15 แบงก์พาณิชย์ไทยร่วมกำหนดแนวทางปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ
ธปท. จับมือ 15 แบงก์พาณิชย์ร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ในด้านการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ หนุนแบงก์พาณิชย์ไทยให้สินเชื่อที่คำนึงถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสถาบันการเงินและบรรเทาปัญหาต่าง ๆ วาง 4 แนวทาง คือ การแสดงเจตนารมณ์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายใน และการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสประกอบการให้สินเชื่อภายในสิ้นปีหน้า
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการที่ธนาคารพาณิชย์ดำเนินธุรกิจโดยละเลยการพิจารณาความเสี่ยงจากปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environment, Social, Governance) รวมถึงตัวอย่างแนวปฏิบัติในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรเพื่อก้าวข้ามปัญหาจากการละเลยปัจจัยดังกล่าว โดยปัจจัยด้านความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงที่มีผลต่อฐานะทางการเงิน และจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการเงินโดยการนำของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงจะผลักดันให้มีการผนวกปัจจัยด้าน ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและการท่องเที่ยวของไทย อีกทั้งยังมีปัญหาน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลิตผลในภาคเกษตรกรรมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เห็นได้ชัดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม เข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้านหนึ่ง ในมิติด้านสังคม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย
ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ จะกลายเป็นความเปราะบางในภาคครัวเรือน จนอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพลูกหนี้และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว นอกจากนี้ ปัญหาคอร์รัปชันที่ยังพบอยู่ในหลายภาคส่วนของสังคมไทย ได้กัดกร่อนศักยภาพในการพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างล่าช้าและซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย จากปัญหาเหล่านี้ ภาคธนาคารไทยในฐานะตัวกลางทางการเงินสามารถมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหา โดยการจัดสรรทรัพยากรทุนให้ถูกใช้ไปในทิศทางที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบเชิงลบ อันเนื่องมาจากการสนับสนุนทางการเงินได้
อย่างไรก็ตาม การที่สมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของภาคการธนาคารในฐานะตัวกลางทางการเงินได้ร่วมแสดงเจตจำนงที่จะยกระดับการทำงานของภาคสถาบันการเงินไทยด้วยการมีแนวนโยบายและแนวปฏิบัติร่วมกันในการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ หรือที่เรียกว่า Responsible Lending Guideline เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีกระบวนการสนับสนุนการให้สินเชื่อที่คำนึงถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสถาบันการเงินเองและบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องได้
ตลอดจนพร้อมนำนโยบายดังกล่าวไปใช้ประกอบการให้สินเชื่อภายในสิ้นปีหน้า ซึ่งในการเดินทางมุ่งสู่การพัฒนาการธนาคารเพื่อความยั่งยืนจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการเงินจะต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีการติดตามประเมินผล และตรวจสอบการปฏิบัติ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลที่น่าเชื่อถือในเวลาที่เหมาะสม โดยความร่วมมือนี้จะเป็นก้าวที่สำคัญมากของภาคสถาบันการเงินไทยบนเส้นทางการประกอบธุรกิจที่ไม่เพียงแต่มีธรรมาภิบาลในองค์กร แต่ยังมีธรรมาภิบาลในความหมายกว้างซึ่งคำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป
ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ โดยมีความเชื่อร่วมกันว่า ระบบสถาบันการเงินเป็นกลไกทางการเงินที่สำคัญ ที่ไม่เพียงมีบทบาทในการสนับสนุนทางการเงินผ่านกลไกสินเชื่อเท่านั้นแต่ยังมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างความสมดุลที่สามารถป้องกันและยับยั้งความเสี่ยงที่สามารถจะขยายผลเป็นความเสี่ยงทางการเงินและทางเศรษฐกิจของประเทศได้เสมอ ดังนั้น เมื่อใดที่สถาบันการเงินของประเทศมีความเข้าใจและความมุ่งมั่นที่จะแสดงความรับผิดชอบในการให้สินเชื่ออย่างเหมาะสม มีเหตุมีผล เมื่อปฏิบัติร่วมกันและต่อเนื่องแล้ว ก็จะเป็นสร้างความมั่นคงและภูมิคุ้มกันให้กับผู้ใช้บริการทางการเงินและประเทศชาติในระยะยาวเช่นกัน
ดังนั้น แนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ริเริ่มนี้จึงมีความสำคัญยิ่ง โดยมีแนวทาง 4 ข้อ คือ การแสดงเจตนารมณ์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Leadership and Responsible Lending Commitment) การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Engagement) การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายใน (Internal Implementation Mechanisms) และมีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล (Transparency) ในขณะเดียวกันยังมุ่งหวังให้ทุกธนาคารตระหนักถึงพันธสัญญาที่จะร่วมสร้างวัฒนธรรมการมีวินัยทางการเงิน และดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล บนพื้นฐานของธรรมาภิบาลในความหมายกว้าง และการจัดการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมอีกประการหนึ่งด้วย โดยพฤติกรรมและอุดมการณ์เหล่านี้ถือเป็นองค์ประกอบและรากฐานที่สำคัญของระบบสถาบันการเงินไทยต่อหน้าที่ในการร่วมพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนต่อไป