24-06-2018

วิกฤตประเทศเกิดใหม่ ตอน ปัจจัยการเมือง

บทความโดย
  • ปัจจัยการเมืองเป็นตัวแปรสำคัญต่อวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆว่าจะเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดวิกฤตหรือซ้ำเติมวิกฤตให้รุนแรงยิ่งขึ้น
  • กรณีทั้ง 4 ประเทศคือ เม็กซิโก ตุรกี รัสเซีย และแอฟริกาใต้ล้วนมีปัจจัยการเมืองภายในที่พร้อมสั่นคลอนเศรษฐกิจภายในประเทศ
  • การลงทุนในประเทศเกิดใหม่จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาในแง่ของความเสี่ยงทางการเมืองที่จะเข้ามากระทบด้วย

การเกิดวิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจนั้น แม้ว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาคภายในและภายนอกประเทศจะเป็นสาเหตุสำคัญในหลายๆวิกฤตที่เกิดขึ้นกับประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยทางการเมืองก็มีส่วนจุดชนวนให้เกิดวิกฤตหรือซ้ำเติมให้วิกฤตที่มีอยู่แล้วเข้าสู่ภาวะเลวร้ายกว่าเดิม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการเมืองโลกเกิดการพลิกผันที่รุนแรงจากหลายๆปัจจัยทั้งการผงาดขึ้นมาของจีน วิกฤตในสหภาพยุโรป วิกฤตด้านความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง การผงาดขึ้นของกลุ่มการเมืองสุดโต่งในหลายประเทศ การสั่นคลอนของรัฐบาลหลายๆประเทศจากปัญหาการคอร์รัปชั่นและเรื่องปากท้อง ปัจจัยทางการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศที่ถาโถมเข้ามาจึงส่งผลให้เกิดความผันผวนทางการเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่หลายประเทศ โดยบทความในวันนี้จะนำเอากรณีศึกษาของประเทศเกิดใหม่ที่เผชิญปัญหาเสถียรภาพทางการเงินสั่นคลอนจากปัจจัยการเมืองมานำเสนอเพื่อให้เห็นภาพของผลกระทบและกลไกการเมืองที่ส่งผลมาถึงภาคการเงินว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการวางแผนการลงทุนและบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            เม็กซิโก

ภาพจาก Torresigner/iStock

กรณีของประเทศเม็กซิโกนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีในแง่ของปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเงินโดยตรง โดยตลาดการเงินเม็กซิโกทั้งค่าเงิน อัตราดอกเบี้ย และตลาดทุนเกิดความผันผวนขึ้นอย่างชัดเจนภายหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ รัฐบาลสหรัฐฯในยุคของทรัมป์นั้นประกาศชัดเจนถึงการจัดการกับผู้อพยพผิดกฎหมายที่ทะลักมาจากชายแดนเม็กซิโกทั้งการสร้างกำแพงและส่งตัวกลับ ขณะเดียวกันทรัมป์ยังขู่ที่จะออกจากข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือหรือ NAFTA โดยการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯนั้นคิดเป็นสัดส่วน 80% ของการส่งออกทั้งหมด ดังนั้นแล้วเม็กซิโกจึงเผชิญกับความเสี่ยงของการส่งออกที่อาจลดฮวบทันทีหากสหรัฐฯดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจเม็กซิโกเป็นวงกว้าง

อีกทางหนึ่งเม็กซิโกเองยังมีปัจจัยภายในที่สร้างความกังวลต่อนักลงทุนด้วย โดยรัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยประธานาธิบดี Enrique Peña Nieto ผู้นำพรรค PRI อาจแพ้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2018 แก่ผู้นำพรรคฝ่ายซ้ายคือ Andrés Manuel López Obrador ได้ โดยนักลงทุนมีความกังวลต่อนโยบายของ López Obrador ที่จะไม่เอื้อต่อภาคธุรกิจและอาจยกเลิกนโยบายปฏิรูปพลังงานที่รัฐบาลชุดปัจจุบันผลักดันก็เป็นได้ ฉะนั้นแล้วระบบการเงินเม็กซิโกเองจึงเผชิญความเสี่ยงทางการเมืองทั้งจากการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลประเทศตัวเองและจากฝั่งสหรัฐฯที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ด้วย

            ตุรกี

ภาพโดย Adem Altan / AFP

กรณีของตุรกีนั้นเป็นตัวอย่างชัดเจนของการที่ปัจจัยด้านความมั่นคงกระทบเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ นาย Erdogan ผู้นำคนปัจจุบันของตุรกีปกครองประเทศมายาวนานเกือบ 2 ทศวรรษภายใต้พรรค Justice and Development Party หรือ AKP ของเขา ในยุคนี้เศรษฐกิจตุรกีเองมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องจากการเติบโตด้านรายได้ การใช้จ่าย สินเชื่อ และภาคการก่อสร้าง อย่างไรก็ตามตุรกีเองก็ต้องเผชิญวิกฤตความมั่นคงรอบบ้านตัวเองทั้งจากวิกฤตในซีเรีย อิรัก และการเผชิญหน้าระหว่างตะวันตกและรัสเซีย ขณะเดียวกันการเมืองภายในตุรกีเองก็มีความคุกรุ่นอย่างต่อเนื่องจากนโยบายการกำราบศัตรูทางการเมืองของนาย Erdogan โดยเฉพาะกลุ่มก้อนของนาย Gullen ที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ที่สหรัฐฯ แต่ทางรัฐบาลกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังความวุ่นวายภายในประเทศ รวมถึงการรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2016 โดยนับแต่วันนั้น ค่าเงินตุรกีก็อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากนาย Erdogan ดำเนินการกวาดล้างคนที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมต่อการรัฐประหารอย่างต่อเนื่องทั้งทหาร ตุลาการ ข้าราชการประจำ นักวิชาการ และสื่อมวลชน ทั้งหมดถูกปลดและดำเนินคดีเป็นจำนวนหลายหมื่นคนด้วยกัน

นอกจากการกวาดล้างภายในแล้วและวิกฤตด้านความมั่นคงรอบบ้านแล้ว นาย Erdogan ยังมีการผลักดันการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศจากระบอบรัฐสภาสู่ระบอบประธานาธิบดีที่ตัวเขามีอำนาจเต็ม ซึ่งจะยิ่งทำให้เขากระชับอำนาจมากขึ้น ขณะเดียวกันการเร่งสะสมแต้มต่อทางการเมืองของนาย Erdogan ยังสร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนหลายต่อหลายครั้งนับแต่ปี 2017 เป็นต้นมา โดยนาย Erdogan ได้กล่าวผ่านสื่อและต่อหน้าสาธารณชนหลายวาระว่า ต้นเหตุของเงินเฟ้อที่สูงในตุรกีนั้นเกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป เขาเองมีความคิดเห็นว่าการลดดอกเบี้ยจะทำให้เงินเฟ้อลดลงและเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ

การกล่าวในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับหลักพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ของผู้นำตุรกีได้ส่งผลให้ค่าเงิน Lira และตลาดทุนตุรกีดำดิ่งอย่างรุนแรงหลายครั้งจากแรงเทขายของนักลงทุนต่างประเทศ ประเทศตุรกีเองมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง ทำให้ต้องใช้นโยบายการเงินที่อิงดอกเบี้ยสูงเพื่อดึงดูดเงินทุนให้เข้าประเทศและรักษาเสถียรภาพของค่าเงินเอาไว้ แต่การที่ผู้นำตุรกีมีท่าทีที่มีแนวโน้มต่อการแทรกแซงธนาคารกลางตุรกีให้สนองวาระทางการเมืองของตนเองทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมาก ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาธนาคารกลางตุรกีต้องทำการขึ้นอัตราดอดเบี้ยหลายครั้งเพื่อรั้งค่าเงินตุรกีไม่ให้ไหลลงจนควบคุมไม่อยู่ และแม้ว่าค่าเงินตุรกีจะทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แบบรายวันในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา[1] นาย Erdogan ก็ยังกล่าวว่ามีการสมคบคิดของกลุ่มอำนาจนอกประเทศโจมตีเศรษฐกิจตุรกี

แม้ว่าในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมจะมีการเดินสายของทีมเศรษฐกิจเพื่อเรียกความเชื่อมั่นและตอกย้ำถึงความเป็นอิสระของธนาคารกลางตุรกี แต่ก็ต้องจับตาต่อไปว่า หากนาย Erdogan เถลิงอำนาจสำเร็จภายใต้ระบอบประธานาธิบดีหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มิถุนายน 2018 เขาจะใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จขึ้นแทรกแซงกลไกทางเศรษฐกิจหรือไม่ และนโยบายด้านความมั่นคงของเขาจะกระทบตลาดการเงินเช่นไร

            รัสเซีย

ภาพโดย sputniknews/Dmitriy Vinogradov

กรณีของรัสเซียเป็นอีกกรณีที่เกิดจากปัจจัยความมั่นคง อย่างไรก็ตามวิกฤตความมั่นคงล้วนๆเพียงอย่างเดียวย่อมไม่สามารถทำอะไรเศรษฐกิจรัสเซียได้ แต่วิกฤตด้านความมั่นคงระหว่างรัสเซียและกลุ่ม NATO อันเนื่องมาจากการแข่งขันด้านอิทธิพลในยูเครนนำมาซึ่งมาตรการการตอบโต้ทางเศรษฐกิจจากฝั่งตะวันตกต่อรัสเซียผ่านมาตรการคว่ำบาตรหรือ Sanction หลังรัสเซียผนวกเอาแคว้นไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย โดยมาตรการดังกล่าวนั้นออกมาจากทั้งฝั่งสหรัฐฯและสหภาพยุโรปนับตั้งแต่ปี 2014 และยังมีผลจนถึงทุกวันนี้ มาตรการคว่ำบาตรหลายชุดที่ออกมาส่งผลเสียหายต่อความสัมพันธ์ทางการเงิน การค้า และการลงทุนระหว่างรัสเซียและตะวันตกอย่างมาก ขณะเดียวกันเศรษฐกิจรัสเซียยังเผชิญกับวิกฤตด้านราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงอย่างรุนแรงซ้ำเติมเข้าไปอีก ส่งผลให้รัสเซียเองต้องเผชิญกับภาวะเงินทุนไหลออกรุนแรง ค่าเงินรูเบิ้ลตกต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่รัสเซียผนวกเอาไครเมียเข้ามาเป็นดินแดนรัสเซีย ค่าเงินรูเบิ้ลก็ร่วงลงจาก 36 รูเบิ้ลต่อดอลลาร์ มาจนถึงจุดต่ำสุดที่เกือบ 80 รูเบิ้ลต่อดอลลาร์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2014 นั่นเท่ากับว่าเงินรูเบิ้ลรัสเซียสูญเสียมูลค่ามากกว่าครี่งหนึ่งในเวลาเพียง 9 เดือนเท่านั้น โดยปัจจุบันค่าเงินรัสเซียกลับมาซื้อขายในช่วง 60-62 รูเบิ้ลต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ตามแม้ว่ารัสเซียเองจะอาศัยทุนสำรองมหาศาลและการค้าที่ยังเกินดุลประคองตัวกลับมาได้ แต่มาตรการคว่ำบาตรจากตะวันตกก็ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียเข้าสู่ภาวะถดถอย GDP หดตัวติดต่อกันถึง 7 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2015 จนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2016 ขณะเดียวกันธนาคารกลางรัสเซียก็ต้องใช้ทุนสำรองไปมหาศาลไปกับการปกป้องค่าเงินรูเบิ้ลด้วย ฉะนั้นแล้วตราบใดที่รัสเซียกับตะวันตกยังมีท่าทีเผชิญหน้ากันต่อไป เศรษฐกิจรัสเซียจะยังคงเปราะบางต่อปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศที่จะเข้ามากระทบได้ต่อเนื่อง

            แอฟริกาใต้

ภาพโดย BBC

ในส่วนของแอฟริกาใต้นั้นเป็นประเด็นของการเมืองภายในที่กระทบต่อความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและกระทบไปถึงเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ทั้งนี้ค่าเงินแรนด์แอฟริกาใต้มีความผันผวนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาโดยแรงขับเคลื่อนสำคัญเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ทางการเมืองรอบๆตัวอดีตประธานาธิบดี Jacob Zuma หัวหน้าพรรค African National Congress หรือ ANC โดยจุดเปลี่ยนสำคัญคือการปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2017 โดยในการปรับครั้งนี้ได้มีการปรับเอานาย Pravin Gordhan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในตอนนั้นออกไปด้วย โดยนาย Gordhan ได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุนในด้านการบริหารเศรษฐกิจแอฟริกาใต้ ฉะนั้นการปลดนาย Gordhan ออกจึงสร้างความตื่นตระหนกในหมู่นักลงทุนต่างชาติอย่างมาก โดยภายหลังการปลดนาย Gordhan ออกจากตำแหน่งเพียง 7 วัน Fitch ได้ทำการลดเครดิตเรตติ้งของประเทศแอฟริกาใต้ลงไปอยู่ในระดับพันธบัตรขยะหรือ Junk Rating ส่งผลให้ค่าเงินและพันธบัตรแอฟริกาใต้ถูกเทขายลงอย่างหนัก

ปัญหาด้านการแข่งขันภายในพรรค ANC และข้อกล่าวหาเรื่องการมีเอื้อผลประโยชน์ต่อตระกูล Gupta ของประธนาธิบดี Zuma ยิ่งทำให้การเมืองแอฟริกาใต้ในช่วงตลอดปี 2017 มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ S&P ตัดสินใจลดอันดับความน่าเชื่อถือของแอฟริกาใต้ลงมาในระดับ Junk อีก 1 รายในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2017

อย่างไรก็ตามปัญหาภายในแอฟริกาใต้ก็เริ่มคลี่คลายลงหลังจากนาย Zuma ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2018 และปัจจุบันถูกดำเนินคดีหลายข้อหาเกี่ยวกับการทุจริต ปิดฉากความไม่แน่นอนทางการเมืองในแอฟริกาใต้ที่กินเวลากว่า 1 ปี ส่งผลให้ค่าเงินและราคาสินทรัพย์ในแอฟริกาใต้ดีดตัวสูงขึ้นจากแรงซื้อจากนักลงทุนต่างประเทศหลังคลายความกังวลเรื่องปัญหาการเมือง

สรุป

จากกรณีตัวอย่างของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ทั้ง 4 ประเทศที่มาจากต่างภูมิภาคกันแสดงให้เห็นว่า ปัจจัยทางการเมืองนั้นส่งผลสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเงินในแต่ละประเทศด้วย โครงสร้างเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงกันผ่านการค้าและการลงทุนระหว่างกันทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้ากลายเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญที่ส่งผลให้การตัดสินใจทางการเมืองของประเทศคู่ค้ามีผลต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของอีกประเทศด้วย ดังจะเห็นได้จากกรณีเม็กซิโกและรัสเซียที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนนโยบายการค้าและความมั่นคงในตะวันตก

ขณะเดียวกันการเมืองภายในที่เต็มไปด้วยการเอื้อพวกพ้อง ปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใส และการใช้อำนาจของผู้นำอย่างไร้การตรวจสอบถ่วงดุลก็นำมาซึ่งปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมืองและความน่าเชื่อถือในสายตานักลงทุนต่างชาติ การเมืองในลักษณะดังกล่าวสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพในการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ต้องเสียเวลากับการทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดทางการเมืองจนส่งผลให้ไม่สามารถเอาเวลาไปผลักดันนโยบายระยะยาวได้ นอกจากนั้นแม้ประเทศเกิดใหม่บางประเทศเช่น ตุรกี รัสเซีย จะมีโมเดลที่มุ่งให้อำนาจผู้นำอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้จะมีข้อดีในแง่ของความคล่องตัวในการตัดสินใจที่รวดเร็ว เด็ดขาด แต่ก็สุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจที่ไร้ขอบเขตที่อาจส่งผลเสียหายได้ดังเช่นกรณีของตุรกีที่ผู้นำมีความโน้มเอียงที่จะแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติอยู่บ่อยครั้ง ฉะนั้นแล้วการเมืองในลักษณะดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงในแง่ของปัจจัยจากตัวผู้นำล้วนๆด้วย

ฉะนั้นแล้วการลงทุนในประเทศเกิดใหม่จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาในแง่ของความเสี่ยงทางการเมืองที่จะเข้ามากระทบด้วย ประเทศที่มีโครงสร้างการค้าการลงทุนที่กระจายตัวไปในหลายคู่ค้าย่อมมีความเสี่ยงจากการที่คู่ค้ารายใดรายหนึ่งเปลี่ยนนโยบายแบบกะทันหันต่ำ นอกจากนั้นแล้วควรพิจารณาอันดับด้านความโปร่งใสและความเสี่ยงทางการเมืองควบคู่กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจว่า ประเทศนั้นๆพึ่งพาเงินทุนต่างประเทศมากแค่ไหน และระยะยาวยังมีโอกาสการเติบโตเพียงใด เพื่อชั่งน้ำหนักเทียบศักยภาพทางเศรษฐกิจเทียบกับความเสี่ยงด้านการเมือง ทั้งนี้หากเทียบกันแบบรายภูมิภาคแล้ว การเมืองโดยรวมในประเทศเกิดใหม่แถบเอเชียยังมีพัฒนาการในแง่ของโครงสร้างทางสถาบัน กฎหมาย และนโยบายที่เป็นมิตรกับนักลงทุนมากกว่าภูมิภาคอื่นๆไม่ว่าจะเป็นแอฟริกา ละตินอเมริกา หรือยุโรปตะวันออก อีกทั้งศักยภาพทางเศรษฐกิจยังมีอีกมาก การลงทุนนอกเอเชียจึงควรลงทุนในสัดส่วนที่ไม่มากและเน้นลักษณะเก็งกำไรระยะสั้นไม่เกิน 1 ปีและเป็นช่วงที่เงินดอลลาร์อยู่ในช่วงอ่อนค่า แต่ต้องยอมรับความผันผวนด้านค่าเงินที่สูงกว่า และเสี่ยงที่จะไม่ได้เงินต้นคืนด้วย แม้ว่าจะให้อัตราผลตอบแทนที่จูงใจกว่าก็ตาม


[1] นับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2016 ค่าเงิน Lira ตุรกีอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากราคาเปิดตลาดที่ 2.8764 Lira ต่อดอลลาร์ ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2018 ซื้อขายในระดับ 4.73 Lira ต่อดอลลาร์ โดยจุดต่ำสุดอยู่ที่ 4.9221 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2018 คิดเป็นการอ่อนค่าลงกว่า 70% ในเวลา 2 ปี, ที่มา: Reuters