กนง.หั่นดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% อยู่ที่ 1.25% ชี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ขณะที่ 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
โดยทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายมากขึ้น สาเหตุจากการส่งออกที่ลดลงส่งผลไปยังการจ้างงานภายในประเทศและกำลังซื้อในประเทศชะลอตัว พร้อมทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
ทั้งนี้กรรมการส่วนใหญ่เห็นด้วยให้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ส่วนกรรมการที่เห็นว่าให้คงอัตราดอกเบี้ย 2 ท่านเห็นว่าในภาวะปัจจุบันที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลายอยู่แล้ว การลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังจำเป็นต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีจำกัดเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต
ภาคเศรษฐกิจไทยที่กำลังส่งสัญญาณชะลอตัวได้แก่
- การส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้ ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้า
- ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง
- การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือนและการจ้างงานที่ปรับลดลงเร็วโดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
- การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้
นอกจากนี้ความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
ปัจจัยอื่น ทางคณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต
นอกจากนี้ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง ภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่องแต่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยน คณะกรรมการฯ ยังกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในภาวะที่ความเสี่ยงด้านต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น
ในส่วนของระบบการเงินที่มีเสถียรภาพอยู่แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคตโดยเฉพาะคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจ SMEs ที่ด้อยลง ซึ่งยังต้องติดตามพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ พฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร