JPMorgan เพิ่มเด็กไอทีและคณิตศาสตร์แทนสายการเงินรับมือฟินเทคในเอเชีย
- วงการการเงินกำลังเผชิญความท้าท้ายจากฟินเทคหน้าใหม่ๆที่เข้ามาทำให้สถาบันการเงินรายใหญ่ต้องดึงคนเก่งที่สุดในแต่ละวงการ โดยเฉพาะสายวิทยศาสตร์ วิศวกรรม คณิตศาสตร์ และรวมไปถึงด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยา
- JPMorgan เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ขยับในการไล่ล่าหาคนเก่งที่สุด ฉลาดที่สุดในทุกวงการเข้ามาในสังกัดของตนเอง คู่แข่งรายอื่นๆก็ต้องเร่งควานหาเช่นเดียวกัน
ตลาดแรงงานในภาคการเงินการลงทุนและการธนาคารกำลังมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยภาคการเงินกลับต้องการคนจบด้านวิศวกรรม ประสาทวิทยา จิตวิทยา มากกว่าคนที่จบสายการเงินโดยตรง
JPMorgan Chase & Co. คือตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงนั้น ซึ่งข้ามแปซิฟิกมาควานหากลุ่มที่เรียกว่า Talent หรือคนที่มีความสามารถพิเศษที่เรียนทางด้าน วิศวกรรม ประสาทวิทยา รวมถึงจิตวิทยา ในฝั่งประเทศเอเชียเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เร็วมากขึ้น
สายงานที่ภาคการเงินให้ความสนใจมากขึ้น
กว่า 1,000 คนที่จบการศึกษามาสดๆร้อนเตรียมที่จะเข้า JPMorgan ในเดือนมิถุนายนนี้ โดยร้อยละ 39% เป็นผู้ที่จบสาขาอื่นๆนอกเหนือจากสายธุรกิจและการเงิน นับว่าเป็นสถิติสูงที่สุดในรอบสามปี โดยกลุ่มนี้จะประกอบไปด้วยผู้ที่จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ด้านคณิตศาสตร์ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และด้านจิตวิทยา
โดยข้อมูลจาก Bloomberg แสดงให้เห็นว่า JPMorgan จ้างคนนอกสายการเงินมากขึ้นโดยเป็น ด้านคอมพิวเตอร์ 35% ด้านคณิตศาสตร์(อาทิ สายคณิตศาสตร์ประกันภัย สถิติ) 31% ด้านวิทยาศาสตร์ (อาทิ สายวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ประสาทวิทยา) 10%
จอห์น ฮอลล์ ซึ่งเป็น Co-heads สายงานวาณิชธนกิจประจำ Asia – Pacific โดยมีสำนักงานในนิวยอร์กกล่าวว่า “การเมืองและกฎระเบียบของรัฐบาลแต่ละประเทศกลายเป็นปัจจัยในการพิจารณมาเพิ่มมากขึ้นในด้านการเงินการลงทุน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆเหล่านี้”
ฮอลล์ยังกล่าวอีกว่า “มันง่ายที่จะจ้างคนสายการเงินเข้ามาทำงานเพราะวัฒนธรรมขององค์กรเข้ากับคนที่จบสายการเงินอยู่แล้ว แต่มันจะดีในระยะสั้นเท่านั้น เพราะถ้าคุณจ้างเฉพาะคนสายการเงิน คุณจะขาดความหลากหลายในด้านอื่นๆ ที่จะสามารถช่วยคุณแก้ปัญหาด้านต่างๆให้ดีขึ้น”
คนที่เข้ามาใหม่ราว 40% ของ JPMorgan จะมุ่นเน้นไปที่ลูกค้าใน 12 ประเทศของทวีปเอเชีย ขณะที่ส่วนที่เหลือจะทำงานส่วนสนับสนุนให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา Accenture ระบุว่า “การจัดหาเงินทุนของฟินเทคในเอเชียได้แซงหน้าทวีปอเมริกาเหนือเป็นครั้งแรกในปี 2016 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 11.2 พันล้านเหรียญจาก 5.2 พันล้านเหรียญในปี 2015”
ฮอลล์กล่าวว่า “เอเชียมีพลวัตรของความเปลี่ยนแปลงที่สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลก การมีคนที่มีความสามารถหลากหลายขึ้นจะช่วยเพิ่มความสามารถในการปรับตัวและสามารก้าวเดินไปกับความต้องการของลูกค้า ”
ภัยคุกคามของการเข้ามาของฟินเทคหน้าใหม่
ในปี 2016 ธุรกรรมทางการเงินในฝั่งเอเชียและแปซิฟิกอยู่ที่จีนและฮ่องกว่า 91% โดยเฉพาะฟินเทคอย่าง Alipay ของ Ant Financial Service Group รวมถึง WeChat Pay ของ Tencent หรือแม้แต่ Lufax ซึ่งมีJD.comและ Ping An
จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในเอเชียทำให้ความต้องการในการว่าจ้างบุคลากรที่ไม่ใช่สายการเงินมีความชัดเจนขึ้น ล่าสุดการรับสมัครงานที่ Morgan Stanley ร้อยละ 20% เป็นนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอีก 5 %เป็นสาขามนุษยศาสตร์
ขณะที่ในประเทศไทยเอง ทางธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กำลังชักชวนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากบริษัทในต่างประเทศเพื่อทำงานในโครงการต่างๆเช่น ที่ปรึกษาทางการเงินผ่านระบบอัตโนมัติ (Robo-Advisers )
JPMorgan ได้เพิ่มการจ้างงานจากมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีก 40 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018 เทียบกับ 30 เปอร์เซ็นต์ในปีก่อนหน้า มีคนเข้ามากรอกใบสมัครงานโดยรวมเพิ่มขึ้น 13% ขณะที่ใบสมัครจากคนที่ไม่จบสายการเงินหรือสายธุรกิจเพิ่มขึ้น 7%
ทั้งนี้ ฮอลล์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “JPMorgan ยังต้องการกวาดต้อนกลุ่มคนที่มีความสามารถพิเศษหรือ Talent อยู่ ซึ่งไม่ได้หมายถึงคนจบสายการเงินจะไม่สำคัญแต่อย่างใด พวกเรายังรู้สึกมีความสุขกับคนจบสายการเงิน แต่โลกความจริงแล้วเรายังต้องการคนที่ฉลาดที่สุด เก่งที่สุด ให้มาทำงานกับเรามากยิ่งขึ้น”
Source: Bloomberg