Huawei อาจถูกตรวจสอบโดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐในกรณีขายอุปกรณ์ให้อิหร่าน
- กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯจะทำการสอบสวนกรณี Huawei ละเมิดคำสั่งคว่ำบาตรของสหรัฐฯต่ออิหร่าน
- กรณีHuawei เป็นลำดับถัดจาก ZTE ที่กำลังถูกสอบสวนในกรณีลักษณะเดียวกันและอาจทำให้สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
หลังจากมีการประกาศห้ามขายชิ้นส่วนบางประเภทให้กับบริษัทผู้ผลิตมือถือรายใหญ่ของจีนอย่าง ZTE เป็นเวลา 7 ปี โดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ
ล่าสุดกระทรวงยุตธรรมสหรัฐฯได้ออกมาประกาศว่ากำลังมีการสอบสวนกรณีที่บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี อาจละเมิดคำสั่งคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ทำให้อาจเป็นช่องทางในการตรวจสอบในประเด็นเรื่องความมั่นคงของสหรัฐกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน
การสอบสวนดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใดว่ามีความก้าวหน้าในการสอบสวนมากน้อยเพียงใดซึ่งยังต้องรอทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางเป็นผู้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งการออกมาประกาศเช่นนี้บริษัทหัวเว่ยกำลังเผชิญกับการจำกัดการดำเนินธุรกิจในสหรัฐฯและอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งยุโรป
การตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวของทางรัฐบาลสหรัฐต่อกรณีหัวเว่ยทำให้ความตึงเครียดในเรื่องสงครามการค้าระหว่างวอชิงตันและปักกิ่งเป็นไปอย่างตึงเครียดมากขึ้น ซึ่งทีมงานของทรัมพ์ได้ออกมากล่าวถึงหัวเว่ยว่าเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นผู้นำของสหรัฐฯในการแข่งขันพัฒนาระบบโทรคมนาคมในยุคถัดไป ซึ่งเวลานี้หัวเว่ยเป็นผู้ผลิตมือถือสมาร์ทโฟนรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากแอปเปิ้ล และ ซัมซุงเท่านั้น
จากข่าวดังกล่าวทำให้มีความกังวลต่อธุรกิจที่ทำการค้ากับหัวเว่ยอาจได้รับผลกระทบตามไปด้วยเช่นบริษัทเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับออพติคัลขนาดเล็กเช่น Lumentum Holdings Inc รวมถึงบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่อย่าง Qualcomm และทำให้หลายธุรกิจเริ่มระวังตัวที่จะทำธุรกิจกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จากจีนบ้างแล้ว
หากมีการตัดสินคดีว่าหัวเว่ยละเมิดคำสั่งคว่ำบาตรจริงดังข้อกล่าวหาอาจทำให้หัวเว่ยจะโดนลงโทษในคดีอาญาเพิ่มเติมและอาจมีการฟ้องร้องบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการลำเมิกคำสั่งคว่ำบาตรดังกล่าวและอาจเกี่ยวข้องกับการผิดกฎหมายอื่นๆก็เป็นได้
กรณีที่เป็นตัวอย่างชัดเจนว่ามีการเพิ่มบทลงโทษเพิ่มขึ้นคือกรณีของ ZTE ที่ตกลงจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 892 ล้านดอลลาร์สหรัฐหลังจากได้สารภาพและยอมรับว่ามีการละเมิดกฎหมายการควบคุมการส่งออกสินค้าอ่อนไหวเช่น อุปกรณ์โทรคมนาคมที่มีชิ้นส่วนผลิตจากสหรัฐไปอิหร่านต่อกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงกาารคลังสหรัฐไปแล้วก็ตาม แต่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้มีการเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นต่อ ZTE โดยห้ามบริษัทในสหรัฐขายส่วนประกอบให้กับ ZTE เป็นเวลา 7 ปี และให้ ZTE อุทธรณ์ได้โดยนำเสนอหลักฐานใหม่มาเพิ่มในการพิจารณา
ในกรณีของหัวเว่ยนั้น เคยมีรายงานของสภาคองเกรสในปี 2012 ว่าอุปกรณ์โทรคมนาคมของทั้งหัวเว่ยและ ZTE อาจเป็นเครื่องมือช่วยในการสอดแนมและรวมทั้งการก่อวินาศกรรมในสหรัฐ ซึ่งทางวอชิงตันมองว่าทางปักกิ่งอาจสั่งให้ทั้งหัวเว่ยและ ZTE เข้าควบคุมอุปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อปิดการสื่อสารในสหรัฐฯ การสอดแนวข้อมูลอ่อนไหวและการโจมตีทางไซเบอร์ประเภทต่างๆต่อบริษัทเอกชนและรัฐบาลสหรัฐได้
ในปี 2017 หัวเว่ยเป็นผู้นำตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคมทั่วโลกโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 27% ขณะที่ ZTE ตามมาเป็นอันดับที่ 4 ในสัดส่วน 10%
เมื่อธันวาคม 2017ที่ผ่านมาประธานาธิบดีทรัมพ์ได้ลงนามในกฎหมายว่าด้วยการห้ามใช้อุปกรณ์จากหัวเว่ยและ ZTE ในโครงสร้างพื้นฐานของระบบอาวุธนิวเคลียร์ โดยทั้งสองสภาของคองเกรสล้วนสนับสนุนกฎหมายนี้ที่จะห้ามไม่ให้หน่วยงานรัฐบาลและผู้รับเหมาของรัฐบาลกลางและระดับมลรัฐใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมจากทั้งสองบริษัทนี้
ล่าสุดหน่วยงานด้านกิจการโทรคมนาคมอย่างThe Federal Communications Commission ได้ออกมาสนับสนุนมาตรการห้ามใช้และออกข้อเสนอห้ามให้เงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการสื่อสารโทรคมนาคมในชนบทของสหรัฐฯในการซื้ออุปกรณ์จากหัวเว่ยและ ZTE
Source: Nikkei