03-07-2019

“ดร.ดอน” ชี้ธปท.เข้าสู่ยุคดอกเบี้ยขาลง ภาคส่งออก บริโภค ลงทุน ชะลอลงทั้งแผง

บทความโดย

ดร.ดอน นาครทรรพ  ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค  ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มากล่าวปาฐกถาเรื่อง  แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง 2562 ภายในงานสัมมนา KBank PRIVATE BANKING: RETHINK PERSPECTIVES “เศรษฐกิจและกลยุทธ์ การลงทุนภายใต้วิกฤตการค้าโลก” ได้กล่าวถึงประเด็นการค้าโลกในขณะนี้ว่า สงครามการค้าไม่ใช่ดำเนินเพียงจีนประเทศเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศอื่นๆด้วย ทำให้ปริมาณการค้าโลกในปีนี้ลดลงจากปีที่แล้ว โดยถือว่าการค้าโลกในตอนนี้เพียงแค่ชะลอตัวลง ยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยแต่อย่างใด ในการประชุม G20 ที่โอซาก้าประเทศญี่ปุ่นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเพียงการสงบศึกชั่วคราว ขณะที่การขึ้นภาษีที่ขึ้นไปแล้วไม่มีการถอนออกแต่อย่างใด

สำหรับการเติบโตของจีดีพีไทย ทางดร.ดอนได้กล่าวว่า “ ไตรมาสแรกจีดีพีโตอยู่ที่ 2.8% ขณะที่ช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทย โตต่ำกว่า 3% ทางธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ทั้งปีจีดีพีจะโตเฉลี่ยอยู่ที่ 3.3% ซึ่งในครึ่งปีหลังทั้งภาคการบริโภคและภาคการลงทุนในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าครึ่งปีแรก ถ้าจะโตให้ถึงเป้าหมายจะต้องโตให้เกิน3.3%”

โดยทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่าจีดีพีที่โตเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 3.3% และคาดว่าปีหน้าจะโตอยู่ที่ 3.7% ไม่ถือว่าน่ากังวลแต่อย่างใด ไม่ถือว่าเสียโมเมนตัมของเศรษฐกิจไทย แต่กังวลเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงินมากกว่าถ้าดอกเบี้ยยิ่งต่ำยิ่งไม่ดี กนง.จำเป็นต้องมองไปข้างหน้าในปัจจัยต่างๆ

ทั้งนี้กนง.ให้น้ำหนักในเรื่องเศรษฐกิจไทยมากกว่าเรื่องเสถียรภาพ แต่ด้วยตัวเลขจีดีพีที่ยังไม่แย่มากทำให้ยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการผ่อนปลนทางการเงินแต่อย่างใด แต่ขึ้นกับปัจจัยอื่นที่จะมากระทบในอนาคตที่ต้องมาประเมินอีกที

ขณะที่ในเรื่องการส่งออกของไทยในตอนนี้อยู่ที่ 0% และมีแนวโน้มติดลบเพิ่ม ตัวเลขที่ทางสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ออกมาปรับประมาณการส่งออกไทยปี62 เหลือ -1%แต่ทั้งนี้เมื่อเทียบกับหลายประเทศสำหรับไทยถือว่ายังไม่เลวร้ายเท่ากับในหลายๆประเทศอาทิ อินโดนีเซีย เป็นต้น

นอกจากนี้ในเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ ผู้ประกอบการส่งออกไม่กระทบในเรื่องยอดคำสั่งซื้อมากนัก แต่กระทบในเรื่องของรายได้และกำไรในรูปเงินบาทที่แปลงจากดอลลาร์แล้วติดลบแน่นอน

สำหรับเรื่องการจ้างงานเริ่มมีสัญญาณลดการจ้างงานในบางภาคธุรกิจ ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มจับตาเรื่องการจ้างงานมากขึ้นเพราะการลดการจ้างงานอาจส่งผลถึงกำลังการบริโภคในอนาคต