11-01-2019

Brexit Monitor: จับตามหากาพย์ Brexit ยืดเยื้อ

บทความโดย
vasara/Shutterstock

สถานการณ์ในลอนดอน: แตกแยก ปั่นป่วน

หลังจากนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์รอดพ้นมติไม่ไว้วางใจจากพรรคอนุรักษ์นิยมด้วยคะแนน 200 ต่อ 117 เสียง ในค่ำคืนวันที่ 12 ธันวาคม 2018 ที่ผ่านมาหลังจากที่นายกฯเมย์ประกาศล้มการลงคะแนนข้อตกลง Brexit อย่างกะทันหัน ความเป็นไปได้ต่างๆก็เริ่มก่อตัวขึ้นสำหรับทิศทางของ Brexit ในอนาคต โดยในครั้งนี้รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของนายกฯเมย์ประกาศที่จะนำร่างข้อตกลง Brexit กลับเข้าสู่สภาอีกครั้งและจะมีการลงคะแนนในวันที่ 15 มกราคม 2019 ที่จะถึงนี้ โดยทางรัฐบาลยืนยันว่าจะ อังกฤษจะต้องออกจากการเป็นสมาชิก EU ตามกำหนดการเดิมคือ 29 มีนาคม 2019 เวลา 23.00 น.ตามเวลาอังกฤษอย่างแน่นอน โดยยืนยันว่าจะไม่มีการต่ออายุหรือประกาศยกเลิก Brexit ตามมาตรา 50 และจะไม่มีการทำประชามติครั้งที่ 2 อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามความพ่ายแพ้ 2 ครั้งล่าสุดในรัฐสภาอังกฤษของนายกฯเมย์ ทั้งการแพ้โหวตในร่างกฎหมายการเงินหรือ Finance Bill ในวันที่ 8 มกราคม ที่ส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถขึ้นภาษีได้เองกรณีเกิด No-Deal Brexit หากรัฐสภาไม่เห็นชอบ ตามมาด้วยการแพ้โหวตในเรื่องเงื่อนเวลาที่รัฐบาลต้องให้คำตอบกับรัฐสภาเรื่องมาตรการต่อไปหากแพ้โหวต Brexit จากเดิม 21 วันเหลือแค่ 3 วัน ทำให้เส้นทาง Brexit ในอนาคตนั้นซับซ้อนกว่าเดิมมาก โดยสถานการณ์ในปัจจุบัน การเมืองในลอนดอนเองมีการแบ่งขั้วแตกฝ่ายทั้งในพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคแรงงานในแง่ของจุดยืนและทิศทางของ Brexit นับจากนี้ ทั้งปีกแข็งกร้าวในพรรคอนุรักษ์นิยมที่ต้องการออกจาก EU เลยแม้ไม่มีข้อตกลงรองรับ, กลุ่มที่สนับสนุนการออกจาก EU แต่ต้องมีกลไกทางกฎหมายรองรับ, ท่าทีของพรรค DUP จากไอร์แลนด์เหนือที่ยืนกรานปฏิเสธ Backstop ในข้อตกลง Brexit, กลุ่มที่สนับสนุนประชามติครั้งที่ 2 ที่มีการก่อตัวใหญ่โตขึ้นทั้งในและนอกรัฐสภา และล่าสุด กลุ่มที่ต่อต้าน No-Deal Brexit ที่เกิดจากการจับมือของหลายพรรคการเมืองที่พึ่งยัดเยียดความปราชัยให้รัฐบาลเมย์ไปสดๆร้อนๆ ขณะที่หัวหน้าพรรคแรงงานนายเจเรมี คอร์บินเองก็ประกาศจุดยืนของพรรคว่า หากสัปดาห์หน้าร่างข้อตกลง Brexit ไม่ผ่านรัฐสภา เขาประกาศจะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งทันทีเพราะรัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถบริหารประเทศได้แล้ว

