- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดจีดีพีไทยปี 62 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิม 3/1% คาดปี 2563 จีดีพีมีความเสี่ยงต่ำกว่า 3.0%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิม 3.1% ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่ามีความเสี่ยงที่จะโตต่ำกว่า 3.0% จากหลายปัจจัยลบ
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าการปรับลดจีดีพีปี 2562 มาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ตัวเลขส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมา หดตัวมากกว่าคาด โดยหดตัวในหลายกลุ่มสินค้าและเกือบทุกตลาดหลัก ซึ่งส่งผลให้ปรับลดประมาณการการส่งออกลงเหลือ -2.0% ถึง 0.0% จากเดิมที่ 0.0%
สำหรับในปี 2563 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่มาก ทำให้การส่งออกยังคงหดตัว ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้จีดีพีมีโอกาสต่ำกว่า 3.0% อย่างไรก็ตาม ประมาณการนี้ตั้งอยู่บนเงื่อนไขแวดล้อมที่ประเมินได้ ณ ขณะนี้และยังไม่รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยในปีนี้ คาดว่ามาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” จะช่วยหนุนจีดีพีราว 0.02% ส่วนในปีหน้าต้องรอติดตามว่าจะมีมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งหากมี ก็ควรเน้นไปที่การดูแลแรงงานที่ไม่มีหลักประกันทางสังคมรองรับ อย่างเช่นกลุ่มอาชีพอิสระ รวมถึงเอสเอ็มอีที่ยอดขายชะลอตัวลง หลังผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย ในส่วนของมาตรการทางการเงินนั้น มองว่า กนง.อาจลดดอกเบี้ยได้อีก เพียงแต่มาตรการทางการเงินต้องใช้เวลากว่าจะทยอยเห็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ
ด้าน ดร.ศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อ จะกระทบการส่งออกของไทยในปี 2563 เพิ่มเติมอีก 1,000-2,500 ล้านดอลลาร์ฯ หลังต้องรับรู้ผลกระทบจากการเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนต่อเนื่อง ขณะที่ในปี 2562 คาดการณ์ผลกระทบไว้ที่ 2,100-3,000 ล้านดอลลาร์ฯ นอกจากนี้ แม้ว่าไทยอาจได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตบ้าง แต่ก็จะเน้นไปที่ธุรกิจที่ไทยเป็นฐานการผลิตเดิม
ส่วนสถานการณ์ Brexit คาดว่า มีความเป็นไปได้สูงที่สหราชอาณาจักรคงต้องออกจากสหภาพยุโรปแบบ No Deal โดยขั้นตอนต่อไปคือการตกลงกันเรื่องรูปแบบและข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน รวมถึงประเด็นพรมแดนไอร์แลนด์เหนือซึ่งพัฒนาการเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อตลาดเงิน แม้ว่าผลกระทบของ Brexit ต่อเศรษฐกิจไทยจะมีไม่มากนัก
ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันให้แข็งค่าอยู่จากการเกินดุลการค้าของไทย ซึ่งหากต้องการให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 ขยายตัวด้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ภาครัฐจะต้องมีมาตรการการคลังเพิ่มเติมเพื่อรองรับผลกระทบจากความเปราะบางของเศรษฐกิจซึ่งจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนไทยล่าสุดพบว่าสถานประกอบการเริ่มปรับตัวทางธุรกิจโดยการชะลอรับพนักงานใหม่และเลิกจ้างเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้า