03-09-2019

สภาพัฒน์เครียด! หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง13 ล้านล้านบาท เป็นที่ 2 ของเอเชีย พร้อมคนว่างงานเพิ่ม

บทความโดย
  • หนี้ครัวเรือนไทยติดอันดับที่ 2 ของเอเชีย อันดับที่ 11 ของโลกจาก 74 ประเทศ
  • หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีอยู่ที่ 78.7 สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
  • ภาพรวมของสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งร้อยละ  32.3 และร้อยละ  12.5 ตามลำดับ

หนี้ครัวเรือนไทยติดอันดับ 2 ของเอเชีย

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า  รายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 2/2562 พบว่าไตรมาสที่ 1/2562 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 6.3  คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 78.7 สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสแรก 2560  โดยหนี้ครัวเรือนปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2560 เป็นต้นมา โดยไตรมาสสองปี 2562 มีอัตราเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง

ภาพรวมของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2  ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 11.3  สูงสุดในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2558 เป็นต้นมา ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 7.8  และร้อยละ 10.2  ชะลอลงจากร้อยละ 9.1 และ ร้อยละ  11.4 ในไตรมาสก่อน ตามลำดับ

ทั้งนี้นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองเพียงแค่ประเทศเกาหลีใต้ และอันดับที่ 11 ของโลกจาก 74 ประเทศ พร้อมกับการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในประเภทต่างๆได้แก่ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล  บัตรเครดิต หนี้รถยนต์

ในส่วนของสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น ยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค มีมูลค่า  127,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 2.74 ต่อสินเชื่อรวมและร้อยละ  2.75 ต่อ NPLs รวม ทั้งนี้ยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งร้อยละ  32.3 และร้อยละ  12.5 ตามลำดับ เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับยังคงอยู่ในระดับสูง สินเชื่อบัตรเครดิตยอดค้างชำระเกิน 3 เดือนกลับมาขยายตัวอีกครั้ง

ทางด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะชะลอลงจากช่วงครึ่งปีแรกเนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยลดลง ประกอบกับความเข้มงวดของการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน แต่ด้านคุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มจะด้อยคุณภาพมากขึ้นเนื่องจากการแข่งขันในตลาดของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่สูงมากก่อนออกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) จะออกมา

อัตราการจ้างงานลดลง

ในไตรมาสสองปี 2562 มีผู้มีงานทำ  37.8 ล้านคน ลดลงร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้มีานทำในภาคเกษตรลดลงต่อเนื่องร้อยละ 4.0 ด้วยปัจจัยจากภัยแล้ง ขณะที่ผู้ทำงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 สาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้แก่สาขาขนส่งการเก็บสินค้า การก่อสร้าง การศึกษา และสาขาการโรงแรมและภัตตาคาร

สำหรับสาขาที่มีการจ้างงานลดลงได้แก่ สาขาการค้าส่ง/ค้าปลีก และสาขาการผลิต ซึ่งเป็นไปตามกับการส่งออกที่หดตัว อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ  0.98 เพิ่มขึ้นใกล้เคียงอัตราร้อยละ 0.92 ในไตรมาสที่ผ่านมาแต่ลดลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 1.07 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7

ปัจจัยด้านสังคมอื่นๆ

จากรายงานภาวะสังคมไตรมาส 2/2562 ยังมีประเด็นที่สะท้อนปัญหาทางสังคมอันอาจสืบเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจได้แก่

  • การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพิ่มขึ้นไตรมาสสองปี 2562 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ขยายตัวร้อยละ 4.6 โดยปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขยำยตัวร้อยละ 6.9 ขณะที่การบริโภคบุหรี่ขยายตัวร้อยละ 0.9
  • คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นจากคดียาเสพติดที่เพิ่มขึ้น โดยไตรมาสสองปี 2562 คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 โดยเป็นคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ  21.6  ขณะที่คดีชีวิตร่างกายและเพศรับแจ้งลดลงร้อยละ 2.9 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์รับแจ้งลดลงร้อยละ 6.9
  • การเกิดอุบัติเหตุลดลง จำนวนผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้น สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 10.6 ขณะที่มีผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้นร้อยละ  3.0 และ 8.4 ตามลำดับ สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาจากการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด รถที่เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดเป็นรถจักรยานยนต์ มีสัดส่วนร้อยละ  40.1 ของประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด
  • คนไทยอ่านและใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้น แต่เด็กวัยเรียนยังมีปัญหาอ่านไม่ออกและขาดทักษะด้านการอ่าน ในปี 2561 คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปอ่านหนังสือและอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นร้อยละ 78.8 หรือ 49.7 ล้านคน และใช้ระยะเวลาในการอ่านเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน  แต่กลับพบว่า  เด็กวัยเรียนอายุ6-14 ปีประมาณ 5.1 แสนคน หรือร้อยละ 7.3 ยังมีปัญหาอ่านไม่ออกและอ่านไม่คล่อง
  • การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกับโอกาสทางการศึกษา จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2561 วัยรุ่นก่อนตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ ร้อยละ 51 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ซึ่งขณะตั้งครรภ์มีร้อยละ 23.3 ที่ได้เรียนต่อในสถานศึกษาเดิม และมีเพียง ร้อยละ 5.1 ที่จบการศึกษา โดยส่วนใหญ่ต้องหยุดเรียน/ลาออก และต้องพักการเรียนชั่วคราว