สงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา จะสร้างหรือทำลายอาเซียน
- สงครามการค้ากำลังผลักชาวเอเชียไปสู่ความขัดแย้งทางแนวคิดและอุดมการณ์
- ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่เคยรวมตัวกันเมื่อสมัยสงครามเย็น กำลังถูกบีบให้ต้องเลือกข้างระหว่างสหรัฐและจีน นี่อาจจะเป็นบททดสอบครั้งสำคัญ
บทวิเคราะห์จาก South China Morning Post โดย Derwin Pereira ผู้ก่อตั้งและ CEO ของPereira International บริษัทที่ปรึกษาด้านการเมืองในสิงคโปร์ ได้วิเคราะห์ว่า เมื่อสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ อาจจะทำให้อาเซียนต้องแตกเป็นเสี่ยงก็ได้
เมื่อกล่าวถึงในด้านเศรษฐกิจแล้ว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน นับว่าเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในห่วงโซ่มูลค่าระดับโลกของการผลิตซึ่งขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของมหาอำนาจใหญ่ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอินเดีย แล้วหากปราศจากส่วนนี้แล้ว อาเซียนก็อาจจะสูญเสียบทบาทในเวทีทางเศรษฐกิจระดับโลกไปด้วย
ดังนั้น สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งส่งผลที่จะทำให้เกิดการลดทอนความเป็นโลกาภิวัตน์ลงนั้น จึงอาจทำให้อาเซียนต้องประสบปัญหาครั้งใหญ่ไปด้วยก็ได้ เพราะสงครามการค้าดังกล่าว เป็นตัวกระตุ้นสำหรับความเป็นชาตินิยมอย่างรุนแรงตามมาได้ ในขณะที่อาเซียนนั้น ถือว่าเป็นภูมิภาคที่เกิดจากการรวมกันของผู้คนที่หลากหลาย แล้วที่ผ่านมาก็มีปัญหาทางด้านชนกลุ่มน้อย เชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ ที่อาจนำไปสู่การแตกแยกมากขึ้นก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม มันเป็นเรื่องที่พูดกันซ้ำซากจำเจว่า ที่ผ่านมา แนวคิดแบบเสรีนิยม เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของชาติต่างๆในอาเซียนเติบโตขึ้น แต่อันที่จริงแล้วมันตรงกันข้าม เพราะกลายเป็นว่าแนวคิดแบบชาตินิยมและท้องถิ่นนิยมต่างหากที่เป็นตัวเชื่อมต่อและเพิ่มโอกาสให้กับเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้กับในระดับโลก
แม้จะมีสงครามการค้า แต่สหรัฐกับจีนยังคงติดต่อกันในทุกระดับ
ทั้งนี้หากกล่าวไปแล้ว การรวมกลุ่มของสหภาพยุโรป มีผลประโยชน์ที่มาจากสถานะและตัวตนของความเป็นชาติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมที่มีลักษณะเป็นเอกภาพที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งการรวมตัวกันนี้ก็นับเป็นการตอบโต้กลับต่อสหรัฐอเมริกาและทวีปอเมริกาเหนือในการเข้ามาครอบงำเศรษฐกิจของยุโรปเอาไว้ได้
แต่ในทางกลับกัน ความร่วมมือของชาติในอาเซียน ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะจากภายใน แต่เป็นเพราะโลกทำให้พวกเขาต้องร่วมมือกัน ในขณะที่ความแตกต่างทางอัตลักษณ์ของแต่ละชาติในอาเซียนก็ยังคงมีอยู่สูงจนถึงทุกวันนี้ นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งว่า ทำไมสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน กำลังจะสั่นคลอนอาเซียน เพราะในขณะที่ยุโรปรวมตัวกันอย่างมีความเป็นเอกภาพและเกี่ยวเนื่องต่อกันภายใต้เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ แต่อาเซียนไม่ใช่เช่นนั้น และอาเซียนกำลังถูกบีบให้จะต้องเลือกข้างว่าจะเข้ากับฝ่ายไหนระหว่างสองยักษ์มหาอำนาจอย่าง จีน และ สหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าการเลือกข้างดังกล่าว จะต้องเลือกอีกฝักฝ่ายหนึ่งไปเสียหมดอย่างสิ้นเชิง
