รายงานการจัดอันดับศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของโลกปี 2562 ชี้ การบ่มเพาะบุคคลที่มีความเป็นผู้ประกอบการคือกุญแจสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
- บุคคลที่มีความเป็นผู้ประกอบการคือผู้ที่จะสร้างความแตกต่างในการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคล
- บุคคลที่มีความสามารถยังคงหลั่งไหลสู่ประเทศเล็กๆที่มีรายได้สูง และสหรัฐอเมริกา
- วอชิงตันดีซีเป็นเมืองที่ครองอันดับสูงสุด
- ผลวิเคราะห์ 5 ปีเผยให้เห็นว่า ประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่างกันมีช่องว่างด้านทรัพยากรบุคคลมากขึ้น
รายงานการจัดอันดับศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของโลกประจำปี 2562 (2019 Global Talent Competitiveness Index: GTCI) เผยให้เห็นว่า สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นผู้นำของโลก ขณะที่ประเทศในเอเชีย ละตินอเมริกา และแอฟริกา มีจำนวนบุคคลที่มีความสามารถลดลงอย่างต่อเนื่อง รายงานดังกล่าวยังตอกย้ำด้วยว่า ปัญหาทรัพยากรบุคคลได้กลายเป็นความกังวลหลักของบริษัท เมือง และประเทศต่างๆ ขณะที่ศักยภาพของบุคคลที่มีความสามารถได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรือง
รายงานประจำปีนี้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับบุคคลที่มีความเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งครอบคลุมถึงการสนับสนุน บ่มเพาะ และพัฒนาทั่วโลก รวมถึงผลพวงที่มีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ปัจจุบันมีการคิดค้นแนวทางใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการและบุคคลที่มีความเป็นผู้ประกอบการภายในองค์กร รวมถึงรับประกันว่าจะมีการสนับสนุนพนักงานและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมตั้งแต่เริ่มต้นจนสำเร็จ ความก้าวหน้าดังกล่าวเห็นได้ชัดเป็นพิเศษในเมืองที่มีระบบนิเวศ “เมืองอัจฉริยะ” เป็นแม่เหล็กดึงดูดบุคคลที่มีความสามารถ สำหรับผลการค้นพบอื่นๆที่สำคัญประกอบด้วย
– ประเทศและเมืองที่ครองอันดับต้นๆ มีแนวโน้มเปิดรับบุคคลที่มีความเป็นผู้ประกอบการมากที่สุด
– การเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์และยุคดิจิทัลทำให้บุคคลที่มีความเป็นผู้ประกอบการมีบทบาทมากขึ้น
รายงานยังเผยด้วยว่า เมืองมีการพัฒนาบทบาทมากกว่าประเทศในฐานะศูนย์กลางของบุคคลที่มีความสามารถ และจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านทรัพยากรบุคคลของโลก เมืองมีความสำคัญมากขึ้นเพราะมีความยืดหยุ่นและมีศักยภาพในการปรับตัวตามเทรนด์และรูปแบบใหม่ๆมากกว่า นอกจากนั้นยังเป็นหน่วยเศรษฐกิจที่คล่องแคล่วเพราะสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น เมืองจึงดึงดูดใจบุคคลที่มีความสามารถมากกว่า โดยเฉพาะบุคคลที่มีความเป็นผู้ประกอบการ
เมืองที่คว้าแชมป์ในปีนี้ไปครองคือวอชิงตันดีซี ตามมาด้วยโคเปนเฮเกน ออสโล เวียนนา และซูริค โดยวอชิงตันทำผลงานได้อย่างแข็งแกร่งใน 4 จาก 5 เกณฑ์หลักที่มีการพิจารณา ได้แก่ ความเป็นสากล ความดึงดูด การเติบโต และความสามารถ นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติหลายอย่างที่ทำให้เมืองแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของบุคคลที่มีความสามารถ ได้แก่ เศรษฐกิจมั่นคง ผู้คนกระตือรือร้น โครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อแข็งแกร่ง แรงงานทักษะสูง และการศึกษาระดับโลก
