“ธุรกิจครัวร่วม” มาแรง ขี่กระแสธุรกิจส่งอาหารคึกคัก
ในเอเชียเวลานี้ ธุรกิจที่กำลังเป็นดาวรุ่งหนึ่งในนั้นคือร้านอาหารออนไลน์ (virtual Restuarant) ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการส่งอาหารตามบ้านมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เชฟที่อยากเข้าธุรกิจทำอาหารต้องรับความเสี่ยงในการทำธุรกิจเอง
Nikkei ได้ให้ชื่อกับธุรกิจร้านอาหารออนไลน์เหล่านี้ว่าเป็น “ร้านอาหารล่องหน”(Ghost Restuarant) ตั้งแต่ญี่ปุ่น จีน อินเดีย มีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยร้านเหล่านี้ไม่มีหน้าร้าน และให้บริการจัดส่งเท่านั้น ต้นทุนในการลงทุนและอัตราล้มเหลวมีสูงเมื่อเทียบกับร้านอาหารแบบนั่งทานที่ร้าน ขณะที่ปัญหาเรื่องขาดแคลนคนงาน ทำให้รูปแบบการซื้ออาหารกลับบ้านหรือส่งอาหารล้วนเติบโต
ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า ตลาดการจัดส่งอาหารออนไลน์ทั่วโลกในปัจจุบันมีมูลค่าถึง 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐและคาดว่าจะเติบโตมากกว่า 11% ต่อปีไปจนถึงปี 2566 ภูมิภาคที่เติบโตอย่างโดดเด่นคือภูมิภาคเอเชียซึ่งตลาดอาหารออนไลน์มีมูลค่ากว่า 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการในตลาดโลกอยู่ในเอเชียนั่นเอง
ในขณะที่การรับประทานอาหารในร้านอาหารหรือภัตตาคารเติบโตราว 10% ต่อปีระหว่างปี 2554-59 แต่คาดว่าจะเหลือเพียง 7.5% ภายในช่วงปี 2569 ตามรายงานของ Cushman-Wakefield
ร้านอาหารออนไลน์ซึ่งใช้ครัวร่วมกันในลักษณะครัวกลางกำลังเข้าสู่แนวโน้มนี้ ในประเทศจีนการส่งอาหารเติบโตอย่างรวดเร็วจตอนนี้มีมูลค่าของตลาดส่งอาหารอยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ร้านอาหารออนไลน์เหล่านี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
บริษัท Panda Selected ผู้ให้บริการห้องครัวแบบใช้ร่วมกันหรือครัวกลางกล่าวว่า “มันคือ Wework สำหรับร้านอาหาร” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่สูงขึ้นทำให้บริษัทต้องขยายห้องครัวที่ใช้ร่วมกันอีก 103 ห้องภายในสามปีทั้งในกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเมืองใหญ่อีกสองเมืองในประเทศจีน
ร้านอาหารที่ขายเฉพาะบนออนไลน์เท่านั้นกลายเป็นปรากฎการณ์ในสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆอย่าง นิวยอร์ก ชิคาโก มาตั้งแต่ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ หลังจากบริการส่งอาหารอย่าง Uber Eats และ GrubHub เปิดตัวจนตอนนี้ปรากฎการณ์นี้ได้เคลื่อนตัวมายังเอเชียแล้ว
โดยประเทศจีนจากข้อมูลวิจัยผู้บริโภค NPD ระบุว่า คนจีนใช้เว็บไซต์ในการสั่งอาหารแล้วให้มาส่งที่บ้านกว่า 63% เมื่อเทียบ 36% ในญี่ปุ่นที่ใช้บริการและ 27% ในเกาหลีใต้
ด้วยศักยภาพของตลาดจีนที่ทำให้ห้องครัวที่ใช้ร่วมกันหรือครัวกลางได้เป็นแรงกระตุ้นให้นักลงทุนจากต่างชาติอาทิ Travis Kalanick ผู้ก่อตั้ง Uber กำลังพิจารณาที่จะนำเอา CloudKitchens มาใช้ในจีนโดยมีแผนจะลงทุนทั้งอสังหาริมทรัพย์ สิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีและการตลาดมาใช้ในธุรกิจนี้ในจีน
ความเคลื่อนไหวอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจโดยเฉพาะในตลาดอินเดีย โดย Uber Eats ประกาศร่วมมือกับร้านกาแฟอินเดียในแบรนด์ที่ชื่อ Café Coffee Day เพื่อเปิดเครือข่ายร้านอาหารออนไลน์ที่จะเน้นเฉพาะส่งอาหารเท่านั้น โดยร้านCafé Coffee Day มีสาขากว่า 1,700 สาขาทั่วอินเดียโดย Uber Eats จะเน้นการใช้ข้อมูลวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความพึงพอใจของลูกค้า รวมทั้งใช้บทเรียนและความรู้ของร้านอาหารเสมือนจริงจากทั่วโลกเพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโต
ตัวอย่างของร้านอาหารออนไลน์ที่เติบโตอย่างเด่นชัดในอินเดียได้แก่ BOX8 ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2555 ให้บริการอาหารกว่า22,000 ชุดในเมืองหลักๆ ได้แก่ มุมไบ ปูนา (Pune) และบังกาลอร์ ในภาชนะบรรจุที่ง่ายในการขนย้าย
มีการคาดการณ์โดย Redseer ว่าตลาดอาหารออนไลน์ของอินเดียจะพุ่งสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 300 ล้านดอลลาร์ในปี 2559 หรือภายใน 4 ปีเท่านั้นเอง
ขณะที่ญี่ปุ่นสตาร์ตอัพ Sentoen วางแผนจะเปิดพื้นที่ทำอาหารร่วมกัน (co-cooking space) ในเขต Meguro ในกรุงโตเกียว โดยจะเปิดห้องครัวอิสระ4 แห่งโดยสามารถรับร้านอาหารออนไลน์ได้ 8 ราย โดยแบ่งเป็นช่วงกลางวัน 4 ร้าน และกลางคืนอีก 4 ร้านเพื่อเตรียมอาหารด้วยค่าธรรมเนียมรายเดือนตั้งแต่ 100,000-150,000 เยน (หรือราว 28,700 – 43,000 บาท)
“ด้วยต้นทุนเริ่มแรกคุณสามารถเริ่มด้วยเงินเพียง 500,000 เยน ในขณะที่ถ้าคุณจะเปิดร้านอาหารจริงๆ จะต้องมีอย่างน้อยๆ 10 ล้านเยน” Daisuke Yamaguchi CEO ของ Sentoen กล่าวไว้ ทั้งนี้ทางบริษัทได้รับผู้สมัครมาแล้วกว่า 30 รายและกำลังตรวจสอบเมนูที่วางแผนไว้ โดยทาง CEO ของ Sentoen วางแผนไว้ว่าจะเปิดห้องครัวที่ใช้ร่วมกันประมาณ100 ห้องภายใน 3 ปีในโตเกียว โอซาก้าและในเอเชีย
ร้านอาหารออนไลน์อีกรายที่น่าสนใจคือ 6curryKitchen ซึ่งเริ่มที่เขตEbisu ในกรุงโตเกียวที่เน้นไปที่ข้าวแกงกะหรี่ โดย Aya Hirose ผู้จัดการได้กล่าวว่า “เราต้องการเริ่มต้นธุรกิจอาหารอย่างเร็วที่สุดด้วยต้นทุนที่ต่ำและไม่ต้องเสี่ยงมาก ” โดยทีมงานของเธอเริ่มต้นเช่าพื้นที่เมื่อปี 2560
ความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานำไปสู่การเปิด 6curryKitchen เมื่อเดือนกันยายนโดยธุรกิจร้านอาหารของเธอเน้นสำหรับสมาชิกเท่านั้นโดยสมาชิกจ่ายเพียง 3,000 เยนต่อเดือนสำหรับข้าวแกงกะหรี่ทุกวัน
เธอกล่าวว่า “การเริ่มต้นด้วยร้านอาหารออนไลน์ไม่เพียงคุ้มค่า แต่ยังช่วยสร้างชื่อเสียงและทำให้ได้รับการยอมรับก่อนจะตั้งร้านอาหารเอง” ตอนนี้ร้าน 6curryKitchen กำลังจะขยายกิจการไปที่ไต้หวัน
Source: Nikkei