เจ็บแล้วต้องจบ…เปิดเมืองอย่างไรให้ไม่ต้องปิดซ้ำสอง?
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน อัตราผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ของประเทศไทยดูจะชะลอลงมาก นับเป็นเรื่องน่ายินดีและต้องขอปรบมือให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกท่าน โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขอีกครั้ง รวมทั้งประชาชนคนไทยทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจกัน “เว้นระยะห่างทางสังคม” เท่าที่จะทำได้ และทำให้มาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” สัมฤทธิ์ผล อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งด่วนดีใจเกินไปจนกว่าเราจะชนะสงครามนี้จริง ๆ เพราะยังมีโอกาสสูงที่ข้าศึกที่เรามองไม่เห็นจะโต้กลับและทำให้เราบาดเจ็บหนัก หากเราลดอาวุธลงเสียตอนนี้…
ผู้เขียนเข้าใจดีว่า ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีอัตราการติดเชื้อชะลอลงแล้วนั้น ต่างอยู่บนทางสองแพร่งที่ต้องเผชิญระหว่าง “เราจะยอมเสี่ยงติดโควิด-19” เพราะการลดอาวุธและกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ หรือ “เราจะยอมเจ็บด้านเศรษฐกิจจนกว่าโควิด-19 จะจบ” เพราะมาตรการปิดเมืองที่ทำให้เศรษฐกิจยังคงเดินต่อไม่ได้ โดยทั้งสองทางนี้ต่างมีเหตุผลที่ฟังขึ้น ทางเลือกแรกคือ เราต่างทนเจ็บกันมามากพอแล้ว เมื่อสถานการณ์คลี่คลายและมีผู้ป่วยรายใหม่ลดน้อยลงเรื่อย ๆ ก็ควรจะต้องกลับมาเปิดเมืองเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง แม้ว่าต้องแลกด้วยความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ทางเลือกที่สองมีแนวคิดว่า เราอุตส่าห์ทนเจ็บกันมาตั้งนาน จะรอให้ข้าศึกพ่ายแพ้อย่างราบคาบเสียก่อนจะไม่ดีกว่าหรือ เพราะหากเปิดเมืองแล้วกลับมีผู้ติดเชื้อเร่งขึ้นอีก การที่เราทนเจ็บกันมาทั้งหมดนั้นจะ “เสียของ” และทำให้เราต้องกลับมาเจ็บใหม่อย่างไม่สมควร
การตัดสินใจบนทางเลือกทั้งสองทางนี้ จึงเปรียบเสมือนการใส่ของบนตาชั่ง 2 แขน ที่จำเป็นต้องประเมินให้น้ำหนักสมดุลระหว่างแขนทั้งสอง เพื่อให้ตาชั่งไม่โน้มเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งระหว่างความเสี่ยงทางเศรษฐกิจกับความเสี่ยงทางสุขภาพ เพราะการเปิดเมืองเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเดินต่อได้ย่อมเป็นผลดี ค่อย ๆ ช่วยเยียวยาบาดแผลของผู้คนได้ แต่การยอมเสี่ยงให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้นแล้วต้องมาเสียชีวิตอย่างทรมาน (หรือเป็นพาหะแพร่เชื้อให้กลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ผู้สูงอายุที่บ้าน) มันจะได้ไม่คุ้มเสียกัน ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอชวนท่านผู้อ่านคิด และขออนุญาตเสนอทางออกที่คิดว่าเหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันคือ “การเดินทางสายกลาง” อันเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่าง 2 แนวคิดนี้ นั่นคือ“การเปิดเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป” โดยเปิดพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำในการรับและแพร่เชื้อเป็นลำดับแรกก่อน แล้วทยอยเปิดที่ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเมื่อมีความพร้อมรับมือตามลำดับ เพราะการเดินหน้าต้องเดินไม่ให้พลาด การต้องกลับมาปิดเมืองอย่างเข้มงวดอีกครั้งจากการระบาดระลอกสองนั้น มันจะเจ็บปวดเสียยิ่งกว่าในปัจจุบันและเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ข้อเสนอการเปิดเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังกล่าวจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ดังต่อไปนี้ครับ
1. ภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมมาตรการ/กฎกติกาอย่างรัดกุมสำหรับการเปิดเมืองในทุกระยะ เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนปฏิบัติตาม อาทิ มาตรการติดตามและกักกันหากพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างรวดเร็ว การจัดหาเครื่องมือในการป้องกันตนเองอย่างเพียงพอสำหรับบุคคลในอาชีพที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้และอาศัยการสัมผัสสูง เช่น การส่งของ การเก็บขยะ รวมทั้งควรสื่อสารและทำความเข้าใจในมาตรการต่าง ๆ อย่างชัดเจนและโปร่งใส เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนตระหนักรู้และนำไปสู่ความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง
2. ภาคธุรกิจดำเนินตามกฎกติกาอย่างเคร่งครัด แข่งขันกันเป็นต้นแบบของธุรกิจที่ปรับตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 รวมทั้งออกแบบวิธี/คู่มือปฏิบัติตามมาตรฐานสาธารณสุขในสถานที่และกิจกรรมการทำธุรกิจ อาทิ การมีมาตรการรักษาความสะอาดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่มีความใส่ใจด้านสุขภาพมากขึ้นได้เป็นอย่างดี
3. ประชาชนทุกคนร่วมแรงร่วมใจเว้นระยะห่างทางสังคมต่อไป โดยรักษาวินัยในการปฏิบัติตามกฎกติกาของรัฐอย่างเคร่งครัด อาทิ การระมัดระวังตนเองไม่ให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง สถานที่และกิจกรรมที่มีการรวมตัวชุมนุมกัน โดยต้องป้องกันตนเองและผู้อื่นด้วยการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ ใครทำงานที่บ้านได้ก็ควรทำต่อไป และที่สำคัญคือ การมี “จิตสำนึก” ที่ต้องรู้ว่า นี่คือ “หน้าที่” ต่อสังคมในภาวะที่ไม่ปกติ ซึ่งมาพร้อมกับ “เสรีภาพ” ที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากการเปิดเมือง
แน่นอนว่าชีวิตย่อมมีความหวังและต้องดำเนินต่อไป เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นต่อเนื่องคงจะทยอยเปิดเมืองกันได้มากขึ้นตามลำดับ แต่การเดินหน้าเข้าหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นั้นต้องกระทำอย่างระมัดระวังครับ ดังปัจฉิมโอวาทของพระพุทธองค์ที่ว่า “…เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”
บทความโดย สุพริศร์ สุวรรณิก ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **