EU ประกาศ European Green Deal มุ่งสร้างสังคมเศรษฐกิจไร้คาร์บอนในปี2050 รับมือภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป โดย นาง อูร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน (Ursula von der Leyen) ได้ประกาศนโยบายครั้งสำคัญของสหภาพยุโรปโดยเรียกว่า “ข้อตกลงยุโรปสีเขียว”“European Green Deal” ซึ่งจะเป็นทิศทางใหม่ของเศรษฐกิจยุโรปในอีก 3 ทศวรรษข้างหน้านี้ ที่จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ การกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่จะสร้างอัตราการเจริญเติบโตรูปแบบใหม่ รวมทั้งการตอบสนองต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกได้ประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ” (Climate Emergency) และรวมไปถึงเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย
ก่อนหน้าจะแถลงอย่างเป็นทางการในเรื่อง European Green Deal ได้มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ในที่ประชุม COP25 ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน นางUrsula VON DER LEYEN ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ได้กล่าวถึงเรื่อง European Green Deal ไว้อย่างน่าสนใจไว้ 3 เรื่องด้วยกันคือ
1) เป็นยุทธศาสตร์การเติบโตใหม่ของยุโรป (New Growth Strategy) ทั้งเรื่องการเพิ่มงานและการปรับปรุงคุณภาพชีวิตซึ่งรวมไปถึงการลงทุนทั้งเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรมโดยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 1 ล้านล้านยูโรในอีก 10 ปีข้างหน้าเพื่อย้ายโมเดลเศรษฐกิจฟอสซิลแบบเดิมที่ปล่อยมลพิษมหาศาล
2) ในเดือนมีนาคม2020 จะมีการออกกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ European Climate Law
3) การเน้นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านเรื่องจากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to fork Strategy) และเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Strategy)
โดยมีเป้าหมายว่าสหภาพยุโรปได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2050 สหภาพยุโรปจะปลดล่อยก๊าซ CO2 หรือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์เหลือศูนย์ พร้อมกับการขับเคลื่อนธุรกิจสะอาด (Clean Technologies) และ ภาคการเงินสีเขียว (Green Financing)
ทั้งนี้ European Green Deal จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ด้วยการโยกเงินลงทุนมูลค่ากว่า 1 แสนล้านยูโรลงไปในภูมิภาคและ ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งตัวแผนนี้จะเป็นโรดแม็ปที่ให้ความสำคัญในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เรื่องป่าไม้ ภาคเกษตร เรื่องอาหาร เมืองสีเขียว อาทิระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
โดยประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้เน้นย้ำว่า European Green Deal ริเริ่มด้วยการให้ความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนนตั้งแต่การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อให้นำไปสู่การปกป้องตั้งแต่สังคม สภาพภูมิอากาศและ ดาวเคราะห์ที่เราอาศัยอยู่นี้
ในประเด็นการลงทุนนับว่าน่าสนใจมากว่าทางคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจะใช้ประโยชน์จากเงินของทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการสนับสนุนพร้อมได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรปหรือ European Investment Bank ที่เริ่มกลายตัวเองให้เป็น Europe ‘s Climate Bank
ใน European Green Deal ได้เสนอให้ประเทศสมาชิกทั้ง 28 ประเทศมุ่งเป้าไปที่การมี “ความเป็นกลางของสภาพอากาศ” (Climate neutral) ภายในปี 2050 ซึ่งหมายถึงกิจกรรมในสังคมปลดปล่อยในระดับที่ไม่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศแล้วรวมทั้งสภาวะโลกร้อนที่ไม่ได้มาจากก๊าซคาร์บอนได้ออกไซต์
ก่อนหน้านี้ตั้งแต่เมื่อครั้งข้อตกลงปารีสในเรื่องสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทางสหภาพยุโรปได้สัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ลงไป 40 เปอร์เซนต์เทียบกับทศวรรษที่1990 และภายในปี 2030 จะลดลงไปอีก 50เปอร์เซนต์และ ภายในปี 2050 ตั้งเป้าหมายไว้ว่า 100 เปอร์เซนต์ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์เลย
หลังจากนี้ European Green Deal จะกลายเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ของเศรษฐกิจยุโรปอย่างเด่นชัด เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรป การลดความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มคุณภาพชีวิต ทำให้สิ่งที่ตามมาอย่างแน่นอนคือกฎระเบียบของสหภาพยุโรปในเรื่องสิงแวดล้อม ป่าไม้ พลังงาน อาหาร ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม จะเข้มงวดมากขึ้น และเกิดการบังคับใช้ไปทั่วโลก แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบไปอย่างกว้างขวางในภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังค้าขายกับยุโรป
สิ่งที่ตามแน่นอนคือนโยบายกว่า 50 แผนที่ต่อเนื่องจากยุทธศาสตร์ Green Deal เราจะเห็น ภาษีเก็บจากการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในกระบวนการผลิต ซึ่งแน่นอนว่า Carbon footprints จะถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ในประเด็นการค้า รวมถึงประเทศใดไม่มีการเซ็นในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) จะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากประเทศนั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือสหรัฐอเมริกา
นโยบาย Green Deal เรียกได้ว่าเป็นข้อตกลงร่วมกันของระดับนโยบาย ปัญญาชน และภาคเอกชนของสหภาพยุโรปที่ไม่มีภาพของฝั่งขวาหรือซ้ายที่ชัดเจน แต่เป็นการยกระดับของระบบเศรษฐกิจยุโรป ยกระดับของภาคการผลิตในเชิงโครงสร้างทั้งหมด มาตรฐานใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เงินลงทุนในนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสะอาดจำนวนมาก แน่นอนจะตามมาด้วยข้อกีดกันทางการค้ากับประเทศที่ไม่สามารถทำได้ตามเกณฑ์ใหม่ของยุโรป ตั้งแต่ภาคเกษตร อุตสาหกรรม ขนส่ง รวมทั้งเรื่องหีบห่อสินค้า และภาคบริการต่างๆ
Source: Vox , Gizmodo, European Commission