มองภาพรวมในระยะยาว
นับเป็นครั้งแรกที่รายงาน GTCI ทำการวิเคราะห์ศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลในระยะยาว โดยพิจารณาผลการจัดอันดับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ทำให้ค้นพบว่าประเทศที่โดดเด่นด้านทรัพยากรบุคคลกับประเทศอื่นๆมีช่องว่างระหว่างกันมากขึ้น โดยกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลสูงอยู่แล้วก็ยิ่งมีศักยภาพสูงขึ้นไปอีก ส่วนประเทศที่มีศักยภาพด้อยกว่าก็ยิ่งด้อยลงไปอีก
คุณบรูโน แลนวิน กรรมการบริหารฝ่ายดัชนีทั่วโลกของ INSEAD และบรรณาธิการร่วมของรายงานนี้ กล่าวว่า “ในกลุ่มประเทศที่ติด 10 อันดับแรก มีเพียงสองประเทศที่ไม่ได้อยู่ในทวีปยุโรป ได้แก่ สิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา ซึ่งตอกย้ำว่ายุโรปยังคงเป็นผู้นำในด้านทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถ นอกจากนั้นยังตอกย้ำว่าประเทศที่มีมหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยมและมีระบบการศึกษาที่แข็งแกร่งจะดึงดูดบุคคลที่มีความสามารถ อย่างไรก็ดี บุคคลที่มีความสามารถมักย้ายไปตามประเทศต่างๆทั่วโลก ดังนั้นสถานการณ์ความได้เปรียบนี้ก็ยังมีสิทธิเปลี่ยนขั้วได้ ประเทศเหล่านี้จึงจำเป็นต้องเปิดกว้างต่อไปเพื่อรักษาสถานะผู้นำของตนเอง”
คุณเฟลิเป มอนเตโร ศาสตราจารย์ด้านยุทธศาสตร์และกรรมการฝ่ายวิชาการของ INSEAD รวมถึงบรรณาธิการร่วมของรายงานนี้ กล่าวเสริมว่า “ดูเหมือนว่าความเป็นผู้ประกอบการจะเป็นพรสวรรค์ที่นำไปสู่ความสำเร็จ องค์กรทุกรูปแบบจำเป็นต้องดึงดูดและพัฒนาบุคคลที่มีความเป็นผู้ประกอบการในยุคที่ระบบนิเวศทั่วโลกถูกพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล”
คุณอเลน เดเฮซ ซีอีโอบริษัท อเด็คโก้ กรุ๊ป (Adecco Group) กล่าวว่า “เนื่องจากโลกของการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากเมืองหรือประเทศใดก็ตามไม่มีสภาพที่เหมาะสมต่อการดึงดูดบุคคลที่มีความสามารถ ทั้งคนและธุรกิจก็จะย้ายหนีไปที่อื่นเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ รายงาน GTCI ประจำปีนี้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่มีความเป็นผู้ประกอบการถูกมองว่าเป็นผู้ที่จะนำพาโลกไปในทิศทางที่เหมาะสมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง การบ่มเพาะบุคคลเหล่านี้คือส่วนสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้เจริญก้าวหน้าและวางรากฐานความสำเร็จในอนาคต”
คุณวิโนด กุมาร์ ซีอีโอบริษัท ทาทา คอมมิวนิเคชั่นส์ (Tata Communications) กล่าวว่า “แนวคิดการเปิดกว้างมีความสำคัญสำหรับผู้ที่มีความเป็นผู้ประกอบการ ขณะที่วัฒนธรรมทางธุรกิจก็มีบทบาทสำคัญ ธุรกิจและเมืองต้องร่วมมือกันสร้างวัฒนธรรมความเป็นผู้ประกอบการภายในองค์กรและชุดความคิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมนุษย์คือปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการพลิกโฉมธุรกิจสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยปลดล็อกศักยภาพเชิงบวกอันเป็นผลพวงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่มนุษย์และจักรกลทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กัน อีกทั้งยังมีความร่วมมือและความคิดเกิดขึ้นมากมายหลายรูปแบบ”