บางประเทศในอาเซียน เช่น กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ (มีแนวโน้ม) เลือกฝั่งจีน ด้วยปัจจัยทางด้านผู้บริโภค ในขณะที่เวียดนามนั้นถือว่าเป็นชาติที่อาจจะได้รับผลประโยชน์ในสงครามการค้า เพราะมีการส่งออกสินค้าไปสหรัฐมากและคงไม่ต้องการเสียตลาดตรงนี้ (ยังไม่นับรวมความสัมพันธ์ที่ทักรักทั้งเกลียดกับจีน) ทางด้านอินโดนีเชียก็จะได้ประโยชน์จากสงครามการค้าและการนำเข้าจากสหรัฐที่อาจจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน สำหรับไทย มาเลเชีย และ สิงคโปร์ เป็นสามประเทศที่มีการเข้ามาลงทุนต่างๆมากทั้งจากจีนและสหรัฐ
จะเห็นได้ว่าแนวโน้มของแต่ละประเทศไม่ได้มีความเป็นเอกภาพ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสงครามการค้า กับการเลือกฝั่งไปทางสหรัฐและถอยห่างทางการค้ากับจีนที่อาจจะมีแนวโน้มมากขึ้นนั้น อาจจะไม่ได้ทำให้เกิดความแตกแยกในอาเซียนก็ตาม แต่มันก็อาจนำไปสู่การพัฒนาบทบาทของชาติอาเซียนในทางเศรษฐกิจในเวทีโลก อาจจะยิ่งกว่าการที่ชาติในอาเซียนรวมตัวกันก็ได้
หากย้อนกลับไป ประเทศในอาเซียนเริ่มรวมตัวกันครั้งแรกในสมัยยุคสงครามเย็น ซึ่งก็เป็นผลมาจากเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ และการจัดที่ทางของอาเซียนในฐานะพันธมิตรกับสหรัฐ (ซึ่งก็ยังไม่ใช่ทุกประเทศในเวลานั้น) อาเซียนจึงไม่ใช่และไม่เคยเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลาง แต่มีการเลือกฝักฝ่ายกับชาติมหาอำนาจเพียงข้างใดข้างหนึ่งมาตลอด หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง อาเซียนจึงได้ขยายสมาชิกไปยังกลุ่มประเทศที่ถอยห่างออกมาจากสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ด้วย
ในเวลานี้ เมื่อสหรัฐเปิดฉากทำสงครามการค้ากับจีน อาเซียนก็ไม่สามารถเพิกเฉยได้ แต่ทางเลือกในเวลานี้ก็ไม่ใช่การเลือกระหว่างระบอบทุนนิยมและคอมมิวนิสต์อีกต่อไป เพราะมันมีความซับซ้อนยิ่งกว่านั้น มันกลายเป็นการเลือกว่า จะเข้ากับระบอบทุนนิยมฝั่งไหนเสียมากกว่า ระหว่างสหรัฐและจีน ดังนั้นเรื่องของระบบความคิดทางการเมืองจึงไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นตัวชี้นำการตัดสินใจของกลุ่มประเทศอาเซียนอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่แต่ละชาติจะได้รับ อย่างไรก็ตาม เพราะลัทธิการคุ้มครองทางการค้าไม่สามารถขยายพื้นที่ทางการเมืองได้ จึงมีความคาดหวังว่าสงครามการค้าของสองชาติมหาอำนาจจะทำให้อาเซียนได้มีความเป็นประชาธิปไตยภายในประเทศมากขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้เลือกฝั่งสหรัฐก็ตาม
ทั้งนี้ การลดลงของตัวเลือกทางการเมืองก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ตามมา ไม่ใช่แค่เรื่องของทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จีนได้เริ่มลงมือสำหรับแผนการระยะยาว โดยมีบทเรียนจากในประวัติศาสตร์ครั้งสมัยการมาของจักรวรรดินิยมตะวันตก จีนปรับปรุงกองทัพแบบสมัยใหม่ยิ่งขึ้น ในขณะที่หลายชาติในอาเซียนแทบจะไม่มีศักยภาพในการป้องกันประเทศที่มากพอ ก็ต้องเลือกเอาว่าจะเข้าฝั่งไหน โดยกองทัพของสองชาติมหาอำนาจถือว่ามีบทบาทสำคัญด้วย
อย่างไรก็ตาม มันอาจจะไม่ได้เป็นแค่การเลือกข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่งเสมอไป และอาเซียนก็จำเป็นต้องได้รับบททดสอบว่าจะแสดงความยืดหยุ่นได้แค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมา ยกเว้นกรณีของวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 และ วิกฤติการเงินระดับโลกในปี 2008 อาเซียนแทบจะไม่ได้เจอบททดสอบที่ยากขนาดนั้นเลยนับตั้งแต่เวียดนามเปิดฉากรุกรานกัมพูชาในปี 1978 บางทีมันอาจจะถึงเวลาที่อาเซียนจะต้องแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในเชิงความสัมพันธ์ดังกล่าวกับสองชาติยักษ์ใหญ่ของโลกว่าจะทำได้อย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูว่า อาเซียนจะสามารถผ่านพ้นบททดสอบนี้ได้อย่างไร ไม่ว่าจะการรวมเป็นเอกภาพหรือจะแตกเป็นเสี่ยงก็ตาม แต่มันก็อาจจะทำให้เกิดความสมดุลในแง่ของอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศของกลุ่มอาเซียนก็เป็นได้
Source: SCMP