จีนสามารถตัดต่อพันธุกรรมตัวอ่อนมนุษย์รายแรกของโลก กล่อง”แพนโดร่า”ได้ถูกเปิดแล้ว
- การตัดต่อพันธุกรรมอาจจะกลายเป็นสนามรบทางเทคโนโลยีที่จีนใช้แข่งขันกับสหรัฐ
- นักวิทยาศาสตร์จีนออกโรงกระตุ้นให้รัฐบาลออกกฎระเบียบที่ชัดเจนในเรื่องนี้
รายงานระบุว่า นักวิจัยของจีนได้อ้างถึงความสำเร็จในการตัดต่อพันธุกรรมของมนุษย์ ซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกสำคัญในการรักษาผู้ป่วย HIV รวมถึงเป็นอนาคตใหม่ของอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงเป็นทัพหน้าในการผสมผสานทางเทคโนโลยีเพื่อแข่งขันกับโลกตะวันตกต่อไป
ศาสตราจารย์เฮ่อ เจี้ยนขุย นักวิจัยชาวจีนเชื้อสายอเมริกันทางด้านพันธุศาสตร์จากเมืองเซินเจิ้น ได้ออกมาประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า เขาสามารถตัดต่อพันธุกรรมของตัวอ่อนมนุษย์ด้วยเทคนิคล้ำยุคที่เรียกว่า CRISPR ซึ่งเป็นวิธีการที่ยอดเยี่ยมสำหรับการตัดต่อยีนที่มีชื่อว่า CCR5 ในการช่วยให้คู่แฝดหญิงที่เกิดมาได้มีภูมิต้านทานการติดเชื้อ HIV ได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลก อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเบื้องลึกในวารสารทางวิชาการที่เชื่อถือได้ อีกทั้งการตัดต่อพันธุกรรมก็ถูกมองจากนักวิทยาศาสตร์ทั้งของจีนและทั่วโลกว่าเป็นเรื่องที่ผิดต่อเกณฑ์ทางจริยธรรม รวมถึงการผ่าตัดอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กเมื่อเติบโตขึ้น อันเป็นผลจากการตัดต่อพันธุกรรมดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ ในวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศจีนเองก็มีความละเอียดอ่อนต่อเรื่องการตัดต่อยีนพันธุกรรม ซึ่งแม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวอาจจะเป็นสาขาที่จีนพยายามขึ้นมาเป็นหัวหอกในการแข่งขันกับโลกตะวันตก แต่สำหรับการตัดต่อพันธุกรรมก็ยังคงถูกตั้งคำถามอยู่ อีกทั้งนวัตกรรมด้านนี้ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง และมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้รับการผ่าตัดด้วย
“ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ที่ผู้คนจะกังขาและใช้มาตรฐานทางจริยธรรมและศีลธรรมในการตัดสินเรื่องนี้ ซึ่งในจีนเองก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก” John Christtodoulou หัวหน้าสาขาทางการแพทย์ระดับจีโนมส์ ของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ได้กล่าวไว้
ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2003 ก็เคยมีข่าวลือในเรื่องที่ศาสตรจารย์เฮ่อได้แหกกฎทางด้านการทดลองตัดต่อทางพันธุกรรมมาก่อน
ส่วนทางด้าน Harmonicare Medical Holdings Ltd ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพยาบาลที่เป็นต้นสังกัดของศาสตราจารย์เฮ่อ ได้ส่งสัญญาณเมื่อวันอังคารนี้ว่าเอกสารที่ขออนุมัติการทดลองผ่าตัดดังกล่าวถูกปลอมแปลง และทางคณะกรรมการก็ไม่เคยได้รับเอกสารข้อเสนอมาก่อนเลย
ทางด้าน Harmonicare Medical จึงจะเปิดสาธารณะให้องค์กรภายนอกได้เข้ามามีส่วนในการร่วมสืบสวนถึงเรื่องดังกล่าว รวมถึงความรับผิดชอบทางด้านกฎหมายและที่เกี่ยวข้องกับในทางบุคคลด้วย
ปัญญาประดิษฐ์
ศาสตราจารย์เฮ่อกำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างรุนแรงต่อหลักฐานที่ปรากฏ รวมถึงการที่เขาถูกตั้งคำถามในประเด็นทางด้านจริยธรรม ซึ่งเขาได้กล่าวว่าเด็กคู่แฝดที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนนั้นก็ได้รับการตรวจสอบเป็นอย่างดีแล้วด้วย
สำหรับวิธีการ Crispr ถือว่าเป็นเทคนิคผ่าตัดล้ำยุคที่ศาสตราจารย์เฮ่อนำมาใช้ในการตัดต่อยีนพันธุกรรม ซึ่งทางด้านหนึ่งในผู้ร่วมคิดค้นเทคนิคดังกล่าวคือ Jennifer Doudna นักวิจัยหญิงจากมหาวิทยาลัย California-Berkeley เธอได้ออกมากระตุ้นเตือนถึงในการนำเทคนิคดังกล่าวมาใช้จริงกับมนุษย์ว่าควรต้องมีความระมัดระวังยิ่งกว่านี้ เนื่องจากทุกวันนี้ยังไม่มีสถาบันทางการแพทย์ใดนำเทคนิคนี้มาใช้