รายงาน GTCI ประจำปี 2562 ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้โดยโรงเรียนธุรกิจ INSEAD ร่วมกับ อเด็คโก้ กรุ๊ป และทาทา คอมมิวนิเคชั่นส์ คือรายงานเปรียบเทียบศักยภาพในการดึงดูด เพิ่มจำนวน และรักษาทรัพยากรบุคคลของเมืองและประเทศต่างๆ นับเป็นแหล่งข้อมูลที่จะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจภาพรวมของศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคล และสามารถพัฒนากลยุทธ์ต่างๆเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
รายงานนี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลด้วยตัวแปร 68 รายการ โดยในปีนี้มีการจัดอันดับ 125 ประเทศ และ 114 เมือง (เพิ่มขึ้นจาก 119 ประเทศ และ 90 เมืองในปี 2561) ครอบคลุมทุกระดับรายได้และระดับการพัฒนา
ประเทศที่ติด 20 อันดับแรกในปี 2562
ในรายงานฉบับที่ 6 นี้ สวิตเซอร์แลนด์ยังครองแชมป์เช่นเคย ส่วนสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกาก็ตามมาเป็นอันดับ 2 และ 3 เช่นเดียวกับปีที่แล้ว ตามมาด้วยประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ได้แก่ นอร์เวย์ (อันดับ 4) เดนมาร์ก (อันดับ 5) ฟินแลนด์ (อันดับ 6) และสวีเดน (อันดับ 7) ส่วนประเทศที่รั้งท้ายตารางประกอบด้วยบุรุนดี (อันดับ 123) คองโก (อันดับ 124) และเยเมน (อันดับ 125)
เช่นเดียวกับปีก่อนๆ ประเทศที่รั้งหัวตารางเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ประเทศเหล่านี้มีนโยบายและระเบียบปฏิบัติด้านทรัพยากรบุคคลที่ต้านทานความผันผวนทางการเมืองและเศรษฐกิจสังคมได้ดีกว่า นอกจากนี้ ประเทศที่มีรายได้สูงยังมีความมั่นคงมากพอที่จะลงทุนในการเรียนรู้ตลอดชีวิต การส่งเสริมทักษะ ตลอดจนการดึงดูดและรักษาบุคคลที่มีความสามารถจากทั่วโลก
อันดับประเทศ | คะแนน |
1. สวิตเซอร์แลนด์ | 81.82 |
2. สิงคโปร์ | 77.27 |
3. สหรัฐอเมริกา | 76.64 |
4. นอร์เวย์ | 74.67 |
5. เดนมาร์ก | 73.85 |
6. ฟินแลนด์ | 73.78 |
7. สวีเดน | 73.53 |
8. เนเธอร์แลนด์ | 73.02 |
9. สหราชอาณาจักร | 71.44 |
10. ลักเซมเบิร์ก | 71.18 |
11. นิวซีแลนด์ | 71.12 |
12. ออสเตรเลีย | 71.08 |
13. ไอซ์แลนด์ | 71.03 |
14. เยอรมนี | 70.72 |
15. แคนาดา | 70.43 |
16. ไอร์แลนด์ | 70.15 |
17. เบลเยียม | 68.48 |
18. ออสเตรีย | 68.31 |
19. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ | 65.90 |
20. อิสราเอล | 63.26 |
เมืองที่ติด 10 อันดับแรกในปี 2562
เมืองที่รั้งหัวตารางทำผลงานได้ดีในเกณฑ์การพิจารณาทั้ง 5 เกณฑ์ โดยแชมป์ตกเป็นของวอชิงตันดีซี ซึ่งติด 10 อันดับแรกใน 3 จาก 5 เกณฑ์ การที่เมืองต่างๆมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในฐานะศูนย์กลางของผู้ที่มีความเป็นผู้ประกอบการ ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบนิเวศที่แข็งแกร่งและคึกคัก โดยเฉพาะในด้านนวัตกรรม
อันดับเมือง | คะแนน |
1. วอชิงตันดีซี (สหรัฐอเมริกา) | 69.2 |
2. โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก) | 68.0 |
3. ออสโล (นอร์เวย์) | 66.1 |
4. เวียนนา (ออสเตรีย) | 65.7 |
5. ซูริค (สวิตเซอร์แลนด์) | 65.5 |
6. บอสตัน (สหรัฐอเมริกา) | 65.4 |
7. เฮลซิงกิ (ฟินแลนด์) | 65.0 |
8. นิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา) | 64.6 |
9. ปารีส (ฝรั่งเศส) | 63.5 |
10. โซล (เกาหลีใต้) | 62.7 |
ข้อมูลเพิ่มเติม
ดาวน์โหลดรายงาน http://bit.ly/GTCI2019report
ดาวน์โหลดอินโฟกราฟิก http://bit.ly/GTCI2019infographic