ขณะที่ท่าทีของ EU เองนั้นก็ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมเลย นั่นคือ ไม่มีการแก้ไขข้อตกลงปัจจุบันตามที่ทางอังกฤษร้องขอ รวมถึงการให้การรับรองทางกฎหมายว่า Backstop นั้นจะสิ้นสุดลงในกรอบเวลาที่แน่นอนและอังกฤษสามารถออกจากข้อตกลง Backstop ได้ทุกเมื่อ ฉะนั้นแล้วในทางการเมือง ข้อตกลง Brexit ที่รัฐบาลเมย์จะนำไปโหวตในสภาในวันที่ 15 มกราคม 2019 นี้ จึงเสมือนหนึ่งตายไปแล้วในทางการเมือง ไม่สามารถที่จะมีผลบังคับใช้ได้อย่างแน่นอน

ค่าเงินปอนด์

สถานการณ์ล่าสุดในตลาดเงินนั้นเมื่อเทียบกับช่วงเดือนธันวาคม 2018 ที่ผ่านมา ถือว่ามีเสถียรภาพขึ้นกว่าเดิม หากไม่นับช่วงที่เกิด Flash Crash เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2019 ที่ผ่านมา เนื่องจากจุดยืนทางการเมืองในลอนดอนนั้นเอนเอียงไปในทางป้องกัน No-Deal Brexit มากขึ้น ทำให้ตลาดคลายความกังวลในเรื่องนี้ไปพอสมควร ขณะเดียวกันนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯก็มีท่าทีผ่อนปรนกว่าเดิมหลังจากเกิดการเทขายอย่างรุนแรงในตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงส่งท้ายปี ทำให้ค่าเงินปอนด์ได้อานิสงส์จากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงทั่วโลก อย่างไรก็ตามค่าเงินปอนด์ก็ยังคงซื้อขายในกรอบจำกัดแต่เป็นกรอบที่สูงขึ้นมา จากเดิมที่เหวี่ยงในช่วง 1.2500-1.2700 ดอลลาร์ต่อปอนด์ มาเป็นในช่วง 1.2700-1.2800 ดอลลาร์ต่อปอนด์แทน

ค่าเงินปอนด์เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯในรอบ 1 เดือน ที่มา: Stockcharts.com

 

วิเคราะห์สถานการณ์ข้างหน้า

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 มกราคม 2019 ที่แทบจะแน่นอนแล้วก็คือ ข้อตกลง Brexit นั้นจะถูกตีตกจากรัฐสภา เนื่องจากท่าทีของทาง EU นั้นยังคงยืนยันคำเดิมว่าจะไม่มีการแก้ไขใดๆทั้งสิ้นในข้อตกลงฉบับดังกล่าว ฉะนั้นแล้วโอกาสที่มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนจะถูกยืดออกไปนั้นมีสูงมาก เพื่อเปิดทางให้การเมืองอังกฤษผ่าทางตันจากความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในรัฐสภา อย่างไรก็ตามทางเลือกต่างๆที่มีโอกาสเกิดขึ้นนับจากนี้ไปที่พอจะประมวลได้มีดังต่อไปนี้

