22-08-2018

เข้าใจวิกฤตตุรกี: สาเหตุแห่งวิกฤต

บทความโดย

ค่าเงินและราคาสินทรัพย์ตุรกีที่ร่วงลงอย่างรุนแรงเฉียบพลันจนขยายวงไปสู่การเทขายสินทรัพย์ทั่วโลกในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้สร้างความวิตกกังวลในหมู่นักลงทุนและแวดวงนโยบายทั่วโลกว่า วิกฤตในตุรกีอาจลุกลามเป็นโดมิโน่กระทบเศรษฐกิจในประเทศเกิดใหม่และอาจทำให้เกิดปัญหาต่อระบบธนาคารในยุโรปที่ปล่อยกู้ในตุรกีเป็นจำนวนมากจนอาจเปิดแผลแห่งวิกฤตในยุโรปอีกครั้ง

ฉะนั้นแล้วการทำความเข้าใจถึงสาเหตุของวิกฤตในตุรกีจะทำให้เรามีทิศทางในการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง สามารถคาดการณ์พัฒนาการของเหตุการณ์ในโลกการเงินและธุรกิจอันเนื่องมาจากปัจจัยตุรกีต่อไปได้ โดยวิกฤตในตุรกีนั้นหากดูกันตามจริงแล้วไม่ใช่วิกฤตที่มีสาเหตุตามแบบตำราเศรษฐศาสตร์ทั่วๆไป แต่เป็นไปในลักษณะวิกฤตเชิงซ้อนที่มีปัจจัยด้านการเมืองมาเกี่ยวข้อง ทั้งจากการเมืองภายในประเทศตุรกีเองและพัฒนาการด้านภูมิรัฐศาสตร์รอบๆบ้านตุรกีที่มีผลไปถึงการตัดสินใจของผู้นำตุรกีเองด้วย บทความวันนี้จะมาทำความเข้าใจพื้นฐานทางเศรษฐกิจและมิติทางการเมืองเบื้องหลังไปพร้อมๆกัน

ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง

หากวิเคราะห์กันที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตุรกีแล้ว แม้ตุรกีจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตที่สูง แต่ก็ตามมาด้วยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจตุรกีนั้นต่างจากประเทศไทยและชาติเอเชียยุคหลังวิกฤตปี 1997 ที่มีบทเรียนสำคัญในเรื่องของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังจนนำมาสู่วิกฤต สุดท้ายก็ต้องปรับโมเดลมาเน้นการส่งออกและปฏิรูประบบสถาบันการเงินเพื่อเสริมความแข็งแรงรับมือวิกฤต

ขณะที่ตุรกีภายใต้การนำของนาย Erdogan นับแต่ชนะเลือกตั้งและขึ้นสู่อำนาจตั้งแต่ปี 2002 นั้น เขาวางเป้าหมายพลิกบทบาทให้ตุรกีเป็นประเทศเศรษฐกิจและมหาอำนาจชั้นนำในอนาคต โดยมีเป้าหมายในการยกระดับฐานะความเป็นอยู่และระดับรายได้ให้สูงขึ้นตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ โดยตุรกีมีจุดเด่นในด้านภาคการก่อสร้างที่ขยายตัวเร็ว อีกทั้งยังมีการขยายตัวของสินเชื่อและการบริโภคสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้ในช่วงที่นาย Erdogan และพรรค AKP ปกครองประเทศ เศรษฐกิจมีการเติบโตเร็ว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมหาศาลต่อเนื่องกันทุกปี ฉะนั้นแล้วโดยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจมหภาค นโยบายของนาย Erdogan จึงเป็นการนำพาเศรษฐกิจตุรกีบนเส้นทางที่ไม่ยั่งยืนและสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาในอนาคตอยู่แล้ว

ที่มา: World Economic Outlook Database, April 2018

ลงทุนโครงการขนาดใหญ่: สินเชื่อโต ปริมาณเงินสูง เงินเฟ้อพุ่ง

จุดเด่นอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจในยุคของ Erdogan ก็คือ การเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในระดับสูงมาก โดยรัฐบาลพรรค AKP ของนาย Erdogan ใช้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านโครงการใหญ่ภายใต้วิสัยทัศน์ “Turkey Vision 2023” ซึ่งปี 2023 เป็นปีครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี โดยเป้าหมายเชิงปริมาณที่จับต้องได้ที่ทางการตุรกีกำหนดไว้ตามแผนมีดังต่อไปนี้

  • เป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ติด 1 ใน 10 ของโลก
  • มีขนาดเศรษฐกิจหรือ GDP มูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ประชากรจำนวน 82 ล้านคน
  • การส่งออกมูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์
  • มีอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในระดับเลขหลักเดียวคือ ต่ำกว่า 10% ลงมา

โดยในวิสัยทัศน์นี้มีรายละเอียดที่เกี่ยวเนื่องด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจ กิจการภาครัฐ และโครงการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางด้านการเงินและการขนส่งระดับโลกด้วย การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เพื่อพลิกโฉมตุรกีในยุคใหม่และหวังให้เป็น Landmark ทางการเมืองของนาย Erdogan และพรรค AKP เองทำให้เกิดความต้องการใช้เงินมหาศาลนับแสนล้านดอลลาร์ โดยตุรกีเองมีการประกาศ 5 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เป็นไฮไลท์สำคัญของรัฐบาลเพื่อนำพาตุรกีไปสู่อนาคตดังต่อไปนี้

 

ที่มา: Property Turkey

 

นาย Erdogan เองก็เข้าสู่อำนาจหลังจากตุรกีประสบปัญหาวิกฤตการเงินในปี 2001 การเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกอบกู้ศักดิ์ศรีของตุรกีในเวทีโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็น โครงการลงทุนขนาดใหญ่และการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนจึงเป็นวาระหลักทางการเมืองของรัฐบาล AKP ด้วยนโยบายดังกล่าวทำให้ตุรกีมีการขยายตัวของสินเชื่อและปริมาณเงินในระดับที่สูงมากเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และนั่นก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงทางเศรษฐกิจอื่นๆทั้งความต้องการนำเข้าวัสดุและพลังงานที่สูงขึ้น ปริมาณเงินที่โตอย่างก้าวกระโดด ตามด้วยเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องจนคุกคามเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

 

ที่มา: Central Bank of Republic of Turkey

หนี้ต่างประเทศพอกพูน

ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงนำมาซึ่งความจำเป็นทางนโยบายที่ธนาคารกลางต้องควบคุมดูแลด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจและควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่วางไว้ ขณะเดียวกันตุรกีเองก็ต้องมีการนำเข้าเงินทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงมากในแต่ละปี ฉะนั้นการคงอัตราดอกเบี้ยที่สูงจึงมีความจำเป็นในแง่ที่ช่วยดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงย่อมจูงใจให้นักลงทุนขนเงินมาซื้อพันธบัตรหรือนำเงินมาพักไว้ในตลาดเงินตุรกีเพื่อหาประโยชน์จากทั้งดอกเบี้ยที่สูงและหวังผลจากค่าเงินแข็งค่าด้วย

อย่างไรก็ตามนโยบายการเงินเช่นนี้ย่อมทำให้ต้นทุนการกู้เงินในประเทศตุรกีสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่การกู้เงินในสกุลดอลลาร์และยูโรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นมีต้นทุนที่ถูกกว่าเนื่องจากทั้ง Fed และ ECB ต่างใช้นโยบายกดดอกเบี้ยจนเหลือ 0 หรือแม้กระทั่งดอกเบี้ยติดลบ อีกทั้งยังปล่อยสภาพคล่องผ่านนโยบาย QE เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจหลังวิกฤตปี 2008 และวิกฤตกลุ่มยูโร ทำให้ภาคเอกชนตุรกีที่ต้องการใช้เงินลงทุนมหาศาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามวาระของรัฐบาลนาย Erdogan มีช่องทางในการระดมเงินกู้ต้นทุนต่ำในรูปของการกู้เงินต่างประเทศหรือออกพันธบัตรสกุลดอลลาร์หรือยูโรมาเพื่อใช้ลงทุนในประเทศ ผลที่ตามมาก็คือ ภาคเอกชนตุรกีมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในสหรัฐฯและในยุโรปในอนาคต

 

ที่มา: Central Bank of Republic of Turkey

ปัจจัยการเมืองในและนอกประเทศซ้ำเติม

วาระการเมืองของรัฐบาล AKP ของนาย Erdogan ที่ต้องการเอาใจฐานเสียงด้วยคำมั่นสัญญาที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจตุรกีเติบโตเพื่อยกระดับความเป็นอยู่และเสริมบทบาทและอิทธิพลของตุรกีในเวทีโลก ทำให้เกิดความยากลำบากในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานับแต่เหตุการณ์รัฐประหารที่ล้มเหลวในเดือนกรกฎาคม 2016 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงในตุรกีนั้นสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและกระทบค่าครองชีพของประชาชนอย่างมาก ธนาคารกลางตุรกีจึงต้องมีการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อปรามเงินเฟ้อตามมาตรฐานการดำเนินงานของธนาคารกลางทั่วโลก

อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยที่สูงเกินไปก็ย่อมกระทบกับกลไกเศรษฐกิจตุรกีที่พึ่งพาการเติบโตของสินเชื่ออย่างเลี่ยงไม่ได้ เราจึงได้เห็นการตำหนินโยบายดอกเบี้ยออกสื่อหลายครั้งของนาย Erdogan ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนกังวลต่อความน่าเชื่อถือและอิสระในการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางตุรกีที่อาจไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในระดับที่ควรจะเป็น ตัวเขาเองพูดหลายครั้งว่า ดอกเบี้ยสูงคือต้นเหตุของเงินเฟ้อที่สูงในตุรกี ทำให้เกิดความกังวลว่านาย Erdogan กำลังแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางตุรกี และดูเหมือนตลาดจะยิ่งกังวลมากขึ้นกับการแทรกแซงทางการเมืองต่อธนาคารกลางตุรกีหลังจากนาย Erdogan ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2018 ที่ผ่านมา

ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้อำนาจเต็มกับเขาภายใต้ระบอบประธานาธิบดีแทนระบอบรัฐสภาเดิม อีกทั้งหลังจากเขาชนะการเลือกตั้ง นาย Erdogan เลือกที่จะตั้งลูกเขยของเขาคือ Berat Albayrak ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และท้ายที่สุดในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 24 กรกฎาคม 2018 ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง ธนาคารกลางตุรกีทำให้แวดวงนักลงทุนเกิดอาการช็อคอย่างไม่ทันตั้งตัว ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ แทนที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.00% ตามที่ตลาดคาดหวัง ส่งผลให้ค่าเงินตุรกีร่วงลงอย่างฉับพลันและต่อเนื่อง

นอกจากนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ต้องตอบสนองวาระการเมืองของนาย Erdogan แล้ว นโยบายด้านการต่างประเทศและปัจจัยจากนอกประเทศก็ส่งผลต่อค่าเงิน Lira อยู่ไม่น้อยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเข้าไปมีส่วนพัวพันกับสถานการณ์ความมั่นคงในตะวันออกกลางโดยเฉพาะในซีเรียทำให้ประเทศตุรกีเองเผชิญกับการก่อวินาศกรรมหลายต่อหลายครั้งจากการล้างแค้นของกลุ่ม IS อีกทั้งตุรกีเองก็ได้มีการส่งกำลังทหารเข้าไปปฏิบัติการในตะวันออกกลางหลายครั้ง ทำให้ช่วงต้นปี 2017 ค่าเงิน Lira อ่อนค่าลงอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากความกังวลด้านสถานการณ์ความมั่นคงของตุรกี

นอกจากปัญหาด้านความมั่นคงที่ตุรกีต้องเผชิญรอบๆบ้านตัวเองแล้ว ตุรกีในช่วงหลังยังมีปัญหากับสหรัฐฯภายใต้การนำของ Trump หลายต่อหลายครั้งทั้งจากจุดยืนในตะวันออกกลาง การเบนเข้าหารัสเซียมากขึ้น และความไม่ลงรอยกันเรื่องการส่งตัวนาย Gulen ที่ลี้ภัยในสหรัฐฯ และล่าสุดกับกรณีหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันคือนาย Andrew Brunson ที่ถูกทางการตุรกีคุมตัวในบ้านพักจากข้อกล่าวหาเรื่องการก่อการร้ายก็ทำให้สถานการณ์แย่ลงโดยรัฐบาลสหรัฐฯได้ระดมมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจในช่วงต้นเดือนสิงหาคมออกมาหลายมาตรการทั้ง การคว่ำบาตรรัฐมนตรียุติธรรมและมหาดไทยตุรกี การทบทวน GSP และการขู่จะขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมอีกเท่าตัวกับตุรกี ขณะที่ตุรกีเองก็ประกาศมาตรการด้านภาษีและคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจตอบโต้สหรัฐฯไปเช่นเดียวกัน และกล่าวหาว่าสหรัฐฯและนายทุนตะวันตกกำลังทำสงครามทางเศรษฐกิจกับตุรกีด้วยการโจมตีค่าเงิน ทำให้สุดท้ายค่าเงินตุรกีผันผวนและดิ่งค่าลงอย่างรุนแรงจนกลายเป็นวิกฤตค่าเงินที่ลุกลามไปช่วงสั้นๆในต้นเดือนสิงหาคมอย่างที่เราเห็นกันในข่าว

สรุป: วิกฤตตุรกีเป็นวิกฤตเชิงซ้อนเศรษฐกิจและการเมือง

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตุรกีนั้นเป็นพลวัตทางการเมืองที่ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจภายใต้การนำของรัฐบาลพรรค AKP ของประธานาธิบดี Erdogan เอง เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่ต้องการขับเคลื่อนบทบาทตุรกีในเวทีโลกและการต้องรับมือปัจจัยความมั่นคงรอบบ้านทั้งสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ความสัมพันธ์กับ NATO และสหภาพยุโรป รวมถึงสถานการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับรัสเซีย

ทำให้ตุรกีในยุคของ Erdogan ดำเนินนโยบายในลักษณะชาตินิยม ส่งผลให้นโยบายเศรษฐกิจตุรกีมุ่งเน้นที่การเติบโตสูงผ่านโครงการขนาดใหญ่มากมาย ส่งผลต่อฐานะการเงินของประเทศตุรกีที่ต้องใช้เงินทุนในแต่ละปีสูงเพื่อขยายสินเชื่อเพื่อการลงทุน ส่งผลให้ปริมาณเงินในตุรกีสูงขึ้น เงินเฟ้อสูง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาก และส่งผลให้หนี้ต่างประเทศสูงเป็นเงาตามตัว

กระนั้นก็ตามกลไกทางการเมืองตุรกีที่มุ่งสู่การรวบอำนาจภายใต้ระบอบประธานาธิบดีส่งผลให้ภาคการเมืองล้ำเส้นเข้าไปยังการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อธนาคารกลางและทำให้ค่าเงิน Lira ร่วงลงต่อเนื่องจากความกังวลดังกล่าว

ขณะเดียวกันบุคลิกสไตล์ผู้นำเหล็กของนาย Erdogan ก็ทำให้เขาไม่ยอมแพ้ต่อสถานการณ์ในตลาดการเงินและจากต่างประเทศง่ายๆ การคำนึงถึงผลลัพธ์ทางการเมืองมากกว่าการยอมถอยเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทำให้สถานการณ์หลายๆอย่างดูเลวร้ายลงทั้งการตอกย้ำทฤษฎีเรื่องดอกเบี้ยสูงทำให้เงินเฟ้อและการโจมตีเศรษฐกิจตุรกีจากกลุ่มทุนนอกประเทศ พร้อมๆกับการเปิดฉากตอบโต้สหรัฐฯในเรื่องการกักตัว Andrew Brunson และมาตรการภาษีและคว่ำบาตรหลายๆข้อ

ฉะนั้นแล้วเราจะเห็นชัดว่าวิกฤตการเงินตุรกีที่เราเห็นนั้นแท้จริงมีรากฐานของปัญหามาจากพัฒนาการทางการเมืองภายในตุรกีที่ผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองพลวัตทางภูมิรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ซับซ้อนรอบๆบ้านตุรกีเอง