7-11 ในญี่ปุ่น จะเป็นผู้นำในการลดปัญหาอาหารเหลือทิ้ง
- 7-11 ในญี่ปุ่นจะลดระยะเวลาจัดส่งสินค้าจากผู้ผลิตและโรงงาน เพื่อแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้ง
มีรายงานจากกรุงโตเกียว เกี่ยวกับหนึ่งในยุทธวิธีซึ่งทาง 7-11 ของญี่ปุ่นได้นำมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องอาหารเหลือ โดยต้องการที่จะลดความต้องการในการจัดส่งของผู้ผลิตอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มเส้นอย่างบะหมี่สำเร็จรูป เพื่อหวังแก้ปัญหาในระยะสั้นในเรื่องอาหารเหลือทิ้ง
เวลานี้ทาง 7-11 ในญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้บริการ Chain Store รายใหญ่ กำลังทำลายกฎที่เรียกว่า “กฎ 1 ใน 3” ของตัวเอง ซึ่งเป็นกฎที่เกี่ยวกับการส่งคืนอาหารเหลือทิ้งหลังจากที่ผู้ผลิตอาหารจัดส่งสินค้ามา โดยนับเวลาไป 1 ใน 3 ของระยะเวลานับจากผลิตจนถึงวันหมดอายุ แล้วระหว่างนั้นหากสินค้าอยู่ในช่วงระหว่างใกล้หมดอายุ ทาง 7-11 ก็จะส่งสินค้าเหล่านั้นกลับคืนไปยังผู้ผลิต
กระบวนการนี้เป็นการดำเนินงานประจำที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปี แต่ปรากฏว่ามันถูกวิจารณ์อย่างมาก เพราะทำให้เกิดปัญหาอาหารเหลือทิ้งในปริมาณมากขึ้นในทุกปี
หากไปดูยอดขายของ 7-11 ในญี่ปุ่น พบว่า ยอดขายของบะหมี่สำเร็จรูปในญี่ปุ่นอยู่ที่ 15% ของทุกสาขา ดังนั้นการตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายในครั้งนี้จะเป็นการส่งผลกระทบที่ดีมากต่ออุตสาหกรรมในญี่ปุ่นเอง ตามคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ของบริษัทผู้จัดส่งอาหารรายใหญ่แห่งหนึ่ง
จากข้อมูลในปี 2017 ที่ผ่านมาสินค้ากลุ่มอาหารสำเร็จรูปมูลค่ากว่า 5.62 หมื่นล้านเยน (ประมาณ 507 ล้านเหรียญสหรัฐ) จะถูกส่งกลับคืนยังผู้ผลิตตามกฎ 1 ใน 3 ซึ่งตามการประมาณการณ์โดยสถาบันเศรษฐศาสตร์แห่งญี่ปุ่นได้ให้ตัวเลขว่า สินค้ามูลค่ามากกว่า 4 หมื่นล้านเยน หรือประมาณ 70% จากทั้งหมด ถูกนำไปทิ้ง ทั้งที่ยังสามารถนำมารับประทานได้อยู่
ทางกระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมในญี่ปุ่นยังได้ประมาณการณ์ว่า จำนวนอาหารที่เหลือทิ้งนั้นมีมากกว่า 6 ล้านตัน จากเมื่อปี 2015 กว่าครึ่งหนึ่งเป็นอาหารเหลือทิ้งจากร้านอาหาร
ตามรายงานในปี 2016 ยังระบุว่า ญี่ปุ่นมีอาหารเหลือทิ้งและเศษอาหารประจำปีเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านตันโดยมีขยะต่อหัวอยู่ที่ 133 กิโลกรัม ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเกาหลีใต้แล้ว ถือว่าญี่ปุ่นสูงกว่า 114 กิโลกรัมและ 75 กิโลกรัม ขณะที่ทางองค์การสหประชาชาติ ได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเรียกร้องให้นานาชาติช่วยกันลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งระดับต่อหัวสำหรับผู้ค้าปลีกและผู้บริโภคภายในปี 2030
สำหรับกฎ 1 ใน 3 เป็นยุทธวิธีซึ่งได้รับการเสนอขึ้นมาโดยผู้ค้าปลีกในญี่ปุ่นเมื่อปี 1990 เพื่อช่วยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการอาหารสดใหม่ แต่นั่นคือสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น ซึ่งเวลานี้กฎดังกล่าวดูจะเป็นผลดีอีกแล้ว ซึ่งทาง 7-11 ก็จะเริ่มปรับเปลี่ยนกฎที่ใช้มานานกว่า 30 ปีเพื่อให้สามารถลดปริมาณอาหารที่ส่งคืนให้กับผู้ผลิตได้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม จึงจะเริ่มรับสินค้าในกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในกึ่งกลางระหว่างวันที่ผลิตและวันหมดอายุ โดยในเวลานี้ก็ได้เริ่มมีการนำกฎใหม่ไปใช้กับกลุ่มเครื่องดื่มและขนมหวานแล้ว ดังนั้นการเพิ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเข้ามาด้วยซึ่งถือว่าเป็นสินค้ายอดนิยมของ 7-11 เท่ากับว่าเป็นแนวโน้มที่กลุ่มอาหารแปรรูปส่วนใหญ่จะได้ถูกนำมาใช้กับนโยบายใหม่ที่ว่ามา ซึ่งก็จะช่วยให้โรงงานหรือผู้ผลิตและผู้จัดส่งต้องชะลอการจัดส่งและได้รับอาหารเหลือที่ส่งคืนน้อยลง
สำหรับกฎใหม่นี้ ทาง 7-11 ก็กำลังเริ่มทดสอบในกลุ่มอาหารแปรรูปประเภทอื่น รวมถึงกลุ่มอาหาร Organic และกลุ่มเครื่องปรุงรสสำหรับบางสาขา ซึ่งหากได้ผลดีก็จะเริ่มใช้ไปทั่วประเทศในเร็ว ๆ นี้
สำหรับผู้ให้บริการเครือข่ายร้านค้าปลีกสะดวกซื้อรายอื่น เช่น Family Mart และ Lawson ก็ได้เสนอให้ใช้กฎแบบ “ครึ่งทาง” สำหรับกลุ่มเครื่องดื่มและขนมหวาน โดยทาง Family Mart ได้ขยายรายการไปยังกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเดือนมีนาคม ส่วน Lawson วางแผนที่จะตามหลังเดือนตุลาคม
ทั้งนี้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการผ่อนคลายกฎดังกล่าว อาจมาจากความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาลทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเร่งคือ ปัญหาการขาดแคลนพนักงานขับรถบรรทุก ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้ผลิตในการขนส่งสินค้า ดังนั้นหากมีการขยายระยะเวลาสำหรับกำหนดส่งสินค้า ก็จะช่วยลดภาระลงไปมากด้วย
อย่างไรก็ตาม หากมีการนำกฎใหม่มาใช้อย่างกว้างขวาง ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นอาจพบผลิตภัณฑ์ที่ใกล้วันหมดอายุมากขึ้นบนชิ้นวางสินค้า แต่นี่ก็อาจจะไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากมีผลสำรวจของกลุ่มผู้บริโภคเมื่อปี 2560 โดยบริษัท Interwired ในโตเกียว ที่ชี้ว่า 86% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความเต็มใจที่จะบริโภคอาหารแม้จะใกล้วันหมดอายุไปบ้าง
นับว่าเป็นกรณีที่ผู้ค้าปลีกกำลังวางเดิมพันซึ่งเกี่ยวพันกับพฤติกรรมและการรับรู้ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งมีรายงานอีกว่า Tomohiro Ishikawa นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันเศรษฐศาสตร์ได้กล่าวว่า เวลานี้บริษัทในญี่ปุ่นหลายแห่งกำลังให้ความสนใจต่อความสำนึกและตระหนักรู้ในด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่เพิ่มมากขึ้น
Source: Nikkei