ในตอนนี้การตัดต่อพันธุรกรรมกลายเป็นประเด็นโต้เถียงในสังคมจีนรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจเป็นตัวกำหนดทิศทางของเทคโนโลยีอื่นๆในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะทางด้าน ปัญญาประดิษฐ์ A.I. การแข่งขันระหว่างบริษัทของจีนและโลกตะวันตกได้มีส่วนช่วยพัฒนาระบบ A.I. ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เหมือนครั้งที่สงครามเย็นเคยส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านอาวุธและเทคโนโลยีมาแล้ว ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวได้เติบโตขึ้นรวดเร็วอย่างมาก เช่น นาย Elon Musk ผู้ก่อตั้งบริษัท Tesla ซึ่งเขาก็ได้ออกมาเตือนทุกฝ่ายถึงผลกระทบที่อาจตามมาในด้านลบด้วย
สำหรับสถานการณ์แข่งขันด้านนี้ จีนมีหัวหอกยักษ์ใหญ่สำคัญที่นำโดยบริษัทเอกชนชื่อดังอย่าง Alibaba และ Tencent ขณะที่ในโลกตะวันตกมี Facebook และ Google เป็นหัวหอก ที่น่าสนใจคือ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังมาแรงอย่างมากในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการพัฒนา A.I. ก็ได้เข้ามามีส่วนช่วยการเติบที่รวดเร็วนี้ด้วย รวมถึงการที่รัฐบาลจีนได้นำ Big Data เข้ามาใช้เพื่อเก็บข้อมูลของประชากรในเมืองใหญ่ รวมถึงพฤติกรรมและชีวิตส่วนตัว ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เกิดความกังวลในระดับสากลว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และอาจจะเกิดปัญหาตามมาได้หากข้อมูลเหล่านั้นถูกล่วงล้ำ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องแปลกที่การตัดต่อพันธุกรรมได้รับความสนใจ เพราะในระยะกลางแล้ว มันอาจสามารถช่วยผู้ป่วยจากโรคร้ายที่คุกคามชีวิตของผู้คนมานาน เช่น มะเร็ง และโรคระบาดอื่นๆ ส่วนในระยะยาวแล้ว นักวิทยาศาสตร์คิดว่ามันสามารถช่วยยกระดับสติปัญญาและความสามารถทางกายภาพของมนุษย์ให้เพิ่มขึ้นได้เหมือนที่เราคุ้นเคยกันในนิยายวิทยาศาสตร์หลายเรื่อง ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายต่ออำนาจของสหรัฐ และสร้างความวิตกว่าจีนอาจจะก้าวขึ้นมาแทนที่ในฐานะชาติมหาอำนาจของโลก
ข้อจำกัดของสหรัฐ
สำหรับโลกตะวันตก ทั้งสหรัฐและหลายประเทศในยุโรปต่างมีข้อจำกัดอย่างมากในการใช้เทคนิค Crispr เพื่อการตัดต่อพันธุกรรม ในขณะที่จีนมีข้อได้เปรียบมากกว่า เนื่องจากข้อกำหนดทางด้านกฎหมายในโลกตะวันตกนั่นเอง
“พวกเรามีกฎหมายที่หยุดเรื่องเหล่านี้เอาไว้” นาย Scott Gottlib ประธานของ U.S.FDA. ได้กล่าวไว้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา “ผู้ป่วยอาจมีอันตรายได้ ถ้าพวกเขาฝากชีวิตไว้กับผู้ที่ไม่สามารถตัดสินถึงความถูกผิดทางจริยธรรมหรืออาการป่วยได้”
สำหรับในประเทศจีน รัฐบาลได้ออกฎห้ามสำหรับการตัดต่อพันธุกรรมมาตั้งแต่ปี 2003 แต่ปัจจุบัน กฎดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุถึงบทลงโทษที่มีต่อการฝ่าฝืนไว้
ขณะนี้ จีนนับว่าเป็นประเทศที่เปิดกว้างในด้านการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมต่างๆ แต่ภาคเอกชนของจีนจะสามารถดำเนินการได้ก็ต้องอยู่ภายใต้อำนาจและการควบคุมของรัฐบาลจีน ซึ่งหากฝ่าฝืนใดๆ ก็อาจถูกระงับได้ทุกเมื่อเช่นกัน
ด้านสถานการณ์ของศาสตราจารย์เฮ่อนั้น ได้สร้างความไม่พอใจให้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จีนมาก เพราะพวกเขามองว่าเป็นการทำลายชื่อเสียงของวงการวิทยาศาสตร์จีนที่ได้มุ่งมั่นทำงานหนักเพื่อค้นคว้าและพัฒนานวัตกรรมด้านต่างๆมาตลอดหลายสิบปี มีนักวิทยาศาสตร์กว่า 122 คน ได้ออกแถลงการณ์ร่วมประณามการกระทำของเขา จากการกล่าวอ้างถึงความสำเร็จโดยที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญและไม่ผ่านการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ได้รับความเชื่อถือ รวมถึงเรียกร้องให้ระบุถึงกฎหมายควบคุมหลักเกณฑ์ทางจริยธรรมในเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น
ในข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลจีน มีประโยคที่กล่าวว่า
“กล่องแพนโดร่าถูกเปิดออกแล้ว พวกเรามีโอกาสไม่มากที่จะปิดมัน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป”
Source: Bloomberg