17-01-2018

การปะทะกันของยักษ์ใหญ่ด้าน E-wallet ในอาเซียนของ Tencent และ Alibaba ใครจะครองตลาดนี้ไป

บทความโดย
  • ตลาดE-wallet ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่ยักษ์ใหญ่จากจีนเช่น Tencent และ Alibaba มองเป็นเป้าหมายชัดเจน
  • การเข้ามาในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีทั้งเข้ามาลงทุนเอง เข้ามาร่วมทุน หรืออาจะมาร่วมในรูปแบบอื่นๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนและเปิดลูกค้าใหม่ๆจากย่านนี้
  • ตลาดมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย และรวมถึงกัมพูชา อินโดนีเซีย เป็นตลาดที่ทั้ง 2 แบรนด์จากจีนให้ความสำคัญอย่างมาก

ตลาด E-wallet ถือว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่างค่ายยักษ์ใหญ่จากจีน 2 ค่ายระหว่าง Tencent และ Alibaba ยิ่งตลาดที่อยู่ใกล้กับจีนและมีเครือข่ายชาวจีนโพ้นทะเลอยู่จำนวนมากรองจากจีนแล้ว ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เราคุ้นเคยว่าอาเซียน เป็นตลาดที่สำคัญด้วยประชากรกว่า 600 ล้านคนที่ดึงดูดให้ 2 ค่ายยักษ์ใหญ่นี้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันฮ่องกงเป็นพื้นที่นอกประเทศจีนเพียงแห่งเดียวที่สามารถให้บริการ WeChatPay และ Alipay  กับเงินสกุลท้องถิ่นได้และยังรวมไปถึงการใช้บริการร่วมกับบัตรเดบิตและบัตรเครดิตซึ่งชาวจีนในแผ่นดินใหญ่มาท่องเที่ยวในฮ่องกงและใช้งานผ่านแอพทั้งสองในฮ่องกงได้อย่างเต็มที่

ภาพจาก pinterest

WechatPay ในตลาดมาเลเซีย

กลุ่ม Tencent นับว่าเป็นรายแรกที่เร่งทำตลาดนอกประเทศจีนอย่างหนัก ล่าสุดคือการให้แอพ Wechat ซึ่งเป็นโปรแกรมสนทนาและมีฟังก์ชัน E-wallet และจ่ายเงินออนไลน์ในตัวเอง สามารถใช้งานได้ในมาเลเซียโดยสามารถหักบัญชีจากบัญชีในธนาคารของมาเลเซีย ทำให้สามารถจ่ายเงินเป็นสกุลเงินริงกิตมาเลเซียได้

ด้วยขนาดคนใช้งาน Wechat กว่า 20 ล้านคนในมาเลเซียและต้อนรับผลิตภัณฑ์จากจีนได้โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ออนไลน์ โดยกลุ่มผู้ใช้ใหญ่ที่สุดนอกประเทศจีนคือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมาเลเซียก็เป็นหนึ่งในประเทศนั้น

 

ภาพจาก Facebook WeChat Pay Malaysia

ความเคลื่อนไหวของ Alipay

ด้าน Ant Financial ยังไม่ได้เน้นเรื่องธุรกรรมเงินสกุลท้องถิ่นบนแอพ Alipay แต่มีการร่วมทุนกับ CIMB ซึ่งเป็นผู้บริหารบัตรสมาร์ทการ์ดสำหรับในการเดินทาง Touch’n Go ในมาเลเซียให้สามารถใช้บริการ E-wallet ของ   Alipay ได้เพราะมองเห็นศักยภาพของนักท่องเที่ยวจำนวน   10 ล้านคนที่ใช้บัตรในการเดินทางรถไฟใต้ดิน รถประจำทาง ทางด่วน หรือที่จอดรถ

ในส่วนของไทย  Ant Financial  ได้ลงทุนใน Ascend Money บริษัทฟินเทคในเครือซี.พี.ที่ให้บริการE-Wallet ใน True Moneyบนฐานลูกค้าประมาณ 3 ล้านราย และรวมไปถึงการให้บริการ Alipay ในร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ซี.พี.เช่นกัน  นอกจากเครือซี.พี.แล้วยังได้จับมือกับธนาคารกสิกรไทยในการทำบาร์โค้ตให้ผู้ขายเพื่อสะดวกในการจับจ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวจีน

ภาพจาก REUTERS/Ali Song

ฟิลิปปินส์ Ant Financial เข้าไปลงทุนในบริษัท Mynt เป็นเจ้าของบริการแอพชื่อ Gcash เป็นผู้ให้บริการ E-Wallet ใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์

สิงคโปร์ Alipay เข้าไปร่วมกับบริษัทฟินเทคของสิงคโปร์ชื่อ CC Financial Services เพื่อให้บริการแพล็ตฟอร์มการชำระเงินโดยไม่ต้องใช้เงินสด (cashless payment platform)

แม้แต่ในกัมพูชา Alipay ได้เข้าไปร่วมกับ Anco Group ซึ่งให้บริการ Pi Pay ทำให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถใช้บริการ Alipay บนฐานของ Pi Pay ในกัมพูชาซึ่งมีอยู่ในร้านค้าต่างๆ ร้านสปา ปั๊มน้ำมัน และร้านอาหารกว่า 1,400 จุดในกัมพูชา

ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่เติบโตอย่างมาก บริษัทวิจัย Euromonitor กล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีระบบการชำระเงินผ่านมือถือในประชากรประมาณ 50% โดยคนที่มีสมาร์ทโฟนในหกประเทศที่สำคัญและน่าจะถึง 70% ภายในปี 2021 ดังนั้นตลาดของระบบการชำระเงินและ E-Wallet ในตลาดดังกล่าวยังเติบโตได้อีกมหาศาล

การปรับตัวของเจ้าตลาดเดิม

แม้ว่าการเข้ามาของยักษ์ใหญ่อย่าง Wechat ของ Tencent หรือ Alipay ของ ALibaba จะทำให้ทุกคนล้วนตื่นตกใจเพราะกลัวว่ารายใหญ่จากจีนจะเข้ามาแย่งลูกค้าตัวเอง (แน่นอนว่าต้องมีการแย่งชิงในระยะอันใกล้นี้)

ตัวอย่างที่ชัดเจนของการปรับตัวคือ ธนาคารในท้องถิ่นอย่างในประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์เร่งออกแอพมือถือในชื่อ SCB Easy  ออกมาเพื่อกวาดลูกค้าเข้ามาใช้บริการให้ได้มากที่สุด ขณะที่กลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคารเองก็เร่งปรับตัวอย่างหนักเพราะรู้ว่าถ้ายักษ์ใหญ่เข้ามาแล้วลูกค้าคงหนีหายไปแน่นอน  เจ้าตลาดเดิมจึงออกแอพเช่น ในไทยจะเห็น Line Pay, AIS mPay ในอินโดนีเซียก็จะเห็นGo-Pay  สะท้อนชัดเจนว่าตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเติบโตได้อีกมากและคงเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดไปอีกพักใหญ่อย่างแน่นอน

Source: Nikkei