นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันดิจิทัลมีความสำคัญและเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจแล้ว ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากไม่มีการปรับตัวรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว ธุรกิจอาจจะดำเนินไปด้วยความยากลำบาก จนอาจถึงขั้นต้องยุติการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก แต่ภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ช่วยประคองภาวะเศรษฐกิจของไทย ไม่ให้ชะลอตัวลงไปมากนัก ดังนั้น หากเราสามารถดึงดูดเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศจะยังคงเดินหน้าและเติบโตได้ตามที่คาดการณ์ไว้
“อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน หากมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงฯ เห็นว่า เครื่องมือดิจิทัลจะเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาการท่องเที่ยวให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนจึงพร้อมให้การสนับสนุนภาคเอกชนผลักดันโครงการความร่วมมือนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการ “Digital Tourism Platform” กล่าวว่า โครงการ Digital Tourism Platform เป็นการสร้าง Platform การท่องเที่ยวแห่งชาติ ภายใต้ชื่อ Application TAGTHAi (ทักทาย) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนกว่า 40 หน่วยงาน ที่มีการลงนามความร่วมมือกันไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยดำเนินการผ่านบริษัท ไทย ดิจิทัล แพลตฟอร์ม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ทั้งนี้ Platform กลางดังกล่าว จะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลการท่องเที่ยว สินค้าและบริการของผู้ประกอบการในตลอดทั้ง Value Chain ด้านการท่องเที่ยว ยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบครบวงจร ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มาเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจของประเทศไทยให้มีช่องทางดิจิทัลในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้น ซึ่งโดยรวมแล้ว จะเกิดประโยชน์ในด้านการกระจายรายได้ และการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งตอบรับกับยุทธศาสตร์ชาติในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยเช่นกัน
“Application TAGTHAi เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่จะเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในทุกมิติ เริ่มตั้งแต่การให้ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว การช่วยวางแผนการท่องเที่ยว และเชื่อมโยงไปยังระบบการจองที่พัก และตั๋วเครื่องบิน รวมไปถึงความช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ในเฟสแรกนี้ และในอนาคตอันใกล้ เรามีการเชื่อมโยงต่อไปยังผู้ประกอบการใน Value Chain การท่องเที่ยว เช่น แพ็คเกจทัวร์ สปา การขนส่ง ของที่ระลึก ประกันภัย เป็นต้น ซึ่งจะสร้างความมั่นใจและความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศว่าจะได้รับข้อมูล สินค้า และบริการที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ และคุ้มค่ากับการใช้จ่าย” นายกลินท์ กล่าว
นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว ทั้งการทำการตลาดและการให้บริการข้อมูลข่าวสารทางการท่องเที่ยว ซึ่งได้พัฒนารูปแบบการให้ข้อมูลข่าวสารให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี โดยปัจจุบันมีการให้ข้อมูลทางการท่องเที่ยวผ่านระบบดิจิทัลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น สื่อสังคมออนไลน์ หรือทาง Call Center โดย ททท. ให้ความสนับสนุน TAGTHAi ทั้งในด้านข้อมูล และการประชาสัมพันธ์ ด้วยเชื่อว่า Platform นี้จะช่วยอำนวยความสะดวก และเป็นอีกช่องทางที่จะประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ก่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ ๆ (First Visit) และเป็นการสร้างโอกาสในการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไปสู่พื้นที่รอง ซึ่งนับเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ทางการท่องเที่ยวอย่างมีคุณค่า ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนต่าง ๆ ของประเทศอีกด้วย
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมีความสะดวกสบายในการท่องเที่ยวผ่านเครื่องมือดิจิทัล จะมีส่วนช่วยให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตได้ ธนาคารกสิกรไทยจึงให้การสนับสนุนในการพัฒนาแอปฯ TAGTHAi โดย กสิกร บิซิเนส–เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนาแอปฯ TAGTHAi ให้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว ดังนี้ 1. เป็นแอปฯ ท่องเที่ยวแอปฯ แรกที่ครบวงจรทุกเรื่องการท่องเที่ยว (One Stop Service) ตั้งแต่การค้นหาข้อมูล วางแผน การจอง และโปรโมชั่นพิเศษ 2. การวางแผนทริปท่องเที่ยวในแบบของตัวเอง (Trip Planning) ตามสไตล์ที่ชอบ หรือจะท่องเที่ยวตามทริปแนะนำในแอปฯ ก็ได้ 3. การจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรมผ่าน Marketplace เป็นการเชื่อมต่อกับระบบของหน่วยงานที่เข้าร่วม นักท่องเที่ยวสบายใจกับการจองที่เชื่อถือได้ และ 4. การแจ้งเหตุฉุกเฉิน (SOS) แอปฯ TAGTHAi เป็นแอปฯ แรกที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ฟีเจอร์ SOS จะเชื่อมการทำงานกับตำรวจท่องเที่ยว (1155) และตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) เพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที และในอนาคตมีแผนพัฒนาฟีเจอร์อื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม เช่น e-VISA, การสร้าง Content โดยผู้ใช้งาน ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ต่าง ๆ Marketplace ที่สามารถซื้อแพ็กเกจทัวร์ สปา รถเช่า และสวนสนุก เป็นต้น
ธนาคารกสิกรไทยมั่นใจว่า TAGTHAi ซึ่งเป็นแอปฯ ที่คนไทยร่วมกันพัฒนาขึ้น จะเป็นแพลตฟอร์มคู่ใจของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติในการเที่ยวเมืองไทย สร้างประสบการณ์ใหม่ในการท่องเที่ยวที่ง่าย คุ้มค่าคุ้มเวลา และประทับใจยิ่งกว่าเดิม นอกจากนี้ยังช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอีกด้วย
นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนสมาชิกโรงแรมทั่วประเทศที่มีกว่า 140,000 ห้อง รู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Digital Tourism Platform ในการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยทางสมาคมจะมีหน้าที่ดูแลในเรื่อง Online Hotel Booking เพื่อขานรับเทรนด์ของโลกยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดย Online Hotel Booking นี้ นอกจากจะเป็นการจองห้องพักที่สะดวกรวดเร็วแล้ว ยังเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวในการเข้าพักกับโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย มีมาตรฐาน ทั้งที่เป็นสมาชิกกับทางสมาคม รวมถึงโรงแรมที่ไม่ได้เป็นสมาชิก จึงขอถือโอกาสนี้เรียนเชิญทุกโรงแรมเข้าร่วมโครงการที่จะนำประโยชน์มาสู่ประเทศชาติ ที่เห็นเด่นชัดคือเม็ดเงินจะหมุนเวียนภายในประเทศ รัฐบาลจะได้รับภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อนำมาพัฒนาการท่องเที่ยวในประเทศต่อไป