กกร. ห่วงเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ไร้ปัจจัยหนุน ร้องรัฐดูแลค่าเงิน การบริโภคในประเทศ
ตัวเลขของสภาพัฒน์และธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาก่อนหน้านี้เป็นสัญญาณที่ขัดเจน ถึงภาวะเศรษฐกิจชะลอเพิ่มขึ้นด้วยสาเหตุจากหลายปัจจัย ได้แก่ ปัญหาสงครามการค้า, Brexit รวมถึงภาวะภัยแล้งและล่าสุดคือสถานการณ์น้ำท่วมในอีสานและภาคเหนือ ทั้งนี้ในครึ่งปีหลังพบว่าแรงส่งเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะไร้เรี่ยวแรง
กกร. ห่วงเศรษฐกิจไทยไร้ปัจจัยหนุน ทั้งค่าเงินบาทแข็ง แนวโน้มลดดอกเบี้ย
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ” ที่ประชุม กกร. จึงมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังขาดปัจจัยหนุน และมีโอกาสมากขึ้นที่ทั้งปี 2562 นี้ เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ นอกจากนี้ ยังกังวลต่อเรื่องเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นอีกหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกในช่วงข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของการส่งออกและการลงทุนของไทย จึงอยากให้ทางการออกมาตรการเพื่อดูแลการแข็งค่าของเงินบาทโดยเร็ว “
พึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล
ในช่วงครึ่งปีหลังปี 2562 ทางกกร. หวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชิม ช้อป ใช้ รวมถึงมาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตรสำคัญๆ อาจมีแรงบวกที่จะสามารถชดเชยผลกระทบจากหลายปัจจัยกดดันทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและนอกประเทศ
นอกจากนี้ อานิสงส์จากการที่ภาครัฐเตรียมจะออกมาตรการเพื่อดึงดูดการย้ายฐานการลงทุนจากผลกระทบเรื่องสงครามการค้า ก็อาจต้องใช้เวลา และคงจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานและแรงจูงใจที่มากพอสำหรับนักลงทุน ซึ่งรวมถึงประเด็นเรื่องค่าเงินด้วย
แต่ทั้งนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 3 แสนล้านที่รัฐบาลออกมาก่อนหน้านี้ ทางกกร. หวังอยากให้เกิดการกระจายของราไยด้ไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น อาทิการประชุมสัมมนาเป็นต้น เพราะจะช่วยเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดต่างๆ
ค่าเงินบาทแข็งค่า ไร้ทางออก
ในส่วนของประเด็นเรื่องค่าเงินบาที่แข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาค่าเงินแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับหยวน แข็งค่าขึ้นมา 10% และเมื่อเทียบกับค่าเงินวอนเกาหลีใต้ แข้งค่าขึ้น 14% เมื่อเทียบจากต้นปี ขณะที่ค่าเงินเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามกลับมีระดับที่มีเสถียรภาพมากกว่า รวมทั้งแรงกดดันจาก Fed อาจจะลดอัตราดอกเบี้ยอีก จะส่งผลให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์อาจจะแข็งค่ามากขึ้น
ทางกกร. ยังมองว่าการที่ค่าเงินแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัวเข้ากับยุคสมัยที่ค่าเงินบาทแข็งค่าที่อาจเป็น New Normal ที่ต้องอยู่กับมันให้ได้