๗.๐๑ (ยกเว้นรถหัวลาก) ประเภท ๘๗.๐๒ ประเภท ๘๗.๐๓ (ยกเว้นรถพยาบาล) ประเภท ๘๗.๐๔ และรถยนต์ใช้แล้ว ที่มีอายุเกินหนึ่งร้อยปี (รถโบราณ) ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท ๙๗.๐๖ เป็นสินค้าที่ต้องห้าม ในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร

ข้อ ๖ ให้รถยนต์ใช้แล้วตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท ๘๗.๐๑ เฉพาะรถหัวลาก ประเภท ๘๗.๐๓ เฉพาะรถพยาบาล และประเภท ๘๗.๐๕ เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการน าเข้ามา ในราชอาณาจักร

ทั้งนี้ประกาศนี้ไม่ได้บังคับในเงื่อนไขดังนี้
ข้อ ๗ ความในข้อ ๕ และข้อ ๖ มิให้ใช้บังคับแก่

(๑) รถยนต์ใช้แล้วที่กระทรวงการต่างประเทศเห็นสมควรให้สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ องค์การระหว่างประเทศ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจของต่างประเทศ องค์กรต่างประเทศที่ได้รับ เอกสิทธิ์หรือบุคคลซึ่งได้รับเอกสิทธิ์ นำเข้ามาในราชอาณาจักรได้โดยมีหนังสือแจ้งกรมศุลกากร

(๒) รถยนต์ใช้แล้วที่กระทรวงการต่างประเทศเห็นสมควรให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ องค์การสาธารณกุศล ของประเทศไทยซึ่งได้รับบริจาคจากต่างประเทศ นำเข้ามาในราชอาณาจักร ภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติโดยมีหนังสือแจ้งกรมศุลกากร

(๓) รถยนต์ใช้แล้วที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและจะนำกลับออกไป หรือ นำออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวแล้วนำกลับเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมาย ว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร โดยผู้นำเข้าได้ทำพิธีการไว้กับกรมศุลกากรว่าจะนำรถที่นำเข้ามานั้นกลับออกไป หรือจะนำรถที่นำออกไปนั้นกลับเข้ามา แล้วแต่กรณี

(๔) รถยนต์ใช้แล้วที่ได้จดทะเบียนใช้งานภายในประเทศกับกรมการขนส่งทางบกแล้วส่งออก ไปนอกราชอาณาจักรแต่ไม่สามารถจดทะเบียนใช้งานในต่างประเทศได้หรือไม่สามารถนำเข้าไป ในประเทศนั้นได้ เป็นเหตุให้ต้องส่งกลับประเทศไทย ทั้งนี้ ต้องนำกลับเข้ามาภายในระยะเวลาสองปี นับแต่วันที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

(๕) รถยนต์ใช้แล้วที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อปรับปรุงหรือซ่อมด้วยวิธีการใด ๆ ให้มีสภาพใช้งานได้ในเขตประกอบการเสรีหรือเขตปลอดอากรแล้วส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

(๖) รถยนต์ใช้แล้วที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อใช้เป็นรถยนต์ต้นแบบสำหรับการวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะ โดยมีเอกสารการอนุมัติให้ได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิตหรือได้รับสิทธิ เสียภาษีในอัตราศูนย์จากกรมสรรพสามิตไปแสดงต่อกรมศุลกากรประกอบการนำเข้า

(๗) รถยนต์ใช้แล้วที่กรมศิลปากรมีหนังสือรับรองว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจัดแสดง ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้นโดยจะไม่นำไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก

(๘) รถยนต์ใช้แล้วที่กระทรวงกลาโหมพิจารณาอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรได้ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์

การนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งรถยนต์ใช้แล้วตาม (๓) ถ้าเป็นการนำเข้าเป็นการชั่วคราว เพื่อท่องเที่ยว ระยะเวลาที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรต้องสอดคล้องกับระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ ในราชอาณาจักรสำหรับนักท่องเที่ยว และในกรณีนำออกเป็นการชั่วคราวเพื่อท่องเที่ยว ระยะเวลาที่นำออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วนำกลับเข้ามาต้องสอดคล้องกับระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศนั้นสำหรับนักท่องเที่ยว

ข้อ ๘ การนำรถยนต์ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนข้อ ๕ ให้กรมศุลกากรทำลาย รถยนต์ดังกล่าวเสีย

ข้อ ๙ ให้รถยนต์ใช้แล้วที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวหรือ เพื่อปรับสภาพแล้วส่งออกในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ต่อไปจนกว่าจะพ้นภาระและความรับผิดตามกฎระเบียบที่กำหนดแล้ว

ประกาศฉบับนี้โทษร้านแรงถึงขั้นทำลายรถยนต์ที่นำเข้าได้เลยทีเดียว

Source: ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม136 ตอนพิเศษ153 ง ประกาศเผยแพร่เมื่อวันที่ 14  มิถุนายน 2562