  1. EU ยอมผ่อนปรนเงื่อนไข Backstop กรณีนี้ฝั่ง EU มีเหตุผลเพียงพอที่จะผ่อนปรนตามการร้องขอจากรัฐบาลนายกฯเมย์เพื่อหลีกเลี่ยงความปั่นป่วนต่างๆและความเสี่ยงที่เศรษฐกิจยุโรปอาจถดถอยได้หากเกิด No-Deal Brexit อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขดังกล่าวมีปัญหาในแง่กรอบเวลา เพราะนอกจากข้อตกลงนี้จะต้องกลับไปโหวตให้ผ่านในรัฐสภาอังกฤษแล้ว ยังต้องผ่านการอนุมัติจากที่ประชุม European Council ด้วย จากนั้นถึงค่อยส่งต่อให้โหวตในรัฐสภายุโรปต่อไป โดยการประชุม European Council นั้นจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดคือ 21 มีนาคม 2019 ซึ่งถือว่าเวลามีความกระชั้นชิดมาก อย่างไรก็ตามหากมีการปรับข้อตกลงเรื่อง Backstop ให้มีการรับรองทางกฎหมายที่ทางพรรค DUP ยอมรับได้ อังกฤษก็จะออกจาก EU อย่างราบรื่นและเดินหน้าเรื่องการเจรจาข้อตกลงการค้าต่อไปได้ กรณีนี้จะเป็นผลดีต่อทั้งค่าเงินปอนด์และตลาดหุ้นอังกฤษในภาพรวม ค่าเงินปอนด์จะพุ่งทะยานไปถึง 1.300 ทันทีที่ข่าวออก และจะไต่ระดับไปถึง 1.3500 ดอลลาร์ต่อปอนด์ได้หากข้อตกลงที่ปรับแก้แล้วนี้ผ่านรัฐสภาอังกฤษ
  2. ประชามติครั้งที่ 2 กระแสของการทำประชามติอีกครั้งในเรื่อง Brexit กำลังร้อนแรงขึ้นเรื่อยทั้งในและนอกรัฐสภาอังกฤษ โดยผลสำรวจล่าสุดจาก YouGov ระบุว่า ประชาชนอังกฤษสนับสนุนให้มีประชามติครั้งที่ 2 เพื่อตัดสินเรื่อง Brexit โดยประชาชน 53% ในกลุ่มตัวอย่างสนับสนุนประชามติครั้งที่ 2 ขณะที่อีก 47% ไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกันหากมีการทำประชามติจริง ผลคะแนนจะเทไปฝั่งที่สนับสนุน EU มากกว่ากลุ่มที่ต้องการออกทั้งนี้โพลล์จาก YouGov ระบุว่า 54% หนุนให้อยู่ EU ต่อ เทียบกับ 46% ที่ยืนยันให้ออกจาก EU โดยหากรัฐบาลเมย์ประกาศยืดหรือยับยั้งมาตรา 50 จริงแล้วประกาศเตรียมประชามติครั้งที่ 2 ข่าวนี้จะส่งผลดีต่อค่าเงินปอนด์ชัดเจน ค่าเงินปอนด์จะดีดตัว 2-3% ตอบรับข่าวนี้ ไปซื้อขายในระดับ 1.3100-1.3200 ดอลลาร์ต่อปอนด์ โดยคาดว่าประชามติจะเกิดขึ้นราว 4 เดือนนับจากวันประกาศเช่นเดียวกับในปี 2016 โดยระหว่างทางนั้นค่าเงินปอนด์จะมีความผันผวนตามผลสำรวจที่ออกมาในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งย่อมส่งผลให้ค่าเงินปอนด์มีการเหวี่ยงตัวในช่วงกว้างระหว่าง 1.2700-1.3000 ดอลลาร์ต่อปอนด์ได้

    กรณีที่ผลประชามติออกมาตามโพลล์ล่าสุด นั่นหมายความว่า Brexit ไม่เกิดขึ้น แรงซื้อเงินปอนด์และสินทรัพย์ในอังกฤษจะกลับมา ค่าเงินปอนด์จะทะยานขึ้นไปยืนเหนือ 1.400 ดอลลาร์ต่อปอนด์ แต่กรณีสถานการณ์ออกมาเลวร้ายคือ คนอังกฤษยืนยันที่จะออกจาก EU จริง ตลาดจะแตกตื่นเรื่อง No-Deal Brexit ขึ้นมาอีกครั้ง และค่าเงินปอนด์น่าจะถูกเทขายรุนแรงร่วงลงมากกว่า 10% ในวันเดียว โดยมีโอกาสสูงที่เงินปอนด์จะไปทดสอบที่ระดับ 1.1500 ปอนด์ต่อดอลลาร์ และอาจถูกเทขายต่อเนื่องจนไปทดสอบ 1.1000 ดอลลาร์ต่อปอนด์ได้ภายในเวลา 3 เดือนหากชัดเจนว่า No-Deal Brexit เกิดขึ้นแน่ๆ

    อย่างไรก็ตามแม้ว่าผลประชามติจะเอนเอียงไปทางฝั่ง EU  แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ บรรยากาศทางการเมืองที่ประชาชนมีการแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงและแสดงท่าทีข่มขู่คุกคามไปถึงนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝั่ง Brexit หรือ EU ในรัฐสภาอังกฤษ ล่าสุดนักการเมืองหลายคนถึงขั้นต้องร้องขอกำลังตำรวจมาคุ้มกันหน้าสภาเพิ่ม นั่นหมายความว่าแม้อังกฤษจะอยู่ใน EU ต่อไป แต่การเมืองและสังคมอังกฤษจะไม่เหมือนเดิม

