14-04-2018

ส่องอนาคตเปโตรหยวน [ตอนที่2]

บทความโดย
  • ปัจจัยหนุนเปโตรหยวนให้มีบทบาทมากขึ้นได้แก่ จีนเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของตลาดน้ำมันโลก, อิทธิพลของจีนในยูเรเชียและแอฟริกา, ความเข้มแข็งของเงินหยวนในการเงินระดับโลก
  • จีนจะเริ่มทำสัญญาซื้อขายน้ำมันเป็นเงินหยวนกับประเทศรัสเซียและแองโกลาเป็นแห่งแรก โดยทางการจีนเองมีดำริที่จะเริ่มโครงการทดลองการซื้อขายน้ำมันกับคู่ค้าเป็นเงินหยวนในช่วงครึ่งหลังของปี 2018
  • เงินหยวนเองยังได้รับความนิยมมากขึ้นในฐานะสินทรัพย์ลงทุนที่ใช้เป็นทุนสำรอง (Reserve Assets) ของบรรดาธนาคารกลางต่างๆ โดย เงินหยวนเป็นสกุลเงินที่มีการซื้อขายมากเป็นอันดับ 8 โลกของโลก

ปัจจัยหนุนเปโตรหยวน

จากที่กล่าวมาในตอนต้นจะเห็นว่า พัฒนาการทางเศรษฐกิจโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากอปรกับการผลักดันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนของทางการจีนได้ช่วยผลักดันให้เงินหยวนมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก ขณะเดียวกันความมั่นคงทางพลังงานก็ยังคงเป็นข้อกังวลสำคัญของจีนเองที่มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นทุกปี การเติบโตของชนชั้นกลางที่มีรายได้สูงขึ้นก็ส่งผลให้ภาครรัวเรือนเองก็มีการใช้พลังงานสูงขึ้นด้วย การเพิ่มบทบาทเงินหยวนในภาคการค้าพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดสำคัญของระบบทุนนิยมจึงเป็นการรับรองความมั่นคงทางพลังงานและเพิ่มพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ให้เงินหยวนสามารถแข่งขันกับอิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐฯได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยหากมองดูภาพรวมในทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกก็พอจะประมวลปัจจัยบวกที่จะหนุนส่งให้เปโตรหยวนเติบใหญ่ขึ้นในอนาคตได้ดังนี้

จีนเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของตลาดน้ำมันโลก การเติบโตแบบก้าวกระโดดทำให้จีนเองมีความจำเนต้องบริโภคและนำเข้าน้ำมันเป็นจำนวนสูงขึ้นทุกปี ตัวเลขล่าสุดจาก EIA (Energy Information Administration) กระทรวงพลังงานสหรัฐฯระบุว่า จีนได้กลายเป็นผู้นำเข้าน้ำมันอันดับ 1 ของโลกแทนที่สหรัฐฯไปแล้วในปี 2017 โดยจีนมียอดการนำเข้าน้ำมันโดยเฉลี่ยสูงถึง 8.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่สหรัฐฯเองมีการนำเข้าน้ำมันเพียงแค่ 7.9 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น ขณะเดียวกันการนำเข้าน้ำมันของจีนก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นสวนทางกับสหรัฐฯที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: U.S. Energy Information Administration

 

 

ที่มา: U.S. Energy Information Administration

จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่า จีนเองกลายเป็นตลาดค้าน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี การที่จีนเองเปิดตลาดซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าสกุลเงินหยวนที่เซี่ยงไฮ้ก็ย่อมทำให้โครงสร้างการค้าน้ำมันของจีนเองได้มาตรฐานโลก ขณะเดียวกันการมีตลาดน้ำมันล่วงหน้าบนแผ่นดินจีนเองก็ย่อมช่วยให้จีนมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงและเพิ่มอำนาจต่อรองกับผู้ค้าน้ำมันกับจีนเองให้หันมาเลือกทำสัญญาที่อิงกับตลาดเซี่ยงไฮ้มากขึ้น หากจีนสามารถผลักดันสัญญาน้ำมันเซี่ยงไฮ้ให้เป็นที่แพร่หลายได้ ก็ย่อมทำให้เงินเปโตรหยวนหมุนเวียนในวงการค้าน้ำมันและระบบการเงินโลกมากขึ้น

อิทธิพลของจีนในยูเรเชียและแอฟริกา เงินเปโตรหยวนของจีนมีโอกาสจับจองพื้นที่อิทธิพลแข่งกับเปโตรดอลลาร์ได้ในจุดที่จีนมีความได้เปรียบด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ โดยภูมิภาคแอฟริกาและเขตยูเรเชียที่กินพื้นที่ในแถบเอเชียกลางและรัสเซีย โดยทั้ง 2 พื้นที่ล้วนเป็นจุดที่จีนมีความได้เปรียบในฐานะที่จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และผู้ลงทุนรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐาน ขณะเดียวกันทั้ง 2 ภูมิภาคนี้ก็เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ให้กับจีนรองจากแถบตะวันออกกลาง จีนเองสามารถใช้ข้อได้เปรียบทางการค้าและการเงินริเริ่มการซื้อขายน้ำมันเป็นเงินหยวนในแถบนี้ได้

ดูเหมือนว่าแนวโน้มดังกล่าวจะเริ่มชัดเจนขึ้นแล้ว โดยรายงานข่าวล่าสุดจากรอยเตอร์ระบุว่า จีนจะเริ่มทำสัญญาซื้อขายน้ำมันเป็นเงินหยวนกับประเทศรัสเซียและแองโกลาเป็นแห่งแรก โดยทางการจีนเองมีดำริที่จะเริ่มโครงการทดลองการซื้อขายน้ำมันกับคู่ค้าเป็นเงินหยวนในช่วงครึ่งหลังของปี 2018

ขณะเดียวกันโครงการ One Belt One Road ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้เงินเปโตรหยวนมีรากฐานที่เข้มแข็งในแถบยูเรเชียได้ผ่านระบบรางที่จะมีการลงทุนเพิ่ม เมื่อผนวกกับเครือข่ายท่อปิโตรเลียมระหว่างจีนและภายในภูมิภาคนี้จะทำให้เงินเปโตรหยวนมีการหมุนเวียนภายในภูมิภาคยูเรเชียมากขึ้นในอนาคต ฉะนั้นแล้วพื้นที่แอฟริกาและยูเรเชียจึงน่าจะเป็นฐานที่มั่นคงให้เปโตรหยวนได้เติบโตขยายตัวสู่ภูมิภาคอื่นๆในอนาคต

ความเข้มแข็งของเงินหยวนในภาคการเงินโลก นับตั้งแต่จีนผลักดันบทบาทเงินหยวนเข้าสู่เวทีโลกอย่างจริงจังนับตั้งแต่ออกโครงการ Yuan Internationalization ในปี 2009 เป็นต้นมา ปริมาณธุรกรรมทางการเงินและสภาพคล่องของเงินหยวนในตลาดโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดจาก SWIFT ระบุว่า เงินหยวนจีนเป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระเงินระหว่างประเทศมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลกด้วยสัดส่วน 1% ของปริมาณธุรกรรมทั้งโลก โดยที่มาหลักกว่า 3 ใน 4 ส่วนนั้นเกิดขึ้นที่ฮ่องกง รองลงมาเป็นอังกฤษและสิงคโปร์

นอกจากความนิยมในด้านการชำระเงินที่สูงขึ้นแล้ว เงินหยวนเองยังได้รับความนิยมมากขึ้นในฐานะสินทรัพย์ลงทุนที่ใช้เป็นทุนสำรอง (Reserve Assets) ของบรรดาธนาคารกลางต่างๆ โดยจีนอาศัยความร่วมมือด้านสัญญา Swap เงินหยวนและเงินสกุลท้องถิ่นที่ทำกับธนาคารกลางทั่วโลกและเปิดกว้างตลาดการเงินในประเทศผลักดันให้เงินหยวนเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ทางเลือกนอกเหนือจากเงินดอลลาร์ และการเข้าเป็นสมาชิกในตะกร้า SDRs นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2016 เป็นต้นมาก็เป็นการรับรองเงินหยวนในฐานะที่เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องสูง มีความมั่นคงเทียบชั้นเงินสกุลหลักของโลกตะวันตกอีกด้วย

ที่มา : Currency Composition of Official Foreign Exchange Reserves

 

ที่มา : Currency Composition of Official Foreign Exchange Reserves

ความเข้มแข็งอีกด้านของเงินหยวนในเวทีการเงินโลกที่เห็นได้ชัดก็คือ นับตั้งแต่เริ่มมีการเปิดเสรีในการใช้และถือครองเงินหยวนในกิจกรรมระหว่างประเทศมากขึ้น เงินหยวนเองก็มีสภาพคล่องและมีความต้องการในตลาดการเงินมากขึ้น ในฐานะที่เป็นเครื่องมือการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยในภาคเอกชนนั้นตัวเลขที่สะท้อนออกมาได้ชัดเจนที่สุดก็คือปริมาณการซื้อขายเงินหยวนในตลาดเงินตราต่างประเทศซึ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยข้อมูลการสำรวจธุรกรรมในตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศโดยธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศหรือ BIS (Bank for International Settlements) ฉบับล่าสุดปี 2016 ระบุว่า เงินหยวนเป็นสกุลเงินที่มีการซื้อขายมากเป็นอันดับ 8 โลกของโลกโดยครองสัดส่วนธุรกรรมที่ระดับ 4.0%

ขณะที่ถ้านับเฉพาะคู่เงิน USD/CNY หรือเงินหยวนเทียบกับเงินดอลลาร์นั้น คู่เงินนี้มีการซื้อขายต่อวันสูงถึง 192,000 ล้านดอลลาร์ต่อวัน และหากมองย้อนไปในช่วงปี 2007 ซึ่งเป็นปีก่อนวิกฤตการเงินจะเกิดนั้น การซื้อขายเงินหยวนทั่วโลกนั้นมีสัดส่วนคิดเป็นแค่ 0.5% ของมูลค่าการซื้อขายเงินตราต่างประเทศของทั้งโลก

ข้อมูลจาก BIS แสดงให้เห็นว่าเงินหยวนเป็นที่ต้องการที่มากขึ้นในหมู่นักลงทุนชัดเจน ขณะเดียวกันด้วยขนาดเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก สะท้อนถึงโอกาสในการเติบโตที่ยังมีอีกมากของเงินหยวนในเวทีการเงินการลงทุนโลก ในอนาคตเราน่าจะเห็นความคึกคักในการซื้อขายและความหลากหลายของสินทรัพย์การลงทุนในสกุลหยวนเพิ่มมากขึ้น ทางการจีนเองก็มีนโยบายในการเปิดกว้างตลาดการเงินในประเทศเพื่อรองรับความต้องการถือเงินหยวนที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น

จากที่กล่าวมาบทบาทที่มากขึ้นของจีนในเวทีโลกไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเงิน การค้าน้ำมัน และการกุมความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ในประเทศกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันในแถบแอฟริกาและยูเรเชียล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะหนุนให้เงินเปโตรหยวนเข้ามาชิงพื้นที่แข่งกับเงินเปโตรดอลลาร์มากขึ้นในอนาคต

ส่องอนาคตเปโตรหยวน [ตอนที่ 1]

ส่องอนาคตเปโตรหยวน [ตอนที่ 3]

ส่องอนาคตเปโตรหยวน [ตอนจบ]