กกร.เครียด ส่งออกติดลบ1% ลดเป้าจีดีพีเหลือ2.9-3.3%
ในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย ได้ออกแถลงถึงเศรษฐกิจไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี2562 นี้ว่า เครื่องชี้สภาวะเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลง โดยมาจากปัจจัยหลักได้แก่ ภาคการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนหดตัว จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวต่ำ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงเล็กน้อยส่วนหนึ่งมาจากมาตรการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐ แต่เป็นเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น
ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในความเสี่ยงและขาดปัจจัยที่จะหนุนเศรษฐกิจให้กลับมา โดยปัจจัยสงครามการค้าที่กลับมาสู่การเจรจาได้อีกครั้ง แต่ทว่าด้วยเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวจากความซบเซาทางการค้าของโลก ตลอดจนปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว และมีแนวโน้มว่าจะแข็งค่ามากขึ้นหากธนาคารกลางสหรัฐฯส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง จะส่งผลอย่างมากในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก อาจส่งผลให้ปี 2562 ทั้งปีในภาคส่งออกมีความเป็นไปได้ว่าจะไม่ขยายตัวเลย
ทำให้ที่ประชุมกกร. ปรับเป้าอัตราการเติบโตของภาคการส่งออกในปี 2562 ไว้ที่ -1.0% – 1% (จากเดิม 3.0-5.0%) โดยทางกกร.มองว่าแม้รัฐบาลใหม่เข้ามาจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง แต่ไม่เพียงพอชดชเยการส่งออกที่หดตัวในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างมาก
กกร.ปรับเป้าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลงมาอยู่ที่ 2.9-3.3% (จากเดิม 3.7-4.0%) โดยอัตราเงินเป้าไม่ปรับเป้าคงไว้ที่ 0.8-1.2%
ทางกกร. มีความกังวลในเรื่องค่าเงินบาทอย่างมาก พร้อมตัวเลขเทียบกับปีที่แล้วค่าเงินบาทแข็งค่าถึง 6% ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ถ้าไม่รีบดำเนินการใดๆออกมา ทั้งนี้ทางสอท.คาดหวังว่าเงินบาทจะอยู่ในกรอบ 32 บาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขอนัดพบเพื่อขอหารือกับทางผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยถึงประเด็นเรื่องค่าเงินบาทโดยคาดว่าจะได้เข้าพบในช่วงสัปดาห์หน้าหรือสิ้นเดือนกรกฎาคมอย่างช้าสุด
ตอนนี้กกร.มีความเป็นห่วงในปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัวลงอีก โดยมีหลายปัจจัยแต่ที่สำคัญคือ
1.สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มโดยรวมของสถานการณ์ดีขึ้น แต่ความชัดเจนอยังไม่มี
2.ค่าเงินในเวลานี้ที่เทียบกับคู่แข่งในภูมิภาค
3.การเมืองที่เวลานี้แม้จะตั้งรัฐบาลได้แต่การความล่าช้าทั้งการตั้งรัฐบาล กระบวนการงบประมาณ ที่จะขับเคลื่อนให้ได้เต็มที่จะล่าช้าออกไป
หลังจากนี้ทางกกร.จะสรุปประเด็นเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในฝั่งเอกชนเพื่อจัดทำเป็นสมุดปกขาวเพื่อยื่นเสนอต่อรัฐบาลชุดอย่างเป็นทางการต่อไป