    ความแตกแยกที่ลงลึกถึงรากฐานทางความคิดจะคงอยู่ต่อ และอังกฤษจะเผชิญวิกฤตการเมืองต่อเนื่องทำให้รัฐบาลในอนาคตปกครองประเทศลำบากขึ้น ไม่สามารถผลักดันนโยบายในระยะยาวได้ อังกฤษจะเผชิญความเสี่ยงทางการเมืองในระยะยาวที่สูงขึ้น ซึ่งสุดท้ายค่าเงินปอนด์จะถูกตลาดเทขายลงต่อเนื่องและมีโอกาสที่จะหลุด 1.3000 ดอลลาร์ต่อปอนด์ได้หากอังกฤษมีรัฐบาลที่อายุสั้นและไม่สามารถสร้างเอกภาพทางการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภาได้

  3. เลือกตั้งรอบใหม่ กรณีนี้อังกฤษจะเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยาวนานข้ามปี ไม่ว่าจะเรื่องของหน้าตารัฐบาลชุดใหม่หรือการเจรจากับ EU ต่อไป ความกังวลในระยะสั้นของตลาดตอนนี้ก็คือ หากพรรคแรงงานชนะ อังกฤษจะตกอยู่ในกับดักนโยบายประชานิยมสุดขั้วที่ส่งผลให้อังกฤษเผชิญวิกฤตการเงินและการคลังในระยะยาวจากการขยายตัวของการขาดดุลงบประมาณมหาศาลจากการขยายสวัสดิการทั่วหน้าและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขณะเดียวกันหากพรรคแรงงานชนะ ไอเดียเรื่อง “People’s QE” ของนายเจเรมี คอร์บินที่เขาเคยเสนอในช่วงหาเสียงเป็นผู้นำพรรคแรงงานในปี 2015 อาจถูกปัดฝุ่นนำมาใช้และปฏิบัติจริง โดยเขาเสนอว่า ธนาคารกลางอังกฤษควรพิมพ์เงินเพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่จะนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจประเทศและแก้ปัญหาความยากจน ดังนั้นแล้วหากการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง ค่าเงินปอนด์จะเผชิญความผันผวนและการเทขายที่รุนแรงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

    เนื่องจากนักลงทุนเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการเงินของประเทศในระยะยาวหากฝ่ายการเมืองแทรกแซงการทำงานของ BOE ระยะสั้นหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ค่าเงินปอนด์จะกลับไปทดสอบ 1.2500 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หากพรรคแรงงานชนะและจัดตั้งรัฐบาลได้

    ค่าเงินปอนด์จะถูกถล่มขายไปไปทดสอบ 1.2000 ดอลลาร์ต่อปอนด์ได้ และในระยะยาวเราจะเห็นค่าเงินปอดน์ถูกขายต่อเนื่องไปจนถึง 1.1000 ดอลลาร์ต่อปอนด์ได้หากนโยบายเอียงซ้ายของพรรคแรงงานถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ กรณีที่พรรคแรงงานชนะเลือกตั้งจึงสร้างความปั่นป่วนให้ตลาดได้ไม่ต่างจากกรณี No-Deal Brexit เลย แต่ความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังในระยะยาวจะมากกว่าเพราะตลาดสูญเสียความเชื่อมั่นต่อสถาบันทางเศรษฐกิจของอังกฤษด้วย

    โดยสรุปแล้ว ไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม อนาคตทางการเมืองอังกฤษนั้นหลีกเลี่ยงภาวะปั่นป่วนและวิกฤตทางการปกครองและความคิดได้ยาก อันจะส่งผลถึงความเชื่อมั่นในระยะยาว ค่าเงินปอนด์ไม่ว่ากรณีใดๆจะเผชิญความผันผวนและจบลงด้วยการถูกเทขายรุนแรง ซึ่งท้ายที่สุดปัจจัยเหล่านี้จะย้อนไปกระทบเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปให้สุ่มเสี่ยงขึ้นได้ในอนาคตนับจากนี้