06-02-2020

East Ventures รายงานดัชนีความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลปี 2563 เผยโอกาสของเศรษฐกิจดิจิทัลอินโดนีเซีย พร้อมลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

บทความโดย

East Ventures รายงานดัชนีความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลปี 2563 เผยโอกาสของเศรษฐกิจดิจิทัลอินโดนีเซีย พร้อมลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทั

รายงานดังกล่าวสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในอินโดนีเซีย หนึ่งในเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยความไม่เท่าเทียมกันของระบบนิเวศดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในเขตเมืองเมื่อเทียบกับเขตอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาทางดิจิทัลของอินโดนีเซียเพิ่งเริ่มต้น

ดัชนีความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล East Ventures Digital Competitiveness Index (EV-DCI) ซึ่งประกอบด้วยปัจจัย 9 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางดิจิทัล แสดงให้เห็นว่าชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่พร้อมใช้บริการดิจิทัล เนื่องจากส่วนใหญ่มีสมาร์ทโฟนใช้และเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม คะแนน EV-DCI ในส่วนของทรัพยากรมนุษย์และความเป็นผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งหมายความว่ามีชาวอินโดนีเซียกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นที่นำเทคโนโลยีไปใช้ทำธุรกิจหรือเพิ่มผลิตภาพ

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลยังเห็นได้ชัดเจนจากการที่บริษัทอินเทอร์เน็ตที่เติบโตอย่างรวดเร็วในอินโดนีเซีย (6 แห่งเป็นบริษัทยูนิคอร์น) คิดเป็นสัดส่วนเพียงน้อยนิดของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดี การเพิ่มและขยายบริการจะช่วยให้บริษัทเหล่านี้คว้าโอกาสมหาศาลในการขยายธุรกิจแบบเท่าทวีคูณ

ข้อมูลสำคัญในรายงานประกอบด้วย

เกาะชวาคือศูนย์กลาง

จังหวัดต่าง ๆ บนเกาะชวาทำคะแนน EV-DCI ได้สูงสุดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนถึงช่องว่างระหว่างเกาะชวากับภูมิภาคอื่น ๆ ในอินโดนีเซีย ยิ่งไปกว่านั้น คะแนน EV-DCI ของเมืองต่าง ๆ ยังตอกย้ำถึงการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน เห็นได้ชัดจากช่องว่างขนาดมหึมาระหว่างจาการ์ตา เมืองที่ทำคะแนนสูงสุด กับบันดุง เมืองที่ทำคะแนนมาเป็นอันดับสอง

การเปลี่ยนแปลงทางการเงิน

อุตสาหกรรมการเงินเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการปฏิวัติดิจิทัลในอินโดนีเซีย โดยในพื้นที่ที่คะแนน EV-DCI อยู่ในระดับสูง พบว่าธนาคารต่าง ๆ ปิดสาขาในอัตราที่รวดเร็วกว่า นอกจากนี้ คะแนน EV-DCI ยังมีความสัมพันธ์กับอัตราการปล่อยสินเชื่อของบริษัทฟินเทคและจำนวนตัวแทนธนาคารแบบไม่มีสาขาธนาคาร

การขาดแคลนบุคลากรมากความสามารถ

การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลทำให้ตลาดบุคลากรมากความสามารถมีการแข่งขันกันมากขึ้น โดยพื้นที่ที่มีความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลสูงมีแนวโน้มว่าจะดึงดูดบุคลากรมากความสามารถและแรงงานทักษะสูงมากกว่า

งานหลาย ๆ ตำแหน่ง เช่น เจ้าหน้าที่ธุรการ ผู้ควบคุมเครื่องจักร และกรรมกร มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปฏิวัติดิจิทัล โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไอซีที การเงิน และการขนส่ง ซึ่งจำนวนบุคลากรในส่วนนี้ลดลงอย่างมาก

บาหลีใหม่

พื้นที่ที่เตรียมก้าวขึ้นเป็น “บาหลีใหม่” เช่น ลาบวนบาโจ ทะเลสาบโตบา หมู่เกาะราชาอัมพัต วัดโบโรบูดูร์ ภูเขาไฟโบรโม และเกาะโมโรไต ต้องมีการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล โดยเฉพาะในส่วนของการเข้าถึงข้อมูล ความสะดวกสบาย และความน่าดึงดูดใจสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

Willson Cuaca ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการของ East Ventures กล่าวว่า “เศรษฐกิจดิจิทัลมอบโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมให้แก่ชาวอินโดนีเซียทุกคน อย่างไรก็ดี อินโดนีเซียมักได้รับการประเมินเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างจาการ์ตา ขณะที่อีกหลายเมืองยังไม่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล การเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลจะทำให้อินโดนีเซียสามารถเปลี่ยนโบนัสประชากรเป็นการปันผลทางประชากร และเปลี่ยนความเป็นไปได้ให้กลายเป็นความจริง”

สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ east.vc/DCI