25-09-2019

ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมพร้อมปฏิรูปอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของตลาดการเงินโลก

บทความโดย
  • กลุ่มธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EMEAP) เผยแพร่รายงาน  “Study on the Implication of Financial Benchmark Reforms

กลุ่มธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (Executives’ Meeting of East Asia-Pacific Central Banks: EMEAP)1 เผยแพร่รายงาน “Study on the Implication of Financial Benchmark Reforms” ที่คณะทำงานด้านตลาดการเงิน (Working Group on Financial Markets: WGFM) ของประเทศสมาชิกร่วมกันจัดทำขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ร่วมตลาดทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์และบริษัทเอกชน ให้เตรียมการรองรับการปฏิรูปอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของตลาดการเงินโลก (Financial Benchmark Reforms)

การดูแลมาตรฐานด้านตลาดการเงินโดยเฉพาะการจัดทำอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงให้เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีผลต่อความเชื่อมั่นของสาธารณชนในการนำไปใช้อ้างอิงในสัญญาทางการเงินประเภทต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา ด้วยโครงสร้างตลาดที่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะสภาพคล่องของตลาดการกู้ยืมระหว่างธนาคารที่มีแนวโน้มลดลง กอปรกับเหตุการณ์ความพยายามบิดเบือนข้อมูลที่นำไปใช้คำนวณอัตราดอกเบี้ย LIBOR (London Interbank Offered Rate) ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลต่างให้ความสำคัญและดำเนินการปฏิรูปการจัดทำอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงให้มีมาตรฐาน ความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

รายงานฉบับนี้กล่าวถึง ผลกระทบและนัยเชิงนโยบายต่อการปฏิรูปอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดการเงินใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

(1) การยุติการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง LIBOR

(2) การปรับเกณฑ์กำกับดูแลอัตราอ้างอิงของสหภาพยุโรป (EU Benchmark Regulation: BMR)

(3) การยกระดับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสกุลต่าง ๆ ในกลุ่ม EMEAP

โดยผลการศึกษาซึ่งได้จากการรวบรวมข้อมูลและสำรวจความเห็นของผู้ร่วมตลาดภายในกลุ่ม EMEAP ได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อตลาดการเงิน และเสนอแนะให้ทุกประเทศติดตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างใกล้ชิด ประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจขึ้นกับการดำเนินงานของตน รวมถึงให้เตรียมการรองรับพัฒนาการดังกล่าวไว้ล่วงหน้า

ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดของแถลงข่าวและรายงานฉบับเต็มได้ที่ website ของ EMEAP www.emeap.org