17-12-2019

EU ประกาศ European Green Deal มุ่งสร้างสังคมเศรษฐกิจไร้คาร์บอนในปี2050 รับมือภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น

บทความโดย
Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ภาพจาก European Commission

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป โดย นาง อูร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน (Ursula von der Leyen) ได้ประกาศนโยบายครั้งสำคัญของสหภาพยุโรปโดยเรียกว่า “ข้อตกลงยุโรปสีเขียว”“European Green Deal”  ซึ่งจะเป็นทิศทางใหม่ของเศรษฐกิจยุโรปในอีก 3 ทศวรรษข้างหน้านี้ ที่จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ การกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่จะสร้างอัตราการเจริญเติบโตรูปแบบใหม่ รวมทั้งการตอบสนองต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกได้ประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ” (Climate Emergency) และรวมไปถึงเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย

ก่อนหน้าจะแถลงอย่างเป็นทางการในเรื่อง European Green Deal ได้มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ในที่ประชุม COP25 ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน นางUrsula VON DER LEYEN ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ได้กล่าวถึงเรื่อง European Green Deal ไว้อย่างน่าสนใจไว้ 3 เรื่องด้วยกันคือ

1) เป็นยุทธศาสตร์การเติบโตใหม่ของยุโรป (New Growth Strategy) ทั้งเรื่องการเพิ่มงานและการปรับปรุงคุณภาพชีวิตซึ่งรวมไปถึงการลงทุนทั้งเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรมโดยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 1 ล้านล้านยูโรในอีก 10 ปีข้างหน้าเพื่อย้ายโมเดลเศรษฐกิจฟอสซิลแบบเดิมที่ปล่อยมลพิษมหาศาล

2) ในเดือนมีนาคม2020 จะมีการออกกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ European Climate Law

3) การเน้นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านเรื่องจากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to fork Strategy) และเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Strategy)

โดยมีเป้าหมายว่าสหภาพยุโรปได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2050 สหภาพยุโรปจะปลดล่อยก๊าซ CO2 หรือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์เหลือศูนย์ พร้อมกับการขับเคลื่อนธุรกิจสะอาด (Clean Technologies) และ ภาคการเงินสีเขียว (Green Financing)

ทั้งนี้ European Green Deal จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ด้วยการโยกเงินลงทุนมูลค่ากว่า 1 แสนล้านยูโรลงไปในภูมิภาคและ ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งตัวแผนนี้จะเป็นโรดแม็ปที่ให้ความสำคัญในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เรื่องป่าไม้ ภาคเกษตร เรื่องอาหาร เมืองสีเขียว  อาทิระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

โดยประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้เน้นย้ำว่า European Green Deal ริเริ่มด้วยการให้ความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนนตั้งแต่การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อให้นำไปสู่การปกป้องตั้งแต่สังคม สภาพภูมิอากาศและ ดาวเคราะห์ที่เราอาศัยอยู่นี้

ในประเด็นการลงทุนนับว่าน่าสนใจมากว่าทางคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจะใช้ประโยชน์จากเงินของทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการสนับสนุนพร้อมได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรปหรือ European Investment Bank ที่เริ่มกลายตัวเองให้เป็น Europe ‘s Climate Bank

ใน European Green Deal ได้เสนอให้ประเทศสมาชิกทั้ง 28 ประเทศมุ่งเป้าไปที่การมี “ความเป็นกลางของสภาพอากาศ” (Climate neutral) ภายในปี 2050 ซึ่งหมายถึงกิจกรรมในสังคมปลดปล่อยในระดับที่ไม่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศแล้วรวมทั้งสภาวะโลกร้อนที่ไม่ได้มาจากก๊าซคาร์บอนได้ออกไซต์

ก่อนหน้านี้ตั้งแต่เมื่อครั้งข้อตกลงปารีสในเรื่องสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทางสหภาพยุโรปได้สัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ลงไป 40 เปอร์เซนต์เทียบกับทศวรรษที่1990 และภายในปี 2030 จะลดลงไปอีก 50เปอร์เซนต์และ ภายในปี 2050 ตั้งเป้าหมายไว้ว่า 100 เปอร์เซนต์ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์เลย

หลังจากนี้ European Green Deal จะกลายเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ของเศรษฐกิจยุโรปอย่างเด่นชัด เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรป การลดความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มคุณภาพชีวิต ทำให้สิ่งที่ตามมาอย่างแน่นอนคือกฎระเบียบของสหภาพยุโรปในเรื่องสิงแวดล้อม ป่าไม้ พลังงาน อาหาร ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม จะเข้มงวดมากขึ้น และเกิดการบังคับใช้ไปทั่วโลก แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบไปอย่างกว้างขวางในภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังค้าขายกับยุโรป

สิ่งที่ตามแน่นอนคือนโยบายกว่า 50 แผนที่ต่อเนื่องจากยุทธศาสตร์ Green Deal เราจะเห็น ภาษีเก็บจากการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในกระบวนการผลิต ซึ่งแน่นอนว่า Carbon footprints จะถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ในประเด็นการค้า รวมถึงประเทศใดไม่มีการเซ็นในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) จะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากประเทศนั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือสหรัฐอเมริกา

นโยบาย Green Deal เรียกได้ว่าเป็นข้อตกลงร่วมกันของระดับนโยบาย ปัญญาชน และภาคเอกชนของสหภาพยุโรปที่ไม่มีภาพของฝั่งขวาหรือซ้ายที่ชัดเจน แต่เป็นการยกระดับของระบบเศรษฐกิจยุโรป ยกระดับของภาคการผลิตในเชิงโครงสร้างทั้งหมด มาตรฐานใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เงินลงทุนในนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสะอาดจำนวนมาก แน่นอนจะตามมาด้วยข้อกีดกันทางการค้ากับประเทศที่ไม่สามารถทำได้ตามเกณฑ์ใหม่ของยุโรป ตั้งแต่ภาคเกษตร อุตสาหกรรม ขนส่ง รวมทั้งเรื่องหีบห่อสินค้า และภาคบริการต่างๆ


Source: Vox , Gizmodo